top of page

บันทึกการอ่าน: ไม่ว่าจะกะหรี่หรือดอกทองก็ไม่ใช่คำไทย แล้วทำไมต้องเอามาใช้ด่ากัน?


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

ไม่ว่าจะกะหรี่หรือดอกทองก็ไม่ใช่คำไทย แล้วทำไมต้องเอามาใช้ด่ากัน?

เขียนโดยศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (Siripoj Laomanacharoen)

ที่มา: https://thematter.co/thinkers/hi-hello-why-curry-a-dork/6732

เวลาที่สาวๆ คนไหนถูกตราหน้าว่ากะหรี่ นี่นางก็คงเจ็บน่าดูเลยนะ เพราะถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้ประกอบสัมมาอาชีวะนั้นก็เถอะ แต่ก็อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ากะหรี่คือศัพท์ในภาษาไม่เป็นทางการหมายถึงหญิงผู้ให้บริการทางเพศ การโดนตีตราด้วยเสียงสูงว่ากะหรี่จึงเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงตามมาตรฐานความเป็นไทยอย่างจงหนักเลยทีเดียว แต่การทำความเข้าใจรากเดิมของคำว่ากะหรี่ว่ามีที่มาจากไหนและแปลว่าอะไร? ทำไมถึงกลายมาเป็นศัพท์แสลงที่ออกจะฟังแล้วชวนให้รู้สึกแสลงใจ? และกลายมาหมายถึงหญิงผู้ประกอบอาชีพนี้ได้? ก็อาจจะทำให้เรารู้ตัวเพิ่มขึ้นด้วยว่าเวลาที่ปรามาสหรือตีตราใครด้วยถ้อยคำผรุสวาทหยาบคายในภาษาไทยทั้งหลายนั้น เราไม่ได้กำลังดูหมิ่นเฉพาะคนที่เราตีตราประทับให้กับเขาเท่านั้น แต่กำลังผลิตซ้ำการเหยียดหยามถึงอะไรบางอย่างที่เราเอามาใช้เป็นคำกล่าวว่าด่าทอนั่นแหละ

ใครหลายคนอาจจะเข้าใจว่ากะหรี่มาจากคำว่า Curry ซึ่งหมายถึงแกงกระหรี่ แต่ว่าเจ้าคำศัพท์ที่หมายถึงแกงประเภทหนึ่งคำนี้ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเชื่อมโยงถึงหญิงผู้ประกอบอาชีพการขายบริการทางเพศเลยสักนิด ดังนั้นคำว่ากะหรี่ในภาษาไทยจึงควรจะมีที่มาจากคำอื่นมากกว่า และคำๆ นั้นน่าจะเป็นคำว่าช็อกกะรี

ช็อกกะรีหรือโฉกกฬีเป็นภาษาฮินดีที่ใช้แพร่หลายกันในอินเดีย แปลว่าเด็กผู้หญิง (ตรงกันข้ามกับช็อกกะราหรือโฉกกฬาที่แปลว่าเด็กผู้ชาย) ซึ่งแม้จะไม่ได้หมายถึงหญิงผู้ขายบริการทางเพศเหมือนอย่างที่คนไทยเราหมายถึงอย่างชี้เฉพาะเจาะจงเลยก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะอย่างนี้แหละที่ทำให้มันกลายเป็นประเด็นสำคัญ เพราะการเลือกที่จะใช้คำในภาษาอื่นที่ความจริงแล้วเขาหมายถึงแค่เพียงเด็กผู้หญิงธรรมดา สำหรับในการหมายความถึงหญิงผู้ขายบริการทางเพศ มันก็พอจะมองเห็นได้ไม่ยากนักหรอกใช่ไหมว่าเราจัดวางพวกเขาผู้เป็นเจ้าของคำในภาษานั้นไว้อยู่ตรงไหนในสังคมของเรา ดังนั้นไม่ว่าเราจะผรุสวาทใส่ใครว่ากะหรี่ก็ตามแต่ มันไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเธอที่กำลังถูกหยามหยันศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงแบบไทยๆ นางนั้นอยู่คนเดียว เพราะโดยรากที่มาของคำ มันก็กำลังตีตราความเป็นอื่นอย่างดูหมิ่นเหยียดหยามไปในคราวเดียวกันนั้นด้วย

ตีคู่มากับกะหรี่ ยังมีอีกคำคือดอกทองซึ่งเป็นคำที่เก่าแก่มากพอดู เพราะมีหลักฐานอยู่ในพระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากันอันเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวงซึ่งตราขึ้นเมื่อ 1449 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (1431-1488) มีมาตราหนึ่งระบุคำ 'อี่ดอกทอง' ว่าเป็นคำหมิ่นประมาท และถ้าใครโดนปรามาสด้วยคำนี้ก็สามารถฟ้องเรียกสินไหมได้ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่าในยุคนั้นจะมีใครจะฟ้องร้องกันด้วยเรื่องนี้หรือเปล่า? เพราะตัวอย่างเดียวที่เราพอมีว่าในสมัยอยุธยาจะมีใครด่าทอกันด้วยคำนี้ก็ดันอยู่ในวรรณคดีเสียอีก และวรรณคดีเรื่องนั้นก็คือมโนราห์

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า แม่ของนางมโนราห์คือนางเทวีฝันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ และเรื่องก็เป็นไปตามสูตรของหนังจักรๆ วงศ์ๆ ที่จะต้องมีใครสักคนหนึ่งมาทำนายฝันให้ ดังนั้นพราหมณ์โหรก็เลยมาทำนายฝันให้นางเทวีว่า ลูกสาวคนสุดท้องคือนางมโนราห์กำลังมีเคราะห์ อย่าให้ออกนอกบ้านไปขึ้นน้ำลงท่า เพราะจะโดนพรานป่าจับไป และแน่นอนว่านางมโนราห์จะต้องอยากออกจากบ้านไปเล่นน้ำกับบรรดาพวกพี่สาวของเธอ นางเทวีจึงไปห้ามไว้ ส่วนลูกสาวเธอก็ไม่ยอม อยากไปแว๊นซ์ใจจะขาด สุดท้ายก็เลยทะเลาะด่าทอกัน โดยนางเทวีว่าก่อนว่า

"เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจแข็งใจกล้า กูจะพลิ้วหิ้วขา หน้าตากูจะตบให้ยับไป ไว้กูจะเหยียบเอาหัวตับ ไว้กูจะยับเอาหัวใจ ปากร้ายมาได้ใคร พวกอีขี้ร้ายชะลากา ขวัญข้าวเจ้าแม่อา ตัวแม่ก็ทำเป็นไม่สู้ รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง"

แต่ไม่ใช่โดนว่าอย่างนี้แล้วนางมโนราห์จะยอมใจให้คุณแม่ของนาง เพราะเธอก็ตอกนางเทวีกลับไปอย่างแสบๆ คันๆ ด้วยคำ 'ดอกทอง' เหมือนกัน แถมยังตอกกลับแบบเป็นคอมโบเซ็ตเลยว่า

"นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง ทั้งพี่ทั้งน้อง เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์ ดอกทองเสมือนกัน ทั้งองค์พระราชมารดา"

เอาเป็นว่าเรื่องในครอบครัวของนางมโนราห์เราอย่าไปยุ่งเขาเลย เพราะก็ไม่มีรายงานว่าแม่ลูกคู่นี้เขาไปฟ้องเรียกค่าสินไหมกันหรือเปล่า? เรื่องที่น่าสนใจสำหรับเรามากกว่าก็คือ ทำไมต้องดอกทอง? ข้อความในพระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากันสมัยอยุธยาที่ว่า ระบุคำ 'ดอกทอง' เอาไว้ในบริบทที่ว่า "มึงทำชูเหนือผัวกูก็ดี แลด่าท่านว่าอี่แสนหกแสนขี้จาบ อี่ดอกทอง อี่เยดซ้อน ก็ดี สรรพด่ากันแต่ตัวประการใดๆ" ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าดอกทองสมัยอยุธยาหมายความว่าอย่างไร? แม้จะยังสรุปกันไม่ได้ชัดว่าทำไมต้องดอกทอง แต่ก็มีผู้รู้สันนิษฐานว่าคำนี้เกี่ยวพันกับภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า 'หลกท่ง 錄寵' ซึ่งแปลว่าหญิงโสเภณี ซึ่งภาษามลายู (Bahasa Melayu) ยืมไปใช้เป็นคำว่า Loktong เช่นกัน แถมคำว่า 'ลก’ เฉยๆ ในภาษาฮกเกี้ยน (Hokkien, Southern Min or Minnan) ก็แปลว่าหญิงขายบริการทางเพศ เมือประกอบกับคำว่า 'เช้า' เป็น 'เช้าลก' จะการเป็นคำด่าว่า 'หญิงโสเภณีที่เหม็นโฉ่'

ส่วนทำไมคนในสมัยอยุธยาต้องไปยืมคำว่า 'โสเภณี' มาจากภาษาจีน? นี่อาจจะตอบยากหน่อยเพราะไม่มีหลักฐานทางตรงระบุเอาไว้เลย แต่น่าสังเกตว่า ในเอกสารที่ชื่อ 'คำให้การขุนหลวงหาวัด' ซึ่งก็เป็นคำให้การของเชลยศึกที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันหลังอยุธยาถูกตีแตกในปี 1767 มีข้อความระบุว่า "ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครชัย มีหญิงละครโสเพณีตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย" แปลง่ายๆ ว่ามีซ่อง หรือที่ในสมัยอยุธยาเรียกว่าสถานรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษอยู่ในย่านคนจีน ซึ่งก็คือ เยาวราชหรือสำเพ็งในยุคนั้น การที่จะมีโสเภณีจีนหรือมีคนจีนเรียกผู้หญิงเหล่านี้ด้วยสำเนียงของตนเองจึงไม่น่าจะแปลกอะไรนัก

แต่การที่นางเทวีและนางมโนราห์ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงที่จะประกอบอาชีพอย่างนี้แน่ๆ มาด่าทอกันด้วยคำว่า 'ดอกทอง' นี่สิแปลก เพราะนอกจากแม่และลูกจะเหยียดกันเองแล้ว ยังไปเหยียดพวกเธอผู้ประกอบอาชีพรับกระทำชำเราแก่บุรุษ แถมเหยียดไม่เหยียดเปล่า ยังเหยียดกันด้วยคำที่ไม่ใช้แม้กระทั่งภาษาของตนเองอีกด้วย คำว่า 'ดอกทอง' จึงมีนัยยะถึงการหยามหยันความเป็นอื่น ไม่ต่างอะไรไปจาก 'กะหรี่' ต่างไปจากความเป็นไทยที่อะไรก็ดี เพราะกดคนอื่นเขาเสียจนแบนแต๊ดแต๋ จะกะหรี่หรือดอกทอง ไม่ว่าจะทำเสียงสูงหรือพูดด้วยเสียงต่ำ นอกจากคนที่ถูกตราหน้าว่าอย่างนั้นแล้วก็ยังมีรากของความเป็นอื่นที่ถูกตีตราเอาไว้ด้วยว่ามีดีไม่สู้ไทย!

bottom of page