top of page

บันทึกการอ่าน: SOTUS ความรุนแรงหรือฝึกวินัย? ความเป็นไทยหรือลอกฝรั่ง?


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

SOTUS ความรุนแรงหรือฝึกวินัย? ความเป็นไทยหรือลอกฝรั่ง?

เขียนโดยศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (Siripoj Laomanacharoen)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/sotus-thai-or-not-ja/6208

ถ้าจะถามถึงอะไรที่เป็นไทยแท้ๆ อย่างหนึ่งที่อาจจะใช่ก็น่าจะเป็นระบบอะไรที่เมืองนอกเมืองนาเขาไม่รู้จัก แต่กลับมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษแบบเก๋ๆ ว่า SOTUS (Seniority, Order, Tradition, Unity, Spirit) หรือกิจกรรมรับน้องใหม่นี่แหละ หมุนเข็มนาฬิกากลับไปที่เมื่อรัฐสยาม ซึ่งก็ต้องหมุนกันจนมือชาเพื่อย้อนกลับไปให้ถึงวันที่ประเทศนี้เมืองนี้ยังไม่ได้เรียกว่า ไทยเลยแล้วกัน เริ่มที่จะนำเอาประดิษฐกรรมของโลกตะวันตกที่เรียกว่าการศึกษาแบบสมัยใหม่มาใช้โน่นเลย และมันก็แปลว่าเราต้องหมุนเข็มนาฬิกากันไปที่ราวๆ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นภายใต้การดูแลของกรมมหาดเล็ก ได้นำเอาระบบที่มีชื่อเรียกแปลเป็นไทยยากๆ ว่าดรุณาณัติ (Fagging System) จากโรงเรียนกินนอน (ก็โรงเรียนประจำนั่นแหละ) ในประเทศอังกฤษเข้ามาใช้นั่นเอง

ในระบบดรุณาณัติที่ว่านี้ก็จะมีการนำเอานักเรียนชั้นปีสูงๆ (ซึ่งมักจะแปลกันว่ามีอาวุโสกว่าชั้นปีต่ำๆ แน่นอนว่าอาวุโสในที่นี่มีความหมายผิวเผินแค่การอยู่มาก่อนเท่านั้น) ที่มีผลการเรียนดี และความประพฤติดีมาเป็นผู้ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียน ในภาษาอังกฤษเขาเรียกคนพวกนี้ว่า Fag-Master หรือ Prefect

ใช่! สำหรับใครคนไหนที่เคยอ่านหรือดูพ่อมดน้อยคนนั้นที่ชื่อว่าแฮร์รี พ็อตเตอร์ (Harry Potter) Prefect ที่ว่านี่ก็คือพรีเฟคเดียวกันกับที่บรรดาพี่น้องผมแดงตระกูลวีสลีย์ (Weasley) เป็นมันทั้งครอบครัวนั่นแหละ (ส่วนใครไม่เคยทั้งดูทั้งอ่าน ถ้าไปลองหาอ่านหาดูก็เพิ่มจินตนาการในการอ่านข้อเขียนชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง)

ดังนั้นหน้าที่การใช้งานของพรีเฟคก็เป็นอย่างในนิยายเรื่องของพ็อตเตอร์นั่นเลย พวกเขาจะเป็นนักเรียนระหว่างชั้นปีที่ 5-7 (แล้วแต่ด้วยว่าโรงเรียนนั้นจะมีกี่ชั้นปี) ที่ถูกแต่งตั้งโดยบรรดาคุณครูหรือผู้มีอำนาจในโรงเรียนเพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับอำนาจเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งมันก็เกินเลยไปจนกระทั่งให้รุ่นน้องมาเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับคนรับใช้ส่วนตัวของรุ่นพี่นู่นเลย โปรดสังเกตด้วยว่าพรีเฟคเหล่านี้ถูกแต่งตั้งโดยอำนาจของโรงเรียนนะ ไม่ใช่เลือกตั้งโดยคนหมู่มากของโรงเรียน และโปรดฟังอีกครั้งหนึ่งว่าระบบการแต่งตั้งพรีเฟคที่ว่านี่ หมายถึงธรรมเนียมเฉพาะที่อังกฤษและเครือจักรภพ (Commonwealth of England) ที่โรงเรียนมหาดเล็กของสยามเราไปรับเอารูปแบบของเขามาเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงระบบการแต่งตั้งหัวหน้านักเรียน (Head Girl or Head Boy) ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่หลายแห่งก็มีระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้ง

อันที่จริงแล้ว การที่โรงเรียนกินนอนของฝรั่งพวกนี้ใช้คำว่าพรีเฟคก็น่าสนใจมาก เพราะเป็นชื่อเรียกตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของพวกโรมันมาก่อน แน่นอนว่าบรรดาพรีเฟคแห่งโรมเหล่านี้ก็ถูกแต่งตั้งด้วยอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire: 27 BC - 1453) อันยิ่งใหญ่ ดังนั้นการที่พรีเฟคในโรงเรียนกินนอนของอังกฤษจะมีที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้ง ก็ไม่เห็นจะแปลกหรอก ตำแหน่งพรีเฟคของพวกอิงเกอลันด์จึงดูจะเข้ากันกับเจตนารมณ์ของโรงเรียนหลวงในสยามได้อย่างดี เพราะโรงเรียนพวกนี้สังกัดอยู่ภายใต้กรมมหาดเล็ก ทำให้ส่วนหนึ่งของโรงเรียนหลวงในยุคนั้นบางแห่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะฝึกสอนผู้เป็นนายสิบนายร้อยในกรมทหารมหาดเล็ก และขึ้นชื่อว่ามหาดเล็กซึ่งก็คือข้าราชการในราชสำนักที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินหรือรับใช้ประจำตัวเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น ก็รับประกันซ่อมฟรีได้เลยว่าเข้ากันกับระบบอาวุโสและระบบการแต่งตั้งมากกว่าระบบการเลือกตั้ง

จุดสูงสุดของโรงเรียนหลวงเหล่านี้คือการปรากฏตัวขึ้นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถึงแม้จะสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว แต่ก็ถือกันว่ามีรากเหง้ามาจากโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นพระบรมมหาราชวังมาก่อน ตั้งแต่ปี 1899 แน่นอนว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้สืบทอดเอาเจตนารมณ์แบบพรีเฟคที่เข้ากันดีกับระบบอาวุโสแบบไทยๆ เข้าไปด้วย แถมยังได้พัฒนาไปเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบบ SOTUS กันที่นี่นั่นเอง

ดังนั้นใครหลายคนจึงเชื่อกันว่าคำว่า SOTUS ก็เกิดขึ้นในจุฬาฯ นั่นแหละ เพราะอักษรแต่ละตัวในคำๆ นี้ ล้วนแต่มีความหมาย เพราะเป็นคำย่อมาจาก S คือ Seniority หมายถึงการเคารพผู้อาวุโส (แหม่! มาเป็นคำแรกเชียว) O มาจาก Order คือการปฏิบัติตามระเบียบวินัย T คือ Tradition ก็คือการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี U หมายถึง Unity แน่นอนว่าก็คือการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และท้ายสุดคือ S ซึ่งหมายถึง Spirit คือการฝึกจิตใจ การเสียสละกายและใจ (ดังนั้นห้ามแตกแถว ปฏิบัติ!) และมันก็มีหลักฐานให้ชวนเชื่อว่าคำๆ นี้จะเกิดที่นี่จริงๆ เสียด้วย เพราะว่ามีการพบโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าโคลงโซตัสในหนังสือเฟรชชี่รุ่นโบราณที่ห้องสมุดภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายความหมายของตัวอักษรแต่ละตัวในคำว่า SOTUS อย่างละเอียด แต่ปัญหาก็คือไม่มีใครทราบว่าหนังสือเฟรชชี่โบราณที่ว่านั้นโบราณขนาดไหน? หรือถ้ามีคนทราบ แต่ก็ไม่เห็นจะมีใครออกมาบอกอายุของหนังสือดังกล่าวเสียที

หลักฐานที่หนักแน่นยิ่งกว่าจึงอยู่ในเพลงที่ชื่อว่าเกียรติภูมิจุฬาฯ ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี 1967 โดยศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ (1918-1992) อดีตประธานศาลฎีกาผู้ล่วงลับ ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายแก่นิสิตจุฬาฯ คณะต่างๆ (เอิ่ม! แต่อันที่จริงแล้วในขณะเดียวกันนั้นเอง ท่านก็เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยแบบงงๆ ว่าทำไมถึงมาแต่งเพลงให้จุฬาฯ) ซึ่งในเนื้อเพลงดังกล่าวได้พูดถึงคำว่าสามัคคี อาวุโส น้ำใจ ระเบียบ และประเพณี ที่ก็คือความหมายของตัวอักษรย่อที่มารวมกันเป็นคำว่า SOTUS เอาไว้ด้วย แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม หากลองนับจากตัวอักษรแรกสุดของข้อเขียนเรื่อยมาจนถึงบรรทัดนี้ก็จะเห็นได้ว่ายังไม่ได้พูดถึงปัญหาการใข้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมอย่างที่เป็นปัญหากันอยู่ในปัจจุบันอะไรเลย

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ความรุนแรงที่ว่ามันจะมีต้นตอมาจากไหนกันเอ่ย? ระบบดรุณาณัติของโรงเรียนกินนอนของสหราชอาณาจักรยังมีค่านิยมอีกอย่างหนึ่ง คือการนำกีฬาประเภทที่นับว่ารุนแรงในสมัยนั้นอย่างการแข่งเรือ ฟุตบอล หรือรักบี้ (ส่วนสาวกแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ขอให้มโนถึงควิดดิชนั่นแหละ ใช่เลย!) เพื่อใช้ในการสร้างเสริมความเป็นชายและดึงพลังหนุ่มออกจากความเป็นรักร่วมเพศและการประกอบอัตกามกิจ (ใช่! ไทยเราไม่ใช่ประเทศแรกที่บอกกับวัยรุ่นว่าถ้ามีความต้องการทางเพศให้ไปเตะฟุตบอล!) กิจกรรมเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็ผูกเข้ากับระบบพรีเฟคที่เช็ครุ่นกันอย่างเคร่งครัด และก็แน่นอนว่าการสร้างเสริมความเป็นชายเหล่านี้หลายทีก็ล้ำเส้นของการกีฬาออกไปด้วย ผู้คนจากอังกฤษ (England) สก็อตแลนด์ (Scotland) เวลส์ (Wales) ไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) และรวมกระทั่งไอร์แลนด์ (Ireland) ที่ไม่นับรวมอยู่ภายใต้ผืนธงยูเนียนแจ็ค เมื่อเดินทางข้ามฟากมหาสมุทรแอตแลนติค (Atlantic Ocean) ไปยังทวีปอเมริกา (America) ก็นำเอาทั้งการกีฬาและสิ่งที่ล้ำเส้นเกินกว่าการกีฬาต่างๆ ไปด้วย

เฉพาะที่เกี่ยวกับไทย ก็อย่างมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ (Cornell University, Ithaca, New York) ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาและโลกก็เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีหลักฐานว่าแต่เดิมนั้นมีการรับน้องกันด้วยความรุนแรงอย่างการคลุกโคลนปีนเสา แถมยังถ่ายทอดอะไรอย่างนี้ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นที่คอร์แนลล์ไปร่วมด้วยช่วยก่อตั้งอย่างมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (University of the Philippines) แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่คงไม่ต้องบอกว่าตั้งอยู่ที่ไหนนะ!

ประเด็นเลยนะ ไอ้วิธีการรับน้องด้วยการคลุกโคลนปีนเสานั้นก็มีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของสยามประเทศไทยด้วย (น่าเสียดายที่ขี้เกียจพอจะไม่ไปค้นว่าทุกวันนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า? เอาน่า เอาเป็นว่าอย่างน้อยที่สุดเคยมีก็แล้วกันนะ) และก็คงจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยแห่งนี้นี่เองที่นำเอาวิธีการรับน้องอย่างนี้มาเข้ามาเผยแพร่ เพราะตนเองได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ซึ่งโด่งดังในสาขาวิชาเกี่ยวกับการเกษตรกรรมมานั่นเอง ซึ่งก็ดังพอที่จะไปช่วยสร้างวิทยาลัยการเกษตรและวิทยาศาสตร์การอาหารแห่งลอสบันยอส (Los Baños College of Agriculture and Food Sciences) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์นั่นแหละ และก็หมายความด้วยว่าอาจารย์คนหรือกลุ่มนั้นอาจจะไม่ได้จบคอร์แนลล์ แต่จบจากวิทยาลัยที่ลอสบันยอสนี่ก็ได้ แต่จะให้บอกว่าเป็นอาจารย์หรือใครคนไหนเป็นคนอิมพอร์ตเข้ามาคงจะไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงลงไปได้ เพราะในช่วงสงครามเย็น คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นเวลาที่การรับน้องแบบนี้เริ่มปรากฏขึ้นในไทยนั้น มีนักศึกษาไทยที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์และมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) ในสหรัฐอเมริกาและลอสบันยอสในฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมากจนไม่รู้ว่าจะมุ่งเป้าไปที่ใครเป็นพิเศษดี

ส่วนไอ้การรับน้องที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามานี่ก็ไม่เคยถูกเรียกว่า SOTUS นะ เอาเข้าจริงแล้วฝรั่งเขาไม่รู้จักคำนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะมันถือกำเนิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างที่ว่าไปแล้วต่างหาก มันจึงน่าตลกสิ้นดีที่ต่อมาพวกฝรั่งเขาเห็นลักษณะการอย่างนี้ว่าป่าเถื่อนจึงยกเลิกไป แต่คนไทยกลับเห็นอีกอย่าง แล้วเอาเข้าไปผนวกกับกฎเกณฑ์สวยหรูเสียอย่างแนบสนิทเนียนจนไร้รอยต่อว่าการกระทำอย่างนี้นี่แหละที่จะทำให้สืบสานระบบอาวุโส ระเบียบ ประเพณี สามัคคี และน้ำใจ ที่รวมกันแล้วเรียกว่า SOTUS จึงถือได้ว่า SOTUS เป็นประดิษฐกรรมที่ไทยเอาธรรมเนียมของฝรั่งเขามาสานต่อและพัฒนาจนเป็นมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ขนาดที่ฝรั่งเห็นเข้าก็ยังต้องงงเหมือนกัน อุตส่าห์พอจะหาความเป็นไทยที่มันยูนีคกับเขาได้ทั้งทีก็ยังเป็นเรื่องทำนองนี้เสียอีก ถ้าไม่ปลงอนิจจังแล้วจะยังไงดีล่ะ?

bottom of page