top of page

บันทึกการอ่าน: เพลงชาติในสวนสาธารณะ


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

เพลงชาติในสวนสาธารณะ

เขียนโดยโตมร ศุขปรีชา (Tomorn Sookprecha)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/national-anthem-and-public-space/5606

สมมุติว่ามีใครคนหนึ่งบอกคุณว่า “ผมไม่อยากร้องเพลงชาติเพราะผมไม่คลิกกับมันอ่ะ เนื้อเพลงน่าเบื่อ” คุณจะบอกเขาว่าอย่างไร? จะไล่เขาออกจากชาตินั้นไปเลยไหม?

คนที่พูดแบบข้างต้นนี้มีตัวตนอยู่จริงๆ แถมยังเป็นนักฟุตบอลดังอีกต่างหาก เขาคือซลาตัน อิบราฮิโมวิช (Zlatan Ibrahimović: 1981-) นักเตะชาวสวีเดน ที่จริงถ้ามองจากมาตรฐานความเป็นคนชาติอะไร? จากสายตาของคนบางคนแล้ว อิบราฮิโมวิชอาจจะดูไม่ค่อยเป็นสวีดิชแท้สักเท่าไหร่ เพราะว่าพ่อของเขาเป็นคนบอสเนีย (Bosnian) เป็นมุสลิมอีกต่างหาก ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวโครเอเชีย (Croats, Hrvati) ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก (Roman Catholic) พ่อของเขาอพยพมาอยู่สวีเดนตั้งแต่ปี 1977 แม่ก็เช่นเดียวกัน ทั้งคู่พบรักกันที่สวีเดน ดังนั้นอิบราฮิโมวิชจึงเกิดที่สวีเดนและถือว่าเป็นชาวสวีดิช (Swedish) เต็มตัว เขาเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็กจนติดทีมชาติ ตอนหลังไปเล่นให้สโมสรดังอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United) หรือปารีสแซงแยร์แมง (Paris Saint-Germain) เป็นกัปตันทีมชาติสวีเดน และถือว่าเป็นฮีโร่ของชาวสวีเดนเต็มตัว

อิบราฮิโมวิชยอมรับว่าด้วยความที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ไม่ได้เป็นคนสวีเดน เขาจึงพูดภาษาสวีเดนไม่ได้แบบสมบูรณ์แบบ แถมหน้าตาก็ยังเป็นส่วนผสมของตะวันออกตะวันตก แต่กระนั้น เขาก็ยืนยันว่าเขาคือคนสวีเดนเต็มตัว "ถึงยังไง ผมก็เป็นคนสวีเดน" เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อหลายปีก่อน "เราทุกคนแตกต่างกัน แต่เราเท่าเทียมกัน พ่อของผมมาจากบอสเนีย เป็นมุสลิม แม่ของผมมาจากโครเอเชีย เป็นคาธอลิก แต่ผมเกิดในสวีเดนและเป็นพลเมืองสวีเดน คุณเปลี่ยนสิ่งนี้ไม่ได้" ที่สำคัญ ใครก็เปลี่ยนความรู้สึกเบื่อเพลงชาติของเขาไม่ได้ด้วย!

หลายคนชอบวิ่งในสวนสาธารณะ แต่บางคนอาจจะบอกตรงๆ ว่า ถ้าวิ่งตอนเช้าก็จะวิ่งให้เสร็จก่อนแปดโมงเช้า ถ้าไปวิ่งตอนเย็นก็มักจะไปวิ่งหลังหกโมงเย็น เพราะไม่อยากหยุดวิ่งเวลาเพลงชาติดังขึ้น พูดแบบนี้สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะมีคนบอกว่า "ไม่รักชาติใช่ไหม? เป็นคนไทยหรือเปล่า? หูดับหรือยังไง? ไม่ได้ยินเพลงชาติหรือ? ได้ยินแล้วทำไมไม่หยุด?" แต่ส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าสวนสาธารณะในเวลาที่เพลงชาติดังขึ้นจะหยุดเสมอ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะแปลว่ารักชาติจังเลย หรือว่าเป็นคนไท้ยคนไทยอะไรทำนองนั้น เพราะความจริงแล้ว หลายๆ คนก็ไม่ได้อยากจะหยุดหรอก แต่ที่หยุดก็เพราะมีเหตุผลบางอย่าง

แต่ก่อนจะบอกว่าทำไมถึงต้องหยุด ขออนุญาตทำความเข้าใจกับคำว่าสวนสาธารณะของไทยเสียก่อน เพราะเอาเข้าจริงแล้วคิดว่าพื้นที่ที่เราสักแต่จะเรียกกันไปพล่อยๆ ว่าสวนสาธารณะนั้นมันไม่มีความสาธารณะ (Public) สักเท่าไหร่หรอก นิยามของพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่ต้องปลอดจากอำนาจของสถาบันใหญ่ในสังคมถึงจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง อำนาจใหญ่ๆ ที่ว่าก็มีอาทิ อำนาจรัฐกับอำนาจทุน แต่ถ้าเราทอดตาดูสวนสาธารณะในไทย เราจะพบว่าแทบทั้งหมดถูกกำกับสั่งการโดยอำนาจรัฐแทบทั้งสิ้น หรือในบางพื้นที่ก็อยู่ในอำนาจทุน แต่เราไม่เคยมีจัตุรัสกลางเมืองหรือสวนสาธารณะหรือสาธารณูปโภคทางปัญญาอื่นๆ ที่เป็นของคนทั่วไป ที่สร้างกลไกให้คนทั่วไปสามารถมีสิทธิกำหนดได้ว่าอยากให้พื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างไร ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่ารัฐไทยไม่เคยมีสำนึกสาธารณะในอันที่จะให้ประชาชนคนทั่วไปที่เป็นคนธรรมดาสามัญสามารถสร้างพื้นที่อะไรขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นสวนสาธารณะส่วนใหญ่ในไทยจึงไม่ใช่สวนสาธารณะที่มีความสาธารณะตามความหมายแท้จริงของมัน ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าถ้ารัฐไทยเลือกจะเปิดเพลงชาติในพื้นที่ที่เรียกว่าสวนสาธารณะที่ไม่ได้สาธารณะจริงจึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรในสายตาของรัฐไทย การทำอะไรแบบนี้น่าจะถูกต้องชอบธรรมที่สุดแล้วด้วย

ก็แหม! ต้องเจียมตัวไว้หน่อยนะว่าเพราะสวนสาธารณะไม่ใช่ของอ้ายอีพวกที่มาวิ่งมาเดินมาปูเสื่อมานั่งเล่นกันสำราญบานใจนี่นา แต่เป็นของรัฐซึ่งสกัดเอาประชาชนออกไปจากรัฐตั้งนมนานแล้วต่างหากเล่า เมื่อเป็นของรัฐ รัฐจึงมีสิทธิจะทำอะไรกับพื้นที่เหล่านี้ก็ได้ จะออกกฎอะไรเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องคิดสร้างกลไกให้คนอื่นๆ มามีส่วนร่วมด้วย จะปลูกอะไรก็ปลูก จะซื้อต้นไม้อะไรจากที่ไหนไกลโพ้นมาปลูกก็เป็นเรื่องของรัฐ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมามีส่วนร่วมด้วยได้ ดังนั้นถ้ารัฐจะป่าวประกาศอุดมการณ์ต่างๆ ของรัฐในสวนสาธารณะที่ย้ำว่าไม่ได้สาธารณะจริง คนอื่นในฐานะผู้มาแบมือขอใช้บริการก็ต้องจำยอมไป เพราะพวกคุณไม่ใช่เจ้าของพื้นที่สาธารณะนี้ มันคือพื้นที่ของรัฐที่รัฐเอื้อเฟื้อเมตตามอบให้มาใช้ประโยชน์ต่างหาก สุขภาพของประชาชนจะได้ดีๆ เป็นทรัพยากรบุคคลทำงานให้ประเทศชาติตอบแทนกลับไปได้ แถมยังมาใช้ได้ฟรีๆ ด้วย ดังนั้นจะจ่ายด้วยการหยุดยืนตอนเพลงชาติดังเสียหน่อยนี่ไม่ได้หรืออย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงควรต้องหยุดยืนเวลาเพลงชาติดังขึ้นในสวนสาธารณะ เพราะคิดว่ามันคือราคาที่ต้องจ่ายในการใช้พื้นที่ที่ถูกเรียกว่าสาธารณะของรัฐไทยก็เท่านั้น คงยังไม่ต้องถึงขั้นเบื่อเพลงชาติไทยเหมือนอิบราฮิโมวิชหรอก!

เอาเข้าจริง คิดว่ากำเนิดเพลงชาติของแต่ละชาติน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดและจิตสำนึกของคนในชาตินั้นๆ ออกมาได้ไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงลองไปค้นประวัติของเพลงชาติใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมนีดู ที่ไม่มีอังกฤษก็เพราะเพลงชาติของอังกฤษคือ God Save the Queen อันดูเหมือนจะเทียบเท่ากับเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยมากกว่าเพลงชาติ เลยไม่ขอพูดถึง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เพลงชาติของชาติใหญ่ๆ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานเหล่านี้ เพลงชาติของพวกเขาล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปที่เกิดจากประชาชน หรือไม่อย่างน้อยที่สุดก็ถูกวิพากษ์โดยประชาชนได้ทั้งนั้น

ตัวอย่างแบบเบาะๆ ก็คือเพลงชาติของเยอรมนี คือ Das Deutschlandlied หรือ The Song of Germany เดิมทีเป็นเพลงที่ไฮเดิ้น (Franz Joseph Haydn: 1732-1809) แต่งถวายจักรพรรดิฟรานซิสที่ 2 (Francis II, Holy Roman Emperor: 1768-1835) ในปี 1797 แต่เพิ่งถูกนำมาใช้เป็นเพลงชาติในปี 1922 ก็เป็นเพลงที่ผ่านความเข้มข้นของการรวมชาติมามากต่อมากกว่าจะได้กลายมาเป็นเพลงชาติ และในขณะเดียวกันก็ถูกวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักด้วย บางวลีในเพลงชาติเยอรมันนั้นถูกฟรีดริช นีทเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche: 1844-1900) วิพากษ์ว่าเป็นวลีที่โง่เง่าที่สุดในโลก คือ Deutschland über alles หรือ Germany above all ซึ่งปรากฏในท่อนแรกของสามท่อน จนในปัจจุบัน เพลงชาติเยอรมันอย่างเป็นทางการใช้เฉพาะท่อนที่สาม ไม่ใช้ท่อนแรก ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะอิทธิพลของคำวิจารณ์ของนีทเช่หรือเปล่า? เพราะถ้าคิดให้ลึกซึ้ง มันก็มีนัยบ่งบอกถึงความชาตินิยมที่ประหวัดไปถึงแนวคิดแบบนาซีได้เหมือนกัน

ฝรั่งเศสเป็นอีกชาติหนึ่งที่เพลงชาติไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เพลงชาติอย่าง La Marseillaise เดิมเป็นเพลงสงครามชื่อ Chant de guerre pour l’Armée du Rhin หรือเพลงสงครามแด่กองทหารแห่งแม่น้ำไรน์ เพลงนี้ไม่ได้อยู่ๆ ก็กลายมาเป็นเพลงชาติ แต่ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution: 1789-1799) เพลงนี้ถูกนำมาใช้ในการเดินขบวนประท้วงอย่างแพร่หลาย เพราะคนหนุ่มสาวร้องเพลงนี้เดินจากมาร์เซยส์ (Marseille) จนถึงปารีส (Paris) ทำให้ได้ชื่อใหม่ว่า La Marseillaise และเราก็รู้กันอยู่ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสมีความหมายต่อประเทศแห่งนั้นมากแค่ไหน

ส่วนในอเมริกา เพลง The Star-Spangled Banner ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ทว่าดั้งเดิมทีเดียวเป็นบทกวีที่ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ (Francis Scott Key: 1779-1843) เขียนขึ้นเนื่องจากความประทับใจที่ได้เห็นฉากการสู้รบที่ป้อมแม็คเฮนรี่ (Fort M'Henry) ที่เมืองบัลติมอร์ (Baltimore, Maryland) ในปี 1812 แรกทีเดียวมันเป็นแค่บทกวี แต่ถูกนำมาใส่กับทำนองเพลงที่ร้องในวงเหล้าเรียกว่า Drinking Song ซึ่งเป็นทำนองเก่าแก่ของอังกฤษ และได้รับความนิยมในอเมริกายุคอาณานิคม ต่อมาเพลงนี้แพร่หลายเรียกได้ว่าเป็นเพลงป๊อบเพลงหนึ่งของยุคสมัย จนอีกร้อยกว่าปีต่อมาจึงได้รับการประกาศให้เป็นเพลงชาติของอเมริกาในปี 1931 โดยผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส (United States Congress) ที่ประชาชนเลือกตั้งมาในยุคของประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Clark Hoover: 1874-1964) ที่ประชาชนก็เลือกตั้งมาอีกนั่นแหละ!

กรณีของอเมริกานั้นน่าสนใจตรงที่เพลงชาติอย่าง The Star-Spangled Banner แม้เมื่อได้รับเลือกแล้ว แต่ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาการของเพลงไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือมันไม่ได้ตายซากกลายเป็นเพลงขึ้นหิ้งอยู่เฉยๆ แต่ถูกปลุกปั้นหรือ Shape โดยประชาชนอยู่เกือบตลอดเวลา ครั้งที่ฮือฮาที่สุดเพราะเป็นครั้งแรกก็คือในปี 1968 เมื่อโฮเซ่ เฟลิเซียโน (José Monserrate Feliciano García: 1945-) นำเพลงนี้ไปร้องโดยทำให้กลายเป็นเพลงเศร้า ผิดแผกไปจากเพลงชาติตามธรรมเนียม ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามเวียตนาม (Vietnam War or Second Indochina War: 1955-1975) จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทำนองว่านำเพลงชาติมาต่อต้านสงคราม ทั้งที่เพลงชาติควรสร้างความฮึกเหิม แต่ต่อมาผู้คนก็เริ่มนำเพลงชาติมาร้องเล่นบรรเลงและตีความในสไตล์ของตัวเองเหมือนที่เฟลิเซียโนทำ จนมีเพลงนี้มากมายหลายเวอร์ชันจนนับไม่ถ้วน และอำนาจรัฐของอเมริกาก็ดูจะภูมิใจกับเรื่องนี้มาก แม้ในพิพิธภัณฑ์เพลงชาติที่สถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ก็ยังมีการนำเพลงชาติในเวอร์ชันต่างๆ มาเปิดให้ฟังด้วย

เพลงชาติของอเมริกาจึงถูกนำลงมาจากหิ้ง ลงมาจากความตายซาก ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์แบบงมงายไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ปรับเปลี่ยนได้ เพราะรัฐธรรมนูญของอเมริกาให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกเหนือสิ่งอื่นใด ที่สำคัญก็คือเสรีภาพเหล่านั้นอาจสำคัญเหนือกว่าตัวธงชาติและตัวรัฐธรรมนูญเองด้วยซ้ำ! ในอเมริกาจะมีการกล่าว Pledge หรือ Pledge of Allegiance คือการสาบานต่อหน้าธงชาติว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศ ซึ่งฟังดูน่าจะยิ่งใหญ่และทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่เชื่อไหมว่าการบังคับให้ใครกล่าว Pledge นั้นเป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญและสามารถฟ้องร้องกันได้เลยทีเดียว กลุ่มแรกที่ออกมาขัดขืนการ Pledge ก็คือกลุ่มศาสนาที่เรียกว่ายะโฮวาห์วิตเนส (Jehovah's Witnesses) ซึ่งจะไม่ยอมสาบานต่อหน้าอำนาจอื่นใดนอกจากพระเจ้า การบังคับให้คนอื่น Pledge จึงเป็นการขัดเสรีภาพในการนับถือศาสนา การ Pledge จึงไม่ใช่ภาคบังคับที่จะต้องให้ทุกๆ คนทำ เว้นแต่จะไปสมัครเป็นพลเมืองอเมริกันก็ต้องสอบ Pledge แต่คือความสมัครใจ ฟังดูแล้วน่าอิจฉานะที่ใครๆ ก็สามารถลุกขึ้นมาโต้แย้งอำนาจรัฐได้เสมอ แต่ก็นั่นแหละ นั่นคือประเทศของใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่สวนสาธารณะในรัฐไทยเสียหน่อย จะไปสนใจทำไม!

ถ้าอย่างนั้น มาดูเพลงชาติไทยของเรากันดีกว่าว่ามีที่มาอย่างไร? บอกกันตรงๆ เพลงชาติอันเป็นที่รักของเรามีที่มาจากการถูกสั่งให้แต่งโดยคณะราษฎร์ที่ส่วนหนึ่งก็สืบทอดวิธีคิดแบบอำนาจนิยมมาจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเต็มตัวอันเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก! พระเจนดุริยางค์หรือปีติ วาทยะกร (1883-1968) นั้นได้ปฏิเสธการแต่งเพลงชาติไปหลายครั้ง จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงหมดหนทางที่จะบ่ายเบี่ยง และให้สัญญาว่าจะแต่งภายใน 7 วัน (ว่ากันว่าไปคิดทำนองได้บนรถเมล์เมื่อได้ยินคนพูดคุยกัน ซึ่งเราจะเห็นว่าทำนองเพลงชาติไทยนั้นดูกระหนุงกระหนิงน่ารักเหมือนคนโต้ตอบกันมากกว่าจะฮึกเหิม) ทีนี้เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปว่าพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติให้กลุ่มอำนาจใหม่ กลุ่มอำนาจเก่าก็ตำหนิและมีการลงโทษท่านด้วย แม้จะให้รับราชการต่อไปได้ก็ตาม เพราะฉะนั้น กำเนิดเพลงชาติของไทยจึงมีเรื่องของอำนาจ การเมือง และการบังคับเข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อยทีเดียว

จะเห็นว่าเพลงชาติของหลายประเทศใช้เวลาสั่งสม ใช้เวลาในการเติบโตเรียนรู้ประสบการณ์ทางสังคมและการเมืองไปพร้อมๆ กับประชาชนของตนเอง แต่เพลงชาติของเราเป็นเพลงชาติที่เกิดขึ้นด้วยการสั่งแบบสำเร็จรูป โดยใช้เวลาถือกำเนิดแค่ 7 วัน น้อยกว่าเวลาอยู่ในครรภ์ของราษฎรเสียอีก อาจเพราะอย่างนี้ เพลงชาติของเราจึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องดัดแปลงเปลี่ยนแปร นอกจากผู้มีอำนาจรัฐที่เปลี่ยนชื่อประเทศแล้วเปลี่ยนเนื้อร้อง ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพลงนี้เพราะหรือไม่เพราะอย่างไรบ้าง ไม่มีใครคิดจะร้องเพลงชาติให้เศร้าสร้อยแบบที่โฮซ่ เฟลิเซียโน ร้องเพลงชาติของตัวเองเพื่อต่อต้านสงคราม ไม่มีใครคิดจะร้องให้ยิ่งใหญ่อลังการแบบที่วิทนีย์ ฮุสตัน (Whitney Elizabeth Houston: 1963-2012) ร้องในงานซูเปอร์โบลว์ (Super Bowl, Sports League Championship) และไม่มีใครคิดร้องเพลงชาติให้ติดสำเนียงบ้านนอกเป็นเพลงชาติแบบลูกทุ่งเหมือนที่ลีแอน ไรม์ส (Margaret LeAnn Rimes Cibrian: 1982-) ทำกับเพลงชาติอเมริกัน อย่าว่าแต่จะออกมาบอกว่าเพลงชาตินั้นน่าเบื่อเลย!

คิดว่าที่เป็นอย่างนี้ สะท้อนโต้ตอบกันดีงามเหลือเกินกับการที่เพลงชาติของเราถือกำเนิดมาจากการถูกสั่ง ซึ่งดูไปดูมาก็คล้ายจะสอดรับกับจริตของราษฎรไทยที่ถูกสั่งมาชั่วกาลไม่เคยเปลี่ยนอย่างเหมาะเหม็ง พูดอีกแบบก็คือ นี่คือความเป็นไทยที่แท้!

หลายคนอาจจะบอกว่าที่อิบราฮิโมวิชกล้าพูดว่าเพลงชาติของตัวเองน่าเบื่อ ก็เพราะว่าเขาเป็นคนดัง เป็นวีรบุรุษของประเทศน่ะสิ! แต่อยากจะบอกว่ามันไม่ใช่แค่นั้นหรอกนะ เพราะพออิบราฮิโมวิชบอกว่าเพลงชาติน่าเบื่อ ทำให้เขาไม่ค่อยร้องเวลาลงสนามแล้วมีการเปิดเพลงชาติ ก็มีอำนาจทุนกลุ่มหนึ่งซึ่งในด้านหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มทุนที่เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของสวีเดน คือบริษัทรถยนต์แบรนด์หนึ่งที่ลงทุนทำเพลงชาติสวีเดนขึ้นมาใหม่ โดยมีการเรียบเรียงใหม่ ตีความใหม่ แล้วให้อิบราฮิโมวิชมาร้อง จริงๆ คือพูดประกอบเพลงออกมามีลักษณะคล้ายๆ เลาจน์มิวสิค (Lounge music) ดูไม่เหมือนเพลงชาติตามขนบ (คือต้องฮึกเหิม ฟังแล้วอยากออกไปรบกับอะไรสักอย่าง) แถมยังได้รางวัลอีกต่างหาก เพราะมีคนสตรีมมิ่งกันหลายล้าน

ที่น่าสนใจก็คือ ไม่ได้มีคนสวีเดนออกมาต่อต้านขับไสไล่ส่งอิบราฮิโมวิชออกไปจากประเทศ หรือลุกขึ้นมาถามว่า เอ๊ะ! เป็นคนสวีเดนหรือเปล่า? พ่อกับแม่ก็ไม่ใช่สวีเดนนี่? รับเงินต่างชาติมาทำลายอัตลักษณ์ของประเทศหรือเปล่า? แต่กลับได้รับการตอบรับที่ดี หลายคนบอกว่านี่คือการบอกเล่าถึงสวีเดนใหม่ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการตีความเพลงชาติเสียใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนเลิกร้องเพลงชาติแบบเก่านะ นั่นก็ยังอยู่ โดยเพลงชาติแบบใหม่ถือว่าเป็น Rendition หรือการตีความหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับที่คนอเมริกันสามารถตีความเพลงชาติของตัวเองอย่างไรก็ได้นั่นแหละ

bottom of page