top of page

บันทึกการอ่าน: ความจริงของเซอร์ซี แลนนิสเตอร์ และการฟื้นคืนชีพของแบร์โทลต์ เบร็คชต์


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

ความจริงของเซอร์ซี แลนนิสเตอร์ และการฟื้นคืนชีพของแบร์โทลต์ เบร็คชต์

เขียนโดยโตมร ศุขปรีชา (Tomorn Sookprecha)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/the-truth-of-cersei-lannister/3998

แบร์โทลต์ เบร็คชต์ (Eugen Berthold Friedrich 'Bertolt' Brecht: 1898-1956) นักการละครคนสำคัญของเยอรมนีเคยบอกไว้ในทำนองที่ว่าศิลปะไม่ใช่กระจกที่เอาไว้ส่องสะท้อนสังคมหรอก แต่มันคือค้อนที่มีเอาไว้ทุบตีสังคมให้เป็นไปอย่างที่มันอยากให้เป็นต่างหาก แน่นอน คำว่าศิลปะของเบร็คชต์ในที่นี้ย่อมเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจากละครซึ่งก็คือศิลปะการแสดงอย่างหนึ่ง มีอย่างน้อยสามฉากในศิลปะการแสดงของซีรีส์เรื่องฮิตอย่าง Game of Thrones ที่ทำให้คิดว่าเบร็คชต์ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ฉากแรกเกิดขึ้นในซีซันไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่เป็นฉากที่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ (Cersei Lannister) ซึ่งตอนนั้นอยู่ในฐานะราชินีสนทนาอยู่กับชายจอมวางแผนอย่างลิตเติ้ลฟิงเกอร์ (Littlefinger) หรือปีเตอร์ เบลิช (Petyr Baelish) ทั้งคู่คุยกันเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ โดยลิตเติ้ลฟิงเกอร์พยายามจะแบล็คเมลเซอร์ซีด้วยเรื่องส่วนตัวของเธอ ลิตเติ้ลฟิงเกอร์นั้นเป็นคนที่มีความรู้มาก โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเส้นสนกลในและการข่าวต่างๆ เขาจึงบอกกับเซอร์ซีด้วยประโยคเก่าแก่ที่ว่า "ความรู้คืออำนาจ"

บางคนคิดว่าประโยคนี้เป็นของฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon: 1561-1626) แต่บางคนก็คิดว่าเป็นประโยคเก่าแก่ในภาษาละติน (Latin) ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเรื่อง Leviathan (1651) ของโธมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes: 1588-1679) แต่จะอย่างไรก็ตาม มันคือคำพูดที่เหล่านักคิดนักวิชาการหรือผู้รู้ทั้งหลายชอบใช้กัน เพราะเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจของความรู้ แต่เมื่อพูดจบแล้ว ลิตเติ้ลฟิงเกอร์ก็ต้องตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อเซอร์ซีเอ่ยปากสั่งทหารด้วยท่าทีที่แสนจะสงบนิ่งว่าให้จับตัวลิตเติ้ลฟิงเกอร์ไว้และเชือดคอเขาเสีย ลิตเติ้ลฟิงเกอร์ช็อก เขาพยายามดิ้นรนต่อสู้แต่ก็ไม่เป็นผล ทว่าที่สุดแล้ว เซอร์ซีก็สั่งทหารด้วยท่าทีสบายๆ อีกครั้งว่า “หยุดก่อน เดี๋ยวก่อน ฉันเปลี่ยนใจแล้ว ปล่อยเขาไป” เซอร์ซีสั่งให้ทหารก้าวถอยหลัง แล้วเธอก็หันมาบอกกับลิตเติ้ลฟิงเกอร์ด้วยใบหน้าที่เกือบจะยิ้มหยันว่า "อำนาจก็คืออำนาจ" ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูดนี้ก็คือไม่ใช่ความรู้หรอกที่คืออำนาจ แต่เป็นอำนาจต่างหากที่คืออำนาจ นี่เป็นฉากที่ทรงพลังอย่างยิ่ง!

หลายคนมองว่า Game of Thrones เป็นซีรีส์ประเภท Escapism หรือพาคนดูหนีออกไปจากโลกจริง แต่คำถามก็คือ Game of Thrones กำลังทำอย่างนั้นอยู่จริงหรือเปล่า? มันพาเราหนีออกไปจากโลกจริง หรือว่ากำลังถีบเรากลับเข้าไปในโลกที่แสนจะจริงแท้กันแน่! ฉากที่สองที่ทำให้นึกถึงแบร์โทลต์ เบร็คชต์ เป็นฉากที่กำลังตะโกนบอกเราจริงจังว่า Game of Thrones ไม่ได้พาเราหนีไปไหน แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่อยู่ตรงสุดขอบของความเป็นจริง ฉากที่ว่าคือเมื่ออาร์ยา สตาร์ค (Arya Stark) ลูกสาวของตระกูลสตาร์คผู้ครอบครองปราสาทวินเทอร์เฟล (Winterfell) ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากการถูกฆ่า เธอถูกแทงจนเลือดอาบ ต้องหนีไปพึ่งพิงนักแสดงละครเวทีผู้หญิงคนหนึ่ง มีการย้ำหลายครั้งหลายคราว่าเธอเป็นสุดยอดนักแสดง เวลาอยู่บนเวที เธอจะดึงความสนใจของผู้ชมได้อยู่หมัด ไม่ว่าด้วยสีหน้า แววตา หรือการแสดงอื่นๆ ผู้คนร้องไห้เมื่อเธอร้องไห้ เธอเล่นเป็นเซอร์ซี ใช่! เซอร์ซีผู้ทรงอำนาจและเชื่อว่าอำนาจก็คืออำนาจคนนั้นนั่นแหละ แต่เซอร์ซีนักแสดงไม่ใช่เซอร์ซีตัวจริง เซอร์ซีบนเวทีการแสดงคือเซอร์ซีที่ผู้คนรัก เซอร์ซีบนเวทีไม่ใช่ผู้หญิงเหี้ยมโหด แต่เธอคือแม่และเมียที่แสนซื่อสัตย์จงรักภักดี มีความเป็นผู้หญิงเต็มเปี่ยม เธอจึงเจ็บปวดนักหนาเมื่อลูกชายผู้ครองบัลลังก์เยี่ยงเผด็จการทรราชย์ต้องตายลง บทพูดของเธอไพเราะจับใจ เธอไม่ใช่ผู้กระทำ แต่เป็นผู้ถูกกระทำจากสถานการณ์ ทำให้เธอต้องลุกขึ้นมาแก้แค้นเพื่อลูกของเธอ ทั้งหมดนี้ไม่เหมือนเซอร์ซีตัวจริงเลยแม้แต่น้อย!

และที่ไม่เหมือนจริงในอีกระนาบหนึ่งก็คือเซอร์ซีตัวจริงยังไม่ตาย แต่นักแสดงที่เล่นเป็นเซอร์ซีผู้แสนดีเป็นที่รักของประชาชนคนนี้ต้องตายลงง่ายๆ เมื่อเธอถูกเด็กสาวที่ไล่ล่าอาร์ยา สตาร์ค สังหารอย่างเจ็บปวด ความตายมาถึงเธอไม่คาดคิด รวดเร็ว ฉับพลัน และเต็มไปด้วยเลือด แบบเดียวกับหลายความตายที่ปรากฏอยู่ใน Game of Thrones อย่างไรก็ตาม ก่อนตาย อาร์ยาได้คุยกับนักแสดงคนนี้ อาร์ยาพูดถึงเวสเทอรอส (Westeros) ซึ่งก็คือทวีปใหญ่ที่ทุกอาณาจักรอยู่รวมกัน เธอบอกว่าอีสเทอรอส (Easteros) คือโลกทางตะวันออก เวสเทอรอสคือโลกทางตะวันตก แต่ว่าแล้วอะไรอยู่ทางตะวันตกของโลกตะวันตกอย่างเวสเทอรอสกันเล่า ไม่มีใครรู้ นักแสดงคนนั้นตอบอาร์ยาว่าอย่างนั้น ไม่มีใครรู้ มันอาจจะสุดขอบโลกหรือเป็น End of the World แล้วก็ได้

นั่นกระชากคนดูออกจากความฝันในโลก Escapism เพราะมันทำให้เรารู้ว่าเวสเทอรอสคืออะไรบางอย่างที่อยู่ตรงสุดขอบของจินตนาการ เหนือพ้นดินแดนแห่งการฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจแห่งนี้ออกไป จะมีอะไรอยู่นั้นนับเป็นเรื่องเกินหยั่งรู้ของผู้คน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคนดูไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่ายังมีอะไรเหนือพ้นไปจากดินแดนเวสเทอรอสอีกบ้าง ไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่าเลยพ้นไปจากการฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจแล้วยังมีอะไรอีกบ้าง เพราะเลยพ้นจากนี้ไปแล้วไม่มีอะไรน่าสนุกสำหรับการรับชมอีกต่อไป คำตอบของนักแสดงสาวก่อนสิ้นชีวิต จึงพาเราไปถึงสุดขอบของความเป็นจริง ตรงสุดขอบนั้นเอง ที่เราจะตระหนักว่าเราไม่สามารถดิ้นรนหนีให้พ้นไปจากโลกแห่งความจริงนี้ไปได้ ไม่ว่าเราจะพยายามหนีสักเท่าไหร่ก็ตาม!

แล้วโลกแห่งความจริงคืออะไรกันเล่า ฉากที่สามที่ทำให้นึกถึงแบร์โทลต์ เบร็คชต์ คือฉากที่สาวกของพระส่งคนมาสั่งเซอร์ซีให้ไปพบ แน่นอน! เซอร์ซีผู้เชื่อมั่นว่าอำนาจก็คืออำนาจย่อมตอบกลับไปว่าเธอจะไม่ไป หากพระอยากพบเธอก็ให้เขาเดินทางมาพบเธอเอง เธอจะไม่ไปพบเขา สาวกของพระขยับอาวุธ แต่เซอร์ซีมีนักรบคู่ใจตัวใหญ่เท่าภูเขาอยู่เคียงข้าง เธอสั่งให้นักรบสาวเท้าออกมา สาวกของพระรีบบอกว่าหากเธอทำอย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่อาจเป็นอื่นไปได้นอกจากความรุนแรง เซอร์ซีตอบกลับด้วยใบหน้าเฉยเมย ดวงตาของเธอเรียบนิ่งเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเคยสั่งฆ่าลิตเติ้ลฟิงเกอร์ เธอบอกด้วยน้ำเสียงเรียบๆ จนเกือบอ่อนเพลียด้วยซ้ำไปว่า "ฉันต้องการความรุนแรง" แน่นอน! คำพูดน้ันนำไปสู่การฆ่าอีกครั้งหนึ่ง นักรบร่างยักษ์เท่าภูเขาได้หักคอและกระชากหัวของสาวกพระที่จามขวานเข้าที่เสื้อเกราะของเขาออกมา เลือดของสาวก (ซึ่งพูดได้ว่าเป็นเพียงหมากเบี้ยหรือไพร่ตัวเล็กๆ ในเกมแห่งราชบัลลังก์เท่านั้น) ไหลรินลงไปในท่อระบายน้ำ ไปรวมอยู่กับสิ่งโสโครกปฏิกูลทั้งหลาย ซึ่งต่อไปก็คงไหลหายลับไปไม่มีใครจดจำ

หลายคนมองว่า Game of Thrones คือซีรีส์ Escapism และเพราะฉะนั้นมันจึงอนุญาตให้มีความรุนแรงอย่างที่มีไม่ได้ในโลกจริงอยู่ แต่คำถามที่เกิดขึ้นกับฉากนี้ก็คือ จริงหรือที่ Game of Thrones เป็นเพียงเรื่องแต่ง เป็นจินตนาการ เป็นสิ่งซึ่งอยู่เลยพ้นออกไปจากความจริงของโลกใบนี้ ถ้าให้ตอบตอนนี้ คำตอบก็คือไม่! Game of Thrones ไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งพ้นเลยไปจากความเป็นจริง และดังที่แบร์โทลต์บอกไว้ มันไม่ได้เป็นแม้กระทั่งกระจกที่เอาไว้สะท้อนความจริงของโลกใบนี้เสียด้วยซ้ำ แต่มันคือค้อนที่คอยทุบเพื่อขึ้นรูปความจริงเหล่านี้ให้เราเห็นอยู่ตรงหน้า

ฉากแรก: ความรู้ไม่ใช่อำนาจหรอก / เป็นอำนาจต่างหากที่คืออำนาจ / และดังนั้นผู้คนจึงแสวงหาและเสพติดอำนาจ

ฉากที่สอง: ความลวงนั่นแหละคือความจริง / ตัวละครที่เล่นเป็นเซอร์ซีนั่นแหละที่พูดความจริง / ไม่มีอะไรอยู่ทางตะวันตกของเวสเทอรอส เพราะไม่มีแม้กระทั่งเวสเทอรอสหรอก / มีแต่โลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ

ฉากที่สาม: อำนาจคืออำนาจ / ความลวงคือความจริง / และที่สุดแล้ว ความรุนแรงก็คือสิ่งที่อำนาจของโลกใบนี้ต้องการ / เลือดของเบี้ยมีค่าเพียงไหลลงไปในท่อระบายสิ่งโสโครกก็เท่านั้น

นี่คือความจริงสามอย่างที่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ บอกเราไว้!

แบร์โทลต์ เบร็คชต์ เคยพูดถึงผลลัพธ์จากการแสดงละครแบบหนึ่งที่เรียกว่า Alienation Effect หรือบางคนก็เรียกว่า Estrangement Effect ซึ่งคือเทคนิคการทำให้เกิดเหตุการณ์หรือเรื่องราวบางอย่างในละครจนทำให้คนดูต้องสะดุ้งผงะ แล้วตื่นหรือถอยหนีออกมาจากโลกแห่งละครนั้น เวลาดูละคร โดยมากเรามักจะเผลอไผลใหลหลงเข้าไปในโลกบนเวทีนั้น ละครที่ดีมักทำให้คนดูลืมโลกภายนอกได้สนิท ทำให้เรากลายไปเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร เหมือนเมื่อเหล่ามวลมหาประชาชนชมนักแสดงผู้เล่นเป็นเซอร์ซี แลนนิสเตอร์ แล้วน้ำตาไหลตามเธอไปด้วย เราเป็นอย่างนั้นก็เพราะเรา Identify ตัวเองให้เป็นตัวละครตัวนั้น เราจึงสามารถอินไปกับละครประเภท Escapism ได้แบบลืมวันลืมเวลา ลืมความทุกข์ในโลกแห่งความเป็นจริงของเราไปได้ เพราะมันพาเราลอดเรดาร์แห่งโลกจริง พาหนีไปจากโลกจริงได้โดยที่เราแทบไม่รู้ตัว เป็นการหนีในระดับจิตใต้สำนึก ทำให้เรานึกว่าตัวเราคือเซอร์ซีบ้าง ลูกสาวกำนันบ้าง เป็นเจ้าหญิงเจ้าชายบ้าง หรือเป็นตัวละครไหนก็ตามในเรื่องเล่าเหล่านี้

ที่จริง Game of Thrones ก็ดูเหมือนจะทำคล้ายๆ แบบนั้นเหมือนกันในตอนแรกๆ มันลวงเราด้วยฉากอลังการ ลวงเราด้วยการแสร้งทำเป็นว่าตัวละครนั้นนี้จะเป็นตัวเอกให้เราติดตาม ให้เรากลายไปเป็นตัวละครเหล่านั้น แต่แล้วไม่นานนัก Game of Thrones ก็ใช้เทคนิค Alienation Effect กระชากเราออกมาจากโลกใบนั้นด้วยการฆ่าตัวละครที่ถูกสร้างมาอย่างดี หรือไม่ก็ย้อนยอกเปลี่ยนแปลงสำนึกของตัวละครไปมา หรือไม่ก็ใช้บางคำพูดเพื่อกระแทกหน้าเรา พยายามบอกเราว่าแท้จริงแล้วโลกของ Game of Thrones ไม่ได้อยู่ในหนังสือหรอก แต่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่แหละ มันคือโลกแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ โลกแห่งการหลอกให้ไพร่เบี้ยหมากร่ำไห้ไปกับละคร และโลกแห่งความรุนแรง นั่นทำให้เราต้องผงะและตื่นกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง

เป็นเซอร์ซี แลนนิสเตอร์ อดีตราชินีผู้เคยต้องเปลือยกายเดินใช้โทษบาปในหมู่มหาชนอีกเช่นกัน ที่เคยเอ่ยไว้ว่า “เมื่อเจ้าเล่นเกมแห่งราชบัลลังก์ เจ้าต้องชนะ ไม่อย่างนั้นเจ้าก็ต้องตาย (When you play the game of thrones, you win or you die.)" จึงเป็นเธอนั่นแหละที่ทำให้แบร์โทลต์ เบร็คชต์ ต้องฟื้นคืนชีพขึ้นมาในโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้

bottom of page