top of page

บันทึกการอ่าน: ยิ้มสยามคือยิ้มให้ใคร? เรายิ้มอย่างไทยหรือยิ้มเพื่ออะไรกันแน่?


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

ยิ้มสยามคือยิ้มให้ใคร? เรายิ้มอย่างไทยหรือยิ้มเพื่ออะไรกันแน่?

เขียนโดยศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (Siripoj Laomanacharoen)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/land-of-smile/4076

นโยบายประจำปีอันหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรมก็คือการรณรงค์ความเป็นไทยด้วยการยิ้ม การไหว้ การสวัสดี การขอบคุณ และการขอโทษ แหม่! ความเป็นไทยนี่มันก็ง่ายๆ แค่นี้เอง บางทีแค่เพียงยิ้มปุ๊ปก็นับเป็นไทยได้ปั๊ปแล้ว ประเทศไทยเคยบอกพร้อมกับกล่อมตนเอง ถ้าจะพูดให้เคร่งครัดก็คือกล่อมประชาชนของตนเองว่าเราเป็นสยามเมืองยิ้ม ซึ่งก็แน่นอนว่าเราคงยิ้มให้กับคนอื่น เพราะถ้าอยู่ๆ มีแค่ยิ้มให้กันเองในประเทศ มันก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เอามาเป็นจุดขายกับชาวต่างชาติสักเท่าไหร่ คำถามก็คือสยามของเรายิ้มให้กับใคร?

สยามเริ่มแบ่งแยกยิ้มของตัวเองออกมาจากรอยยิ้มของคนชาติอื่นๆ เขาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อราวปี 1945-1946 นี้เอง เพราะเมื่อรัฐบาลไทย (เปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทยเมื่อปี 1939) ในยุคนั้นเลือกข้างฝรั่งที่ชนะสงครามมากกว่าจะเลือกเพื่อนบ้าน ฝรั่งก็เดินทางมาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากกว่าที่เคยเป็นมา เล่าต่อๆ กันมาโดยไม่แน่ใจว่าใครเล่าบ้างว่าฝรั่งในยุคนั้น (และไหลเลื่อนลงมาถึงยุคปี 1957 ต้นๆ) นั่นแหละที่เป็นฝ่ายเรียกเราว่าสยามเมืองยิ้มก่อน คนหนึ่งที่ถูกอ้างอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นคนเล่า ก็คือนักคิด นักเขียน นักสือพิมพ์ นักการเมือง และอีกสารพัดนัก ควบตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและประเทศสารขัณฑ์ด้วยอย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช (1911-1995)

เอิ่ม! ตำแหน่งหลังสุดนี่เฉพาะในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American ที่มีสุดหล่อในยุคนั้นอย่าง Marlon Brando (1924-2004) เล่นเป็นพระเอกประกบคู่กับเขา และออกฉายเมื่อปี 1963 พูดง่ายๆ ว่าคึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประเทศสารขัณฑ์ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเมื่อปี 1975 เสียอีก บุรุษผู้น่าจะเป็นคนเดียวในโลกที่ควบตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีถึงสองประเทศอย่างคึกฤทธิ์เคยเขียนเล่าเอาไว้ในคอลัมน์ประจำของเขาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐยุคกระโน้นว่า เพราะคนไทยไม่รู้ภาษาอังกฤษ เวลาที่ฝรั่งถามอะไร ด้วยความที่ฟังไม่ออกอย่างหนึ่ง และฟังฝรั่งออกแต่ไม่รู้จะตอบว่าอะไรอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ คนไทยก็เลยยิ้มสู้เอาไว้ก่อน ส่วนฝรั่งเมื่อจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะในวัฒนธรรมไม่เคยยิ้มแหะๆ และเหยเก ด้วยอาการไปไม่เป็นอย่างนี้ ก็เลยเรียกอาการยิ้มอย่างนี้ว่ายิ้มสยาม

ถ้าเชื่ออย่างที่คึกฤทธิ์เล่าไว้แล้ว ยิ้มสยามก็ดูจะเป็นยิ้มที่มีลักษณะของการยอมจำนนอย่างบอกไม่ถูก ยิ่งเมื่อสถานการณ์ในยุคนั้น ประเทศไทยเองก็ตกอยู่ในภาวะยอมจำนนต่อกระแสอันเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมฝรั่งที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอเมริกันที่ทำให้เกิดโก๋หลังวังทั้งหลาย [ถ้ายังนึกไม่ออกก็ลองนึกถึงอิทธิพลของ Elvis Aaron Presley (1935-1977) ที่ไม่ได้มาเฉพาะดนตรีร็อคแอนด์โรล (Rock and Roll) แต่ยังถูกอิมพอร์ตมาทั้งเสื้อผ้าหน้าผมในหนังที่เล่าเรื่องของพี่แดงไบเล่ย์แอนด์เดอะแกงค์ดูก็แล้วกันนะ] สงครามเวียดนาม ไปจนถึงกระแสเมียเช่า

แต่ก็มีเฉพาะพวกฝรั่งและชาติมหาอำนาจเท่านั้นแหละที่มองเห็นยิ้มสยามอันแสนภาคภูมิของคนไทยและกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศนี้เป็นเพียงแค่รอยยิ้มแหยๆ ชนชาติอื่นๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องไปประจบเพราะพวกเขาเข้ามาอยู่ในประเทศในฐานะของแรงงานเป็นส่วนใหญ่คงจะไม่มองรอยยิ้มเหี้ยมเกรียมที่เขาเห็นว่าเป็นเพียงรอยยิ้มแหยๆ แน่ และถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่ไทยเราก็ดูจะภาคภูมิใจกับเจ้ารอยยิ้มบูดๆ เบี้ยวๆ นี้เสียยิ่งกว่าอะไร เห็นได้จากแคมเปญจำพวก Land of Smile หรือแม้กระทั่งอดีตราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับอย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ (1961-1992) ยังบอกกับพวกเราว่า "ทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนามให้ว่าสยามเมืองยิ้ม เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม" ไว้ในบทเพลงที่มีชื่อว่า "สยามเมืองยิ้ม"

การที่แม่ผึ้งขึ้นต้นเพลงนี้ด้วยประโยคแรกที่ว่า "จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย" ก็ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว รัฐได้กล่อมเสียจนประชาชนคนไทยภาคภูมิใจในยิ้มสยามของตนเอง ไม่ว่าคนอื่นจะมองรอยยิ้มของเราในรูปแบบไหน เพราะก็คงไม่มีใครหรอกนะที่จะภาคภูมิใจในรอยยิ้มแหยๆ หรือรอยยิ้มที่ดูเหี้ยมเกรียมของตนเองไปได้ กระทรวงวัฒนธรรมยังบอกกับเราด้วยว่ายิ้มสยามต้องมาพร้อมกับมารยาททางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การสวัสดี การขอบคุณ หรือการขอโทษ ทั้งหมดนี้ต้องมา! เพราะทั้งหมดนี้แหละคือความเป็นไทย

ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อสืบถึงประวัติที่มาแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมจะยังคิดว่าอะไรเหล่านี้เป็นไทยหรือเปล่า? ก็ในเมื่อการไหว้เป็นการเอาท่ามือของแขกที่มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า "มุทรา (Mudrā मुद्रा)" อย่างที่เราเห็นว่าพระพุทธรูปแต่ละปางจะวาดไม้วาดมือแตกต่างกันเพื่อแสดงถึงความหมายที่แตกต่างกันออกไป ก็ทำนองเดียวกับภาษามือที่คนใบ้ใช้สื่อสารกันนั่นแหละ ส่วนไอ้ท่ามือที่คนไทยเรียกว่าการไหว้นั้น พวกแขกฮินดูเขาเรียกว่านมัสการมุทรา (Namaskara Mudra) ใช้สำหรับทำความเคารพผู้ที่มีอาวุโสหรือลำดับชั้นทางสังคมสูงกว่า อย่างการไหว้พระ ไหว้เจ้า เป็นต้น ไทยเราเมื่อรับเอาท่ามือนี้มาจากแขก แต่เดิมก็คงยังใช้ไหว้พระไหว้เจ้ามาก่อน ไม่ได้ใช้ไหว้คน เพราะยังมีคำคนเฒ่าคนแก่ที่ใช้รับไหว้อย่าง ‘ไหว้พระเถอะลูกเอ๊ย’ อยู่เลย ที่มาใช้ไหว้คนกันนี้น่าจะมีในภายหลัง

ส่วนคำว่าสวัสดีนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะมีประวัติว่าพระยาอุปกิตศิลปสารหรือนิ่ม กาญจนชีวะ (1879-1941) ได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้โดยผูกมาจากคำว่า "สวสฺติ" ในภาษาสันสกฤต (Sanskrit) และใช้อยู่ในเฉพาะคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขาสอนอยู่กันเป็นการเฉพาะมาก่อน ในจุฬาฯ จะมีใครใช้คำว่าสวัสดีกับพระยาอุปกิตฯ บ้างหรือเปล่าไม่รู้? เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คำนี้ก็กลายเป็นที่ชอบอกชอบใจผู้มีอำนาจในขณะนั้นอย่างจอมพล ป. พิบูลสงครามหรือแปลก ขีตตะสังคะ (1897-1964) ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ จนถึงขนาดประกาศให้คำนี้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการของคนไทยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 1943 เป็นต้นมา ความเป็นไทยบางครั้งจึงอาจจะไม่ต้องมีรากที่มาลึกซึ้งอะไรก็ได้ แค่ชนชั้นนำเคยประดิษฐ์อะไรขึ้นมาใช้กันเก๋ๆ แค่ไม่กี่คน แล้วคนมีอำนาจไปประกาศบังคับให้คนทั้งประเทศใช้ตามก็ใช้ได้แล้ว

เอาเข้าจริงแล้วใครเขาก็รู้กันแหละว่าชนชาติไหนๆ ก็มีมารยาทจำพวกนี้กันทั้งนั้นนั่นแหละ ไม่ว่าจะทักทายกันด้วยคำว่า Hello หรือหนีห่าว (你好) แล้วจับมือหรือยกมือขึ้นไหว้ใส่กัน จะคำว่า Thank You หรือ Sorry ก็ไม่ได้ต่างไปจากคำไทยว่าขอบคุณหรือขอโทษ (แต่อาจจะไม่มีเสน่ห์เท่าไทยเรา เพราะเขาไม่มีรอยยิ้มสยามเป็นแพ็กเกจพ่วงเข้าไปด้วย) เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐชาติใดก็ต้องเกิดขึ้นโดยช่วงชั้นทางสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญ มารยาทจำพวกนี้คือ อารยะของความเป็นคน ไม่ใช่ความเป็นไทย และก็ไม่มีชนชาติไหนในโลกมีสิทธิ์เคลมว่าพวกตัวเองเท่านั้นที่เป็นคน ส่วนคนอื่นๆ นั้นไม่ใช่ แต่ก็อย่างว่าแหละนะ ก็เรื่องไทยไทยในโลก มันแต่ล้วนอนิจจังกันทั้งนั้น

bottom of page