top of page

บันทึกการอ่าน: แม่นาคมาจากไหน?​ เซเล็บผีไทยหรือลูกครึ่งผีเขมร?


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

แม่นาคมาจากไหน?​ เซเล็บผีไทยหรือลูกครึ่งผีเขมร?

เขียนโดยศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (Siripoj Laomanacharoen)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/mae-nag-ma-jark-nhai/4846

ถ้าให้พูดชื่อของผีที่รู้จัก เอาชื่อของผีในฐานะที่เป็นปัจเจกชนนะ ไม่ใช่ประเภทแบบซอมบี้ (Zombie) มัมมี่ (Mummy) แวมไพร์ (Vampire) ฯลฯ ใครหลายคนก็คงนึกถึงชื่อของแดร็กคูล่า (Dracula) แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein or Modern Prometheus) ตุ๊กตาแอนนาเบลล์ (Annabelle) ไปจนกระทั่งถึงผีวีดีโอเทปอย่างซาดาโกะ (Sadako Yamamura) แต่อยากให้ลองนึกกันเล่นๆ ดูว่าผีที่ในบัตรประชาชนระบุว่าถือสัญชาติไทยตนไหนที่นึกชื่อออกเป็นตนแรก เริ่ม 1, 2, 3 หมดเวลา! และไม่ว่าใครจะนึกถึงชื่อคุณยายวรนารถ ผีอีแพง หรือปอบหยิบ แต่เชื่อว่าทุกคนก็คงไม่ลืมที่จะนึกถึงผีแม่นาก ก็ขนาดบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (1862-1943) ยังเคยตรัสเล่าไว้ในที่ใดที่หนึ่งเลยว่าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเคยลองสอบถามผู้คนที่เดินเข้าออกประตูวัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามดูว่ารู้จักชื่อใครบ้าง? ปรากฏว่าชื่อที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดคือชื่อของนางนากพระโขนงเหมือนกันนี่แหละ (แม่นากโขนงหรือมักเรียกสั้นๆ ว่าแม่นาก โดยมากสะกดด้วย ค.ควาย)

ที่จริงแล้วสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงเล่าไว้ด้วยว่าพระองค์ถึงกับทรงพระงง จนไก่ก็น่าจะตาไม่แตกเท่ากับพระองค์เลยเหอะ เพราะเมื่อแรกที่ทรงคิดจะทำโพลหรือการวิจัยเชิงสำรวจในครั้งนั้น ทรงประเมินเอาไว้ก่อนว่าผู้คนน่าจะตอบว่า "พระเจ้าอยู่หัว" มากที่สุด ประมาณเวลาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทำโพลอย่างไม่เป็นทางการครั้งนั้นไว้ก็คงอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลาประมาณเดียวกันนั้นที่ครูแจ้งแห่งวัดระฆังซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ต้นต้นรัชกาลที่ 5 ครูเสภาระดับเซเลบริตี้ร่วมสมัยกับสุนทรภู่ แต่เด็กกว่าหน่อย ก็ได้แต่งบทเสภาเรื่องหนึ่งที่มีการเอ่ยถึงผีนางนากชาวบางพระโขนงตายทั้งกลมและมีลูกเป็นผู้ชาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าก็คือผีนางนากของครูแจ้งและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็คือผีนางนากตนเดียวที่กันกับที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนั่นเอง

ใช่! แม่นากนับเป็นผีไทยตนแรกที่มีความเป็นปัจเจกชน คือมีตัวมีตนเป็นการเฉพาะเจาะจง เรียกได้ว่าเป็นผีเซเล็บที่มีออร่าของความเป็นซุป’ตาร์เปล่งประกายออกมา ต่างจากผีไทยตนอื่นๆ ที่มีมาก่อน และใช่! เพราะผีไทยแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นกระสือ (Krasue, Ahp, Kasu) กระหังหรือกระหาง สมิง (Werecat) ผีฉมบ ผีกะ ปอบ ผีพราย นางตะเคียน นางตานี ผีกองกอย ฯลฯ ไม่ได้มีความเป็นปัจเจกเฉพาะบุคคลเลยสักนิด คนไทยเราไม่เคยมีกระสือยายนู่นหรือกระหังตานี่เป็นการชี้เฉพาะมาก่อนที่คนในบางกอกยุคต้นกรุงเทพฯ จะได้รู้จักกับผีแม่นากอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นปอบหยิบ คุณยายวรนารถ หรือผีอีแพง นี่ถือเป็นผีซุป’ตาร์รุ่นเหลนของแม่นากเธอทั้งนั้น แถมรัศมีความเป็นเซเล็บก็ยังไม่เปล่งประกายเท่าผีรุ่นยายทวดอย่างนางนากแห่งบางพระโขนงเสียด้วยซ้ำ ว่าแต่ทำไมอยู่ๆ ผีไทยซึ่งไม่เคยมีตัวตนหรือความเป็นปัจเจกจึงกลายเป็นมีที่มีทางสำหรับความเป็นผีอย่างมี Identity (คำนี้มีแปลเป็นไทยด้วยศัพท์แขกอินเดียว่าอัตลักษณ์) มันเสียอย่างนั้น? แน่นอนว่าปัจจัยที่เอื้อเป็นอย่างมากก็คือสภาพสังคมในช่วงนั้นที่เปิดทางให้กับอะไรที่เรียกว่าความเป็นปัจเจก ซึ่งก็หมายรวมถึงความเป็นปัจเจกของไพร่ไว้ด้วย ลักษณะอย่างนี้เริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงตอนปลายของสมัยอยุธยา และเห็นได้ชัดยิ่งกว่ามากในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งยุคกรุงเทพฯ เป็นต้นมา

เรื่องหลอนๆ จากความเฮี้ยนของผีนางนากซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็คือผีของไพร่ที่ตายไปนั้นจึงมีที่มีทางมากกว่าที่เคย และต้องอย่าลืมนะว่าเรื่องปัจเจกอย่างนี้มักจะเป็นเรื่องบอกเก้าแต่เล่าไปซะสิบ (ที่มาของคำว่า ‘บอกเก้าเล่าสิบ’ แต่ในปัจจุบันพูดเพี้ยนกันเป็น ‘บอกเล่าเก้าสิบ’ ไปแบบงงๆ ว่าทำไมต้อง 90 ด้วย?) โดยเฉพาะเรื่องผีๆ ถ้าจะให้หลอน นอกจากจะบอกเก้าเล่าไปสิบแล้ว จะโม้เพิ่มไปอีกสักเก้าสิบเก้าเลยก็ยิ่งดี และหลักฐานบางอย่างก็บอกกับเราว่า ผีนางนากเองก็เป็นเรื่องบอกเก้าเล่าสิบ แล้วโม้เพิ่มไปอีกเฉียดร้อยนี่แหละ หลักฐานที่ว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 (ในยุคก่อนปี 1957 นักหนังสือพิมพ์ก็มักจะเป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าอยู่แล้ว ใครที่ได้ชื่อเป็นนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าท่านล้ำขนาดไหน!) เป็นผู้ไปสืบหาข้อมูลมาให้ เรื่องของเรื่องก็คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือกุหลาบ ตฤษณานนท์ (1824-1921) ได้ตอบจดหมายของแฟนหนังสือสยามประเภท (ซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์ของเขาเอง) ฉบับเดือนมีนาคม 1899 ที่เขียนมาถามเกี่ยวกับเรื่องผีนางนากเอาไว้ว่า เมื่อครั้งยังมีชีวิต แม่นากหรืออำแดงนากเป็นลูกของขุนศรีนายอำเภอ (ขั้นกว่าของลูกสาวกำนัน) บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง และเป็นเมียนายชุ่ม (อ้าว! แล้วพ่อมากล่ะ?) ต่อมาอำแดงนากคลอดลูกตาย นายชุ่มจึงเอาศพไปฝังไว้ที่วัดมหาบุศย์ จากนั้นก็มีผีนางนากออกอาละวาด แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าผีนางนากที่เที่ยวหลอกหลอนผู้คนกลับเป็นลูกนายชุ่มนี่เองที่แกล้งปลอมเป็นผีแม่นาก คอยปาก้อนหินใส่เรือของผู้คนที่สัญจรไปมาในยามค่ำคืน เพราะไม่อยากให้พ่อของตนมีเมียใหม่ มันซะอย่างนั้น!

ที่ลูกนายชุ่มไม่อยากให้พ่อของตนเองไปมีเมียใหม่ ไม่ใช่เพราะความรักแม่อะไรหรอกนะ แต่เป็นเพราะการที่นางนากเป็นลูกสาวนายอำเภอนี่แหละ พูดง่ายๆ ว่ามีสมบัติมาก แต่นายชุ่มเองก็ไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย แต่เป็นถึงนักแสดงโขนตัวทศกัณฐ์ในพระเจ้าบรมเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (1770-1820) ซึ่งว่ากันว่าเป็นคาสโนว่าหนุ่มคนหนึ่ง ลูกชายจึงกลัวว่าพ่อจะไปมีเมียใหม่ แล้วเอาสมบัติของแม่ไปให้ลูกเมียใหม่มันเสียหมด (ถ้ายังนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงดาราหนุ่มช่องเจ็ดสีไปแต่งงานกับไฮโซสาว อยู่กินจนมีลูกกัน ต่อมาน้องไฮโซคนนั้นท้องอีกทีแล้วเกิดตายท้องกลมขึ้นมา ดาราที่ยังหนุ่มอยู่ หล่ออยู่ แถมรวยด้วย จะไปมีสาวใหม่ก็ไม่เห็นจะแปลก)

ถ้า ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่กุเรื่องขึ้นมาเอง (ก็คำว่า 'กุ' ที่มีความหมายคล้ายๆ การมโนอะไรขึ้นมาลอยๆ เป็นคำที่รัชกาลที่ 5 ทรงประดิษฐ์ขึ้นโดยหมายจะเสียดสี ก.ศ.ร. กุหลาบว่าชอบมโนเรื่องโน่นนี่ขึ้นมานั่นแหละ) ข้อมูลนี้ก็น่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะความตอนนี้ได้มาจากปากคำที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (1790-1853) สอบปากคำลูกชายของนายชุ่มที่ชื่อนายแบนซึ่งก็คือเด็กคนที่ปลอมเป็นผีนางนากแล้วมาบวชเป็นพระอยู่ที่วัดโพธิ์เองเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่มีหรอกนะทั้งผัวที่ชื่อพ่อมาก เพราะเป็นชื่อที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (1861-1931) ตั้งขึ้นเอาตามพระทัยชอบเพื่อใช้ในบทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนงเมื่อปี 1911 (ใช่! นี่คือแม่นาก the Musical เวอร์ชั่นแรกสุด!) ลูกที่ชื่อไอ้แดง การยืดมือไปเก็บมะนาวที่ใต้ถุนนี่ก็มาจากละครเวที และอีกสารพัด สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือคลองพระโขนงที่นางนากอาศัยอยู่ เพราะคำว่าโขนงหรือคำว่าขนงเป็นคำเขมร แปลว่าคิ้ว อย่างที่ไทยเราเอามาใช้เป็นคำราชาศัพท์ว่าพระขนง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะคลองเส้นที่ว่านี่โค้งอย่างกับคิ้วจริงๆ นั่นแหละ

เพราะฉะนั้นชื่อของคลองก็บอกอยู่แล้วนะว่าแถวนั้นใครคุม? ซ้ำชาวเขมรเองก็มีตำนานเรื่องผีบรรพบุรุษหรือผีผู้หญิง ทำนองผีเจ้าที่ที่เรียกว่านางนากกันออกจะให้เพียบในแต่ละถิ่นที่อยู่ของพวกเขา ถ้าอำแดงนากเคยมีชีวิตอยู่จริง เผลอๆ จะมีเชื้อเขมร หนักเข้าหน่อยถ้าเรื่องนี้มโนกันมาตั้งแต่สามเณรแบน (ลูกอำแดงนากที่ไปบวชอยู่วัดโพธิ์) หรือกุขึ้นโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ ผีนางนากก็อาจจะเป็นนิทานดั้งเดิมของชาวเขมรที่แพร่หลายมาถึงแถวบางพระโขนง แล้ว Hot! ขึ้นมาได้ด้วยสภาพสังคมที่เปิดพื้นที่ให้ความเป็นปัจเจกมากขึ้นกว่าที่เคยมีมาในยุครัชกาลที่ 3 และก็นี่แหละ อะไรๆ ที่เราคิดว่าเป็นไทยก็มักจะเป็นอย่างนี้ แม้แต่เซเล็บผีไทยตนแรกก็อาจจะเป็นลูกครึ่งผีเขมร หรืออาจจะไม่ปนไทยเลยด้วยซ้ำ! แถมเผลอๆ ก็อาจจะไม่มีตัวตนจริงเลยก็ได้ นึกแล้วก็ชวนให้ปลงอนิจจังนะ

bottom of page