top of page

บันทึกการอ่าน: จะเป็นอย่างไรถ้าไร้รัฐชาติ?


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

จะเป็นอย่างไรถ้าไร้รัฐชาติ?

เขียนโดยโตมร ศุขปรีชา (Tomorn Sookprecha)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/what-if-no-nation-state/18939

คุณรักชาติมากแค่ไหน? ถ้ามีคนมาบอกว่าพอเถอะ ไม่ต้องมีชาติมีประเทศกันแล้ว เพราะการมีชาติมีประเทศคือสิ่งที่ก่อปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา คุณจะรู้สึกอย่างไร? หลายคนอาจคิดว่าการศึกษาเรื่องชาติ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือรัฐชาติแบบสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Nation State หรือ Modern State นั้น เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงของสังคมศาสตร์ด้านรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ถ้าบอกว่าเรื่องของรัฐชาติเป็นคำถามในทางวิทยาศาสตร์ด้วย หลายคนในหลายคนข้างต้นอาจบอกว่าบ้า! แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่าความซับซ้อนของระบบโลกและรัฐชาติสมัยใหม่นั้นทำให้เราไม่สามารถศึกษารัฐชาติได้จากมุมทางสังคมอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องการมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ต้องการแบบจำลองคณิตศาสตร์ ต้องการการประเมินข้อมูลทางประวัติศาสตร์แบบ Big Data และต้องการเทคนิคการศึกษาใหม่ๆ มาศึกษารัฐชาติด้วย หลายคนอาจคิดว่ารัฐชาติอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่มีมาเนิ่นนานบรรพกาลแล้ว บรรพบุรุษของแต่ละชาติได้ต่อสู้เพื่อธำรงรักษาอธิปไตยของตัวเองเอาไว้มาเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ต้องบอกว่านั่นเป็นความคิดที่ผิด!

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 ไม่มีรัฐชาติจริงๆ อยู่ในโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย หรือที่ไหนๆ ก็ตาม อันนี้ไม่ได้พูดเองเออเอง แต่ John Breuilly (1946-) แห่งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) เขาบอกไว้อย่างนั้น ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 เวลาเดินทางไปไหนในยุโรปหรือในโลก ไม่มีใครขอตรวจพาสปอร์ตตรงพรมแดนของประเทศ คนแต่ละกลุ่มอาจมีอัตลักษณ์ทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ใช่อัตลักษณ์ทางการเมืองหรือทางรัฐศาสตร์อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มันมีตัวเลขอยู่ค่าหนึ่ง เรียกว่าตัวเลขของดันบาร์ (Dunbar Number) คือสิ่งที่โรบิน ดันบาร์ (Robin Ian MacDonald Dunbar: 1947-) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) คิดขึ้นมา ดันบาร์บอกว่าคนหนึ่งคนจะมีความสามารถในการรักษาสายสัมพันธ์ทางสังคมหรือมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ไม่เกิน 150 คนเท่านั้น โดยเขาศึกษาจากหมู่บ้านและการจัดกองทัพตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รวมถึงดูจากเพื่อนทางเฟซบุ๊กที่มีปฏิสัมพันธ์จริงด้วย แต่ปีเตอร์ เทอร์ชิน (Peter Valentinovich Turchin: 1957-) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ บอกว่าถ้าศึกษาความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของบรรดาจักรวรรดิต่างๆ แล้ว เราจะพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า 150 คน ก็คือสิ่งที่เรียกว่าสงคราม

เทอร์ชินพบว่าจักรวรรดิที่เติบใหญ่ที่สุดล้วนเป็นจักรวรรดิที่ต้องเผชิญกับการต่อสู้อันโหดร้ายที่สุด ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเมื่อคนมากขึ้นก็ต้องแย่งชิงที่อยู่ แย่งชิงทรัพยากรระหว่างเผ่ากันมากขึ้นจึงเกิดการสู้รบ และการสู้รบนี้เองที่ทำให้คนต้องรวมกลุ่มกันยิ่งมากก็ยิ่งดี แล้วอย่างนี้จะไม่ขัดกับตัวเลขดันบาร์หรอกหรือ? สิ่งที่จะเข้ามาเป็นกลไกทำให้ไม่ขัดกับตัวเลขดันบาร์ก็คือการจัดลำดับชั้นทางสังคม (ขอเรียกว่าไฮราคี่-Hierarchy) สมมติถ้าดูวิธีจัดการแบบกองทัพจะเห็นชัด คือคนไม่เกิน 150 คน ไปขึ้นอยู่กับหัวหน้าคนหนึ่ง แล้วหัวหน้าคนนั้นก็ไปรวมกับหัวหน้าอีกไม่เกิน 150 คน เพื่อไปขึ้นกับอภิหัวหน้าอีกคนหนึ่ง ถัดจากนั้นอภิหัวหน้าไม่เกิน 150 คน ก็รวมกันไปขึ้นอยู่กับอภิมหาหัวหน้าอีกคนหนึ่ง เป็นดังนี้เรื่อยไปจนถึงคนที่อยู่ในระดับสูงสุด

สังคมไฮราคี่จึงเป็นสังคมแนวดิ่ง ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Collectivism หรือการอยู่รวมหมู่อย่างมีระเบียบแบบแผน ก่อให้เกิด Collective Behaviour หรือพฤติกรรมรวมหมู่’ กับ Collective Actions หรือการกระทำที่เกิดจากแนวคิดรวมหมู่หลายต่อหลายอย่างซึ่งสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของสังคมนั้นๆ เขาบอกว่าสังคมที่มีไฮราคี่สูงกว่าจะเป็นสังคมที่ชนะสงครามได้มากกว่า แถมยังจัดสรรทรัพยากรได้ดีกว่าด้วย เช่นในเรื่องชลประทาน การเก็บรักษาอาหาร หรือการบันทึกสถิติต่างๆ ซึ่งเมื่อมีไฮราคี่มากขึ้นเรื่อยๆ จากชุมชนก็จะเกิดเป็นเมือง เป็นอาณาจักร และเป็นจักรวรรดิ

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ต่อให้เป็นจักรวรรดิที่มีการจัดการประชากรและทรัพยากรต่างๆ อย่างดี เช่น จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) หรือจักรวรรดิยุคใหม่หน่อยอย่างออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary, Austro-Hungarian Empire) เหล่านี้ก็ยังไม่ใช่รัฐชาติแบบสมัยใหม่อย่างที่เรารู้จัก ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? คำตอบก็คือในยุคนั้น คนนิยามตัวเองในแบบแนวดิ่ง คือบอกว่าตัวเองเป็นคนของใคร ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะมาบอกว่าเป็นคนของพระเจ้าหลุยส์ แต่หมายถึงเป็นคนของขุนนางคนไหน ความสัมพันธ์ในสังคมก็เป็นแนวดิ่งด้วย คือชาวนาจากถิ่นหนึ่งจะไม่ไปติดต่อกับชาวนาจากอีกถิ่นหนึ่ง แต่ต้องผ่านคนที่อยู่เหนือหัวตัวเองขึ้นไป คนเหล่านั้นจึงไม่ได้มีอัตลักษณ์ของการรวมหมู่ในแบบชาติ แต่นิยามตัวเองผ่านโครงสร้างแบบโบราณ ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม คน 9 ใน 10 คนล้วนเป็นชาวไร่ชาวนา คนเหล่านี้ถ้าไม่ออกไปทำไร่ไถนาก็ต้องอดตาย ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก สังคมที่เป็นแบบนี้ปกครองง่าย ไม่ต้องการระบบที่ซับซ้อนมากนัก เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIV of France) นั้น อาจมีกองทัพ 5 แสนนายเพื่อเอาไว้ต่อสู้กับศัตรู แต่กับการดูแลภายในเองนั้นใช้คนแค่ราว 2 พันคนเท่านั้น เพราะสังคมสมัยก่อนไม่ซับซ้อนหรือมี Colplexity มาก

แล้วรัฐชาติสมัยใหม่เกิดขึ้นตอนไหน? ต้องบอกว่าสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเสมอ นักวิชาการหลายคนอธิบายว่ารัฐชาติสมัยใหม่เกี่ยวพันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 อย่างแนบแน่น ทั้งนี้ก็เพราะสังคมหนึ่งๆ จะสามารถซับซ้อนได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นๆ สามารถสร้างพลังงานให้ตัวเองใช้ได้มากแค่ไหน การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้คนผลิตพลังงานได้มากขึ้น เกิดกิจกรรมใหม่ๆ ในสังคมที่ทำให้ Collective Behaviours นั้นซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสังคมแบบเก่าไม่สามารถทานรับไว้ไหวจึงพังทลายลง เขาบอกว่าการปฏิวัติทั้งในสหรัฐอเมริกาและในฝรั่งเศสทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ารัฐชาติขึ้นเป็นครั้งแรก คำถามคือแล้วอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่านี่คือรัฐชาติที่ว่า

คำตอบของ Breuilly คืออัตลักษณ์ของชาติหรือ National Identity ฟังดูกำปั้นทุบดินไม่น้อย แต่ Breuilly ยกตัวอย่างว่าในปี 1800 หลังเกิดปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution: 1789-1799) ใหม่ๆ นั้น แทบไม่มีใครในฝรั่งเศสพูดภาษาฝรั่งเศสเลย แต่พอถึงปี 1900 ทุกคนพูดภาษาฝรั่งเศสกันหมด ในอิตาลีก็เช่นเดียวกัน ตอนรวมชาติมีคนแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พูดภาษาอิตาเลียน ผู้นำที่เจรจารวมชาติกันพูดภาษาฝรั่งเศสด้วยซ้ำ จนเกิดคำพูดสำคัญขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า "Having created Italy, they now had to create Italians" ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าต้องมีการสร้างอัตลักษณ์ร่วมให้กับคนในชาติโดยผ่านทั้งภาษา วัฒนธรรม และการขีดเส้นพรมแดนที่ชัดเจน

การสร้างอัตลักษณ์ร่วมจนเกิดเป็นรัฐสมัยใหม่เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนบอกกันว่า "เธอๆ เรามาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่กันเถอะ" แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ประวัติศาสตร์ มันเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีบีบให้เป็นอย่างนั้น การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ต้องใช้เหล็กและถ่านหินซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่ได้มีกระจายอยู่ทั่วไป ดังนั้นถ้าเป็นนครรัฐ (City State) ขนาดเล็กก็จะอยู่เองไม่ได้ ต้องรวมตัวกับชาติใหญ่อื่นๆ เพราะตัวเองไม่มีทรัพยากรมากพอ หรือถ้าเป็นจักรวรรดิยักษ์ๆ เช่น ออสเตรีย-ฮังการี กับราชวงศ์ฮับสเบิร์ก (Habsburg) ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะระบบการกระจายทรัพยากรและการบริหารเป็นแบบแนวดิ่งที่มีความซับซ้อน (Complexity) ไม่มากพอจะรองรับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยี

การสร้างชาติจึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้น โดยมีวิธีสำคัญคือการสร้างจินตนากรรมร่วมกันจนกลายเป็น Imagined Communities อย่างที่เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Richard O'Gorman Anderson: 1936-2015) เคยบอกไว้ นั่นคือคนเราจะมีจินตนาการร่วมกันไปว่าเราตายเพื่อชาติหรือเพื่อคนที่คิดเห็นและพูดภาษาเดียวกับเรา ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักคนเหล่านั้นเกิน 150 คนตามตัวเลขของดันบาร์ แต่เราตายเพื่อคนในจินตนาการของเราได้

เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยนแนวราบมากขึ้น ชาวนาในแคว้นหนึ่งสามารถสนใจสิ่งที่เกิดกับชาวนาในแถบอื่นได้เพราะการอ่านหนังสือพิมพ์ การสร้างโยงใยแบบนี้เพื่อให้เกิดชาติที่ใหญ่ขึ้น จึงต้องสร้างการศึกษาแบบมวลรวม (Mass Education) เพื่อสร้างให้คนคิดเหมือนกันหรือมีจินตนาการร่วมแบบเดียวกันผ่านการศึกษา รวมทั้งต้องสร้างระบบบริหารรัฐขนาดใหญ่เพื่อดูว่าใครใช่หรือไม่ใช่คนของรัฐนั้นๆ บ้าง ระบบต่างๆ จึงถือกำเนิดขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกัน กลไกการสร้างอัตลักษณ์ของชาติก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังมีคนที่เป็นสมาชิกของรัฐชาติหนึ่งๆ แต่ไม่ได้สอดคล้องกลมกลืนกับอัตลักษณ์ที่ชาตินั้นๆ ต้องการจะเป็นทั้งหมด ผลก็คือโมเดลของรัฐชาติมักจะล้มเหลวอยู่บ่อยๆ มีตัวเลขบอกว่าหลังปี 1960 เป็นต้นมา เกิดสิ่งที่เรียกว่าสงครามกลางเมืองทั้งเล็กและใหญ่ในโลกซ้ำๆ กันมากถึงกว่า 180 ครั้ง นั่นแปลว่ารัฐชาติหรือความพยายามรวมกันเป็นชาติ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด ไม่ได้เก่าแก่บรรพกาลอะไร) ในบางพื้นที่ของโลก ไม่ใช่กลไกแก้ปัญหา แต่อาจเป็นกลไกที่สร้างปัญหาก็ได้

นั่นคือระดับเล็ก แต่ถ้ามองระดับใหญ่คือระดับโลก เราจะเห็นว่าพอโลกเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ๆ ร่วมกัน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความต้องการพลังงานใหม่ๆ หรือการอพยพไปอยู่ดาวอื่นซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต การปกครองที่มีลักษณะแบบรัฐสมัยใหม่ซึ่งจะมากน้อยยังคงสืบทอดสภาวะไฮราคี่อยู่ในตัว ทำให้การแก้ปัญหาใหญ่ร่วมกันไม่ค่อยเป็นผล รัฐชาติมักเป็นอุปสรรคต่อปัญหาระดับโลกทั้งหลาย มีคนวิจารณ์ว่าการร่วมมือกันแบบสหประชาชาติหรือสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะไฮราคี่แช่แข็ง (Paralysed Heirarchy) ทำให้การตัดสินใจไปตกอยู่ในมือของคนไม่กี่คน หรือในบางกรณีก็คนเดียวด้วยซ้ำ แต่เมื่อระบบโลกมันซับซ้อนขนาดนี้ คนไม่กี่คนจะตัดสินใจถูกต้องได้อย่างไร

ระบบที่เป็นไฮราคี่นั้น ที่สุดแล้วมักพัฒนาไปเป็นระบบที่หัวหนัก (Top-Heavy) มีราคาแพงและก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง นั่นทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในสังคมโลก และทั้งหมดนี้ยังไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตกระทั่งถึงปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ซึ่งจะทลายภูมิทัศน์โลกให้ราบลงมากขึ้นอีก นักวิชาการหลายคนมองว่าที่สุดแล้ว รัฐชาติที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีจะทานทนอยู่ไม่ได้แบบเดียวกับที่จักรวรรดิเคยทานทนอยู่ไม่ได้เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ทั้งนี้ก็เพราะเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้คนสามารถกระจายทรัพยากรได้ทั่วถึง ทั้งทรัพยากรจริงๆ ผ่านการขนส่ง กระทั่งถึงทรัพยากรทางความคิดและวัฒนธรรมผ่านการสื่อสาร ดังนั้นไฮราคี่ที่เคยสั่งสมและเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดรัฐชาติจึงเริ่มพังทลายลง หลายคนทำนายเอาไว้ว่าเมื่อรัฐชาติพังทลายลง โลกจะหมุนไปหายุคกลางใหม่ (Neo-Mediaval) ที่คนจะแตกตัวออกมาเป็นนครรัฐหรือชุมชนขนาดเล็กอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะมันไม่ได้มีไฮราคี่ที่แข็งแรงอย่างที่เคยเป็นอีกแล้ว แต่เมืองกับเมืองจะติดต่อระหว่างกัน เกิดเป็นยุคกลางใหม่ที่มีความสัมพันธ์แนวราบในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

จริงอยู่ อาจยังเร็วไปที่จะบอกว่าในอนาคตอันใกล้ โลกจะถึงขั้นไร้รัฐชาติไปเลย แต่จากแนวโน้มที่นักวิชาการระดับโลกหลายคนเห็น ละครองก์ที่ชื่อรัฐชาติกำลังจะถูกรูดม่านปิด ประวัติศาสตร์กำลังจะเปลี่ยน คำถามก็คือสังคมไทยที่แน่นแฟ้นแข็งแกร่งอยู่กับไฮราคี่ ได้เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้บ้างสักนิดหรือเปล่า?

bottom of page