top of page

เจ้าผู้ปกครอง (The Prince)


เจ้าผู้ปกครอง

แปลจากฉบับภาษาอังกฤษที่ผ่านการแปลจากต้นฉบับภาษาอิตาลี The Prince (1972, 1981, 1993) เขียนโดย Niccolò di Bernardo dei Machiavelli แปลโดย ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งที่เจ็ด 2552 (พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง 2538) จำนวน 368 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740475408

"เราเป็นหนี้มาคิอาเวลลีและคนอื่นๆ เป็นอย่างมากที่เขียนถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาควรจะกระทำ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะประสานความชาญฉลาดของอสรพิษเข้ากับความไร้เดียงสาของนกพิราบ เว้นแต่มนุษย์จะรู้ถึงลักษณะทั้งปวงของอสรพิษอย่างถ่องแท้ คนที่สัตย์ซื่อนั้นไม่อาจทำสิ่งที่ดีต่อคนชั่วร้ายได้เลยหากปราศจากความรู้เรื่องความชั่ว" - ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon: 1561-1626)

"โดยการเสแสร้งทำว่าให้บทเรียนแก่กษัตริย์ เขา (มาคิอาเวลลี) ได้ให้บทเรียนที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชน เจ้าผู้ปกครองคือตำราของผู้นิยมมหาชนรัฐ" - จัง จ๊าค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau: 1712-1778)

"มีคำถามว่าโดยระยะเวลาที่ห่างกันถึงสี่ศตวรรษจะยังมมีอะไรอีกหรือที่มีชีวิตชีวาใน 'เจ้าผู้ปกครอง' คำสอนของมาคิอาเวลลีจะยังมีประโยชน์ต่อผู้นำของรัฐสมัยปัจจุบันบ้างหรือไม่? คุณค่าของระบบการเมืองใน 'เจ้าผู้ปกครอง' จำกัดอยู่เฉพาะยุคสมัยที่หนังสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้น หรือว่ามันเป็นเรื่องสากลและร่วมสมัย? ข้าพเจ้ายืนยันว่าทุกวันนี้หลักการของคิอาเวลลี มีชีวิตชีวายิ่งกว่า เมื่อสี่ศตวรรษที่เเล้วมาเสียอีก เพราะเเม้ว่าส่วนนอกกายของชีวิตของเราจะได้ มีการเปลี่ยนเเปลงไปอย่างมาก เเเต่มันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนเเปลงที่ลึกซึ้งอย่างไร ในส่วนที่เป็นจิตใจของปัจเจกชนและประชาชน" - เบนิโต มุสโสลินี (Benito Amilcare Andrea Mussolini: 1883-1945)

ถ้อยแถลงเมื่อพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่า The Prince เป็นงานเขียนทางการเมืองที่ผู้รู้ทางรัฐศาสตร์ไทยทั้งหลายพูดถึงมากที่สุดเล่มหนึ่ง ถ้าไม่ใช่เพียงเล่มเดียว แต่ความอับจนของการศึกษาปรัชญาการเมืองในมหาวิทยาลัยทำให้ The Prince เป็นเพียงสิ่งที่มีการพูดถึงอย่างผ่านๆ มากกว่าที่จะมีการศึกษากันอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้ว่า The Prince ในฉบับภาษาไทยเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นฉบับที่นักศึกษาเป็นผู้ริเริ่มแปลขึ้น โดยที่ผมเองมีโอกาสได้เป็นผู้ตรวจต้นฉบับการแปลโดยเทียบเคียงกับฉบับแปลของ Mark Louis Musa (1934-2014) เมื่อราวๆ ปลายปี 1972 และโดยเหตที่ The Prince ภาคภาษาไทยเล่มดังกล่าวยังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก ดังนั้นเมื่อ ดร.แฮรี่ จัฟฟา (Harry Victor Jaffa: 1918-2015) ได้แนะนำให้ผมได้รู้จักกับ The Prince ฉบับที่แปลโดย ดร.ลีโอ พอล เดอ อัลวาเรซ (Leo Paul S. de Alvarez) ในปี 1981 โดยได้บอกกับผมว่าต้นฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษนี้แปลได้ตรงตัวกับภาษาอิตาลีมากที่สุด ผมจึงตัดสินใจว่าควรที่จะแปลต้นฉบับนี้ออกเป็นภาษาไทย

แต่ความก้าวหน้าในการแปลของผมก็ล่าช้าตามปกติวิสัยของสภาพการทำงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลซึ่งไม่มีมหาวิทยาลัยใดให้ความสนับสนุนด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไร้คุณค่า จนเมื่อปี 1986 เมื่อผมได้มีโอกาสพบกับ ดร.เดอ อัลวาเรซ ด้วยตนเอง จึงได้หันมาจับงานแปลนี้อย่างค่อนข้างจะจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ในระยะเวลาเดียวกันนี้เอง เมื่อผมได้มีโอกาสอ่าน The Prince ฉบับที่แปลโดย ดร.ฮาร์วีย์ แมนสฟิลด์ จูเนียร์ (Harvey Claflin Mansfield, Jr.: 1932-) ปรมาจารย์อีกคนหนึ่งในเรื่องของมาคิอาเวลลีก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในตนเองมากขึ้นว่าได้เลือกต้นฉบับที่ถูกต้องแล้วสำหรับแปลออกมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นคนไทยที่มีความตั้งใจพอได้มีโอกาสเห็นความคิดริเริ่มและความละเอียดอ่อนอันร้ายกาจของมาคิอาเวลลี

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 1993 ขณะที่กำลังเตรียมต้นฉบับส่งโรงพิมพ์อยู่นั้น ดร.แฮรี่ จัฟฟา ได้แนะนำให้ผมได้รู้จักกับต้นฉบับแปล The Prince ที่แปลตามตัวอักษรอีกฉบับหนึ่งของ ดร.อัลเจโล โกเดวิลลา (Angelo M. Codevilla: 1943-) ซึ่งผู้แปล The Prince ตามตัวอักษรฉบับล่าสุดคนนี้ก็ได้กรุณาส่งต้นฉบับคำนำและบทแปลที่ยังมิได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการมาให้ผมใช้ประกอบการแปลฉบับภาษาไทยด้วยตนเอง ดังนั้นในส่วนที่เป็นคำนำของ The Prince ฉบับภาษาไทยจึงมีส่วนเพิ่มเติมที่เป็นความเห็นของโกเดวิลลาควบคู่กับของอัลวาเรซให้ผู้อ่านได้พิจารณาประกอบกันด้วย

การที่งานแปล The Prince ในภาคภาษาไทยฉบับปัจจุบันใช้เวลากว่าสิบปี นับตั้งแต่การก่อเกิดของความคิดมาจนถึงการเขียนถ้อยแถลงบรรทัดนี้ต้องถือว่าเป็นความล่าช้าของผู้แปลอย่างผมเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบ ในกรณีที่อาจทำให้ผู้รู้คนอื่นซึ่งคิดจะแปล The Prince บางคนต้องเสียโอกาสในการทำงานไปด้วยเกรงว่าจะผลิตงานออกมาซ้ำซ้อนกัน แต่ในขณะที่ผมแต่เพียงผู้เดียวควรจะต้องรับผิดชอบสำหรับข้อผิดพลาดดังกล่าวและสำหรับข้อบกพร่องอื่นๆ ในการแปล

อนึ่ง ภาคผนวกเรื่อง Mandragola: ความนำว่าด้วยปรัชญาการเมืองของมาคิอาเวลลี ที่ผมนำมารวมกับงานแปล The Prince นั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า Mandragola นี้ ถ้าอ่านอย่างเผินๆ แล้วก็จะเห็นเป็นเรื่องของชีวิตส่วนตัว มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองอย่างใน The Prince แต่แท้จริงแล้วอาจพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องทางการเมืองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิธีการหรือข้อสมมุติฐานหลัก ในแง่นี้การเมืองจึงเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกหนีได้เพียงเพราะตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้แล้ว ความสำคัญของ Mandragola ก็ยังไม่สู้จะเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักศึกษารัฐศาสตร์ของไทยนัก ทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวกับมาคิอาเวลลี เช่น แอลเลน กิลเบิร์ต (Allan Gilbert) ถึงกับกล่าวว่า "Not to know Mandragola is not to know The Price" การนำเอาเรื่องของ Mandragola มาใส่คู่ไว้กับ The Prince จึงน่าจะสอดคล้องกันดีอยู่

ความนำ

นิโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolò di Bernardo dei Machiavelli) เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1469 ที่เมืองฟลอเร็นซ์ (Florence) อันเป็นปีที่โลเร็นโซ เดอ เมดีซี (Lorenzo de' Medici หรือ Lorenzo il Magnifico: 1449-1492) ขึ้นมีอำนาจ บิดาของเขาคือเบอร์นาโด มาคิอาเวลลี (Bernardo di Niccolò Machiavelli: 1426,1429-1500) แม้ว่าจะสืบเชื้อสายมาจากชนชั้นสูงแห่งทัสคานี (Tuscany) ก็เป็นเพียงทนายความผู้ยากจนและใช้ชีวิตอย่างสมถะ ส่วนมารดาของเขาคือ บาร์โรโลเนีย เพลลี (Bartolomea di Stefano Nelli: 1441-1496) นั้นว่ากันว่าเป็นกวีทางศาสนา เราไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับชีวิตในปฐมวัยของมาคิอาเวลลี นอกจากว่านิโคโลได้รับการศึกษาที่มีลักษณะพิเศษแฝงอยู่บ้าง ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1481 ตรงที่เป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ภาษาลาตินในโรงเรียนของเปาโล ดา รอนซีกลีโอเน (Paolo da Ronciglione) ครูลาตินผู้มีชื่อเสียง และต่อมาราวปลายทศวรรษที่ 1480 ก็มีโอกาสเข้าฟังคำบรรยายของมาร์เชลโล อาดรีอานี (Marcello Virgilio Adriani: 1464-1521) ที่มหาวิทยาลัยแห่งฟลอเร็นซ์ (University of Florence หรือ Università degli Studi di Firenze) แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้เรียนภาษากรีก จริงๆ แล้วอาจกล่าวได้ว่าเราแทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของมาคิอาเวลลีในตอนต้นๆ ซึ่งรวมทั้งปฏิกิริยาที่เขามีต่อเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในฟลอเร็นซ์ในตอนต้นทศวรรษแห่ง 1490 ด้วย แต่ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1498 ซึ่งเขาเริ่มรับราชการเป็นเลขานุการฝ่ายการทูตแห่งมหาชนรัฐฟลอเร็นซ์เมื่อเขามีอายุได้ 29 ปี จนกระทั่งวาระที่เขาถึงแก่กรรมนั้นเป็นเรื่องที่เรารู้กันดี

ในจดหมายที่เขามีไปถึงมิตรผู้หนึ่งเมื่อตอนต้นปี 1498 นั้น มาคิอาเวลลีได้เปิดเผยให้เห็นว่าเขาไม่รู้สึกประทับใจอะไรเลย และที่จริงแล้วก็ออกจะรังเกียจกับความกระตือรือร้นในทางศาสนาของจีโรลาโม ซาโวนาโรลา (Girolamo Savonarola: 1452-1498) นักบวชนักปฏิรูปแห่งนิกายโดมินิกัน (Dominican Order) ซึ่งได้ครอบงำการเมืองของฟลอเร็นซ์อยู่ 4 ปี ระหว่าง 1494-1498 ในช่วงเดียวกันนี้เอง มาคิอาเวลลีได้รับการเสนอชื่อให้รับตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ไม่ได้รับเลืือก อย่างไรก็ดีหนึ่งเดือนหลังจากที่ซาโวนาโรลาถูกกลุ่มนิยมมหาชนรัฐโค่นลงจากอำนาจและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้วเผาในวันที่ 23 พฤษภาคม 1498 มาคิอาเวลลีก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ของเลขานุการฝ่ายการทูต ขณะนั้นมาคิอาเวลลีอายุได้ 29 ปี และอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลาถึง 14 ปี คือจนกระทั่งระบอบการปกครองแบบมหาชนรัฐสลายไปในปี 1512 เมื่อตระกูลเมดิชี (House of Medici) กลับมามีอำนาจอย่างเดิมในฟลอเร็นซ์อีก ด้วยความสนับสนุนของสันนิบาตอันศักดิ์สิทธิ์อันมีสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 (Pope Julius II: 1443-1513) กับชาวเวนิส และกษัตริย์เฟอร์ดินานด์แห่งสเปน (Ferdinand II of Aragon: 1452-1516) ร่วมกันขจัดอิทธิพลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส (Louis XII of France: 1462-1515) ออกจากอิตาลี และหลังจากนั้นศาสนจักรก็ได้สันตะปาปาจากตระกูลเมดิชี 2 พระองค์คือ ลีโอที่ 10 (Pope Leo X, Giovanni di Lorenzo de' Medici: 1475-1521) และคลีเมนต์ที่ 7 (Pope Clement VII,: 1478-1534)

อิตาลีในสมัยของมาคิอาเวลลีเป็นสมัยที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในคาบสมุทรอิตาลีระหว่างนครรัฐเล็กๆ อย่างฟลอเร็นซ์ (Florence) มิลาน (Milan) เวนิส (Venice) เนเปิลส์ (Naples) และรัฐศาสนจักร (ส่วนดินแดนอื่นที่เหลือนั้นก็จะขึ้นสังกัดอยู่กับอำนาจใดอำนาจหนึ่งใน 5 อำนาจนี้) ตลอดจนการแทรกแซงของมหาอำนาจภายนอกคือฝรั่งเศส สเปน และจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็นไปอย่างเผ็ดร้อนนับตั้งแต่ปี 1494 เรื่อยมา เพราะย้อนหลังจากนั้นไปจนถึงปี 1250 คาบสมุทรนี้เคยอยู่กันมาอย่างสงบ และจากสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับมาคิอาเวลลีนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าชีวิตของเขาผูกพันและถูกกระทบกระเทือนโดยการเมืองและเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองตลอดเวลา ในปีแรกที่เข้าทำงาน มาคิอาเวลลีเขียนรายงานสั้นๆ ชื่อ Report on the Pisan War ซึ่งรวมเอาความเห็นของคนอื่นๆ เข้าไว้ด้วย แต่กระนั้นก็ดี งานเขียนชิ้นนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจที่มาคิอาเวลลีมีต่อทหารรับจ้างมาตั้งแต่เริ่มแล้ว (สงครามที่ฟลอเร็นซ์ทำกับปีซาครั้งนี้กินเวลายาวนานเกือบสิบปีทีเดียว) โดยหน้าที่แล้ว มาคิอาเวลลีต้องไปสังเกตการณ์ทางการทูตอยู่ย่อยๆ เขาจึงได้เดินทางทั้งภายในและภายนอกอิตาลีอย่างกว้างขวาง ที่จริงแล้วเขาได้ไปยังเมืองสำคัญๆ ทุกเมืองในอิตาลีและราชสำนักอิตาลีหลายแห่ง เขามีโอกาสได้พบกับบุคคลสำคัญๆ ทางการเมืองในขณะนั้นหลายคน มาคิอาเวลลีได้เรียนรู้ด้วยความละอายใจและอย่างขมขื่นเป็นอย่างมากเมื่อเขาได้ร่วมเดินทางไปกับฟรันเชสโก เดลลา คาซา (Francesco Della Casa) ผู้ป่วยออดๆ แอดๆ เป็นทูตไปพบกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส (Louis XII of France: 1462-1515) บ่อยถึง 4 ครั้ง (ในปี 1500 1504 1510 และ 1511) เพราะในบรรดาแว่นแคว้นต่างๆ ของอิตาลีที่วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสนั้น ปัจจัยประกอบที่สำคัญที่สุดคือเงินและอาวุธซึ่งฟลอเร็นซ์แทบจะไม่มีเลยทั้งสองอย่าง

[con·tin·ue]

นิโคโล มาคิอาเวลลี เรียนคำนับมายัง ฯพณฯ ท่านโลเร็นโซ เมดิชี ผู้ประเสร็จ

บทที่ 1 รัฐโดยเจ้าผู้ปกครองมีอยู่กี่ชนิดและได้มาโดยแบบวิธีการใด

บทที่ 2 ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองที่มีการสืบตระกูลกันต่อมา

บทที่ 3 ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองซึ่งเป็นรัฐผสม

บทที่ 4 ทำไมราชอาณาจักรของดาริอุสซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยึดครองจึงไม่ได้กบฏต่อต้านบรรดาผู้สืบตำแหน่งของพระองค์ หลังจากการตายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

บทที่ 5 นครหรือรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองซึ่งก่อนจะถูกยึดเคยดำรงอยู่โดยกฎหมายของตนเองนั้นจะต้องบริหารตามแบบวิธีการใด

บทที่ 6 ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองรัฐใหม่ที่ได้มาโดยกำลังของตนเองและโดยคุณธรรม

บทที่ 7 ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองรัฐใหม่ซึ่งได้มาโดยกำลังของผู้อื่นและโดยโชคชะตา

บทที่ 8 ว่าด้วยบรรดาผู้ซึ่งได้ขึ้นเป็นเจ้าผู้ปกครองโดยอาชญากรรม

บทที่ 9 ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองที่มหาชนสนับสนุน

บทที่ 10 พลังของรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองทั้งปวงนั้นควรจะหยั่งวัดโดยแบบวิธีการใด

บทที่ 11 ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองทางศาสนา

บทที่ 12 มีการทหารอยู่กี่ชนิด และว่าด้วยบรรดาทหารรับจ้าง

บทที่ 13 ว่าด้วยกองกำลังทหารเสริม กองกำลังผสม และกองกำลังของตนเอง

บทที่ 14 สิ่งที่เจ้าผู้ปกครองควรทำเกี่ยวกับการทหาร

บทที่ 15 ว่าด้วยสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าผู้ปกครองที่ได้รับการยกย่องหรือถูกตำหนิ

บทที่ 16 ว่าด้วยความโอบอ้อมอารีและความตระหนี่ถี่เหนียว

บทที่ 17 ว่าด้วยความทารุณโหดร้ายและความสงสาร และการเป็นที่รักนั้นดียิ่งกว่าการเป็นที่หวาดกลัว หรือกลับตรงกันข้าม

บทที่ 18 ในแบบวิธีการใดที่เจ้าผู้ปกครองควรจะรักษาข้อตกลง

บทที่ 19 ว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเป็นที่เหยียดหยามและเกลียดชัง

บทที่ 20 ป้อมปราการและสิ่งอื่นๆ อีกมากที่เจ้าผู้ปกครองสร้างและทำนั้นมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์

บทที่ 21 สิ่งที่เจ้าผู้ปกครองควรทำเพื่อจะได้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ

บทที่ 22 ว่าด้วยบรรดาผู้ที่เจ้าผู้ปกครองมีอยู่ในฐานะผู้ช่วย

บทที่ 23 จะต้องหลีกเลี่ยงบรรดาคนประจบสอพลอตามแบบวิธีการใด

บทที่ 24 ทำไมบรรดาเจ้าผู้ปกครองของอิตาลีจึงสูญเสียราชอาณาจักรของพวกเขาไป

บทที่ 25 เทพีแห่งโชคชะตาสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหนในกิจการของมนุษย์และจะขัดขวางนางด้วยแบบวิธีการอะไร

บทที่ 26 คำแนะนำให้ยื้อยุดอิตาลีและกอบกู้เสรีภาพของอิตาลีจากพวกป่าเถื่อน

ภาคผนวกเรื่อง Mandragola: ความนำว่าด้วยปรัชญาการเมืองของมาคิอาเวลลี

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page