top of page

บันทึกการอ่าน: การกระจายอำนาจคืออนาคตของประเทศไทย


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

การกระจายอำนาจคืออนาคตของประเทศไทย

เขียนโดยชำนาญ จันทร์เรือง

ที่มา: https://thefuturewewant.today/decentralization-is-the-future-of-thailand/

พลันที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของตนที่ตั้งใจจะเข้ามาทำการเมืองในการเลือกตั้งที่หากจะมีขึ้นในคราวที่จะถึงนี้ ผลที่ตามมามีทั้งการตอบรับอย่างมากมาย และแน่นอนว่าย่อมมีเสียงที่ไม่เห็นด้วยตามมาเช่นกัน แต่ประเด็นที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งว่าการกระจายอำนาจจะถูกสานต่อหลังจากที่เรียกได้ว่าถูกทำให้หยุดอยู่กับที่มาเกือบ 4 ปี อันที่จริงแล้วกระแสการขับเคลื่อนของการกระจายอำนาจของไทยมีมาโดยตลอดตั้งแต่อดีต การขับเคลื่อนเพื่อการกระจายอำนาจที่เห็นเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ 30-40 กว่าปีก่อนที่ไกรสร ตันติพงศ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอแนวความคิดที่จะให้เชียงใหม่มีกฎหมายเป็นของตนเอง แต่พอไกรสรได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมความคิดดังกล่าวก็เลือนหายไป ตามมาด้วยถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์และ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ก็ออกมารณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง

ที่เกือบจะเป็นมรรคผลก็ตอนที่พรรคพลังธรรมของจำลอง ศรีเมือง เสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์โดยมีชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ให้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็ถูกต่อรองจนต้องแก้เป็นว่าในจังหวัดที่มีความพร้อม ซึ่งก็ยังไม่บังเกิดผลอันใดเลยจวบจนปัจจุบัน เพราะพวกที่ยังหวงอำนาจต่างก็อ้างว่ายังไม่พร้อมๆๆๆ เว้นแต่กรุงเทพมหานครซึ่งดำเนินการไปก่อนแล้วโดยไม่เกี่ยวกับข้อเสนอที่ว่านี้

จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2552 ได้เกิดวิกฤติทางการเมืองว่าด้วยเหลืองแดงจนเกิดการรวมตัวของเหลืองและแดงขึ้นมาเพื่อแก้ไขวิกฤติของเชียงใหม่ที่เกิดการปะทะกันจนทำให้เศรษฐกิจของเชียงใหม่แทบจะพังพินาศ โดยร่วมกันวิเคราะห์เหตุของปัญหาว่าเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองและการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในแก้ไขปัญหาของตนเอง จึงได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามเวทีต่างๆ อยู่เสมอ จวบจนเดือนมกราคม 2554 จึงได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ขึ้นมา โดยมีหลักการที่สำคัญคือ

  1. ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดยราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง และการจัดการบริหารบุคลากรได้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องหลักคือ การทหาร ระบบเงินตรา การศาล และการต่างประเทศ โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ (Two Tiers) แบบญี่ปุ่นคือ ระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่ โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารที่อิสระต่อกันเป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน

  2. ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้ระบบการตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างดุลยภาพ 3 ส่วนคือ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมือง (Civil Juries หรือ Citizen Juries) ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาในรูปแบบของการประชุมเมือง (Town Meeting) ที่ใช้ในแถบ New England และในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักการนี้รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจโดยตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ เช่น สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ กรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การเกษตร ฯลฯ

  3. การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ และคงไว้ที่จังหวัด 70 เปอร์เซ็นต์ กอปรกับการที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ได้สรุปไว้เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554 ว่าหากจะปฏิรูปประเทศไทยให้สำเร็จต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคและปฏิรูปการจัดการเกี่ยวกับที่ดิน กระแสการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคจึงได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง แต่น่าเสียดายที่กระแสการปฏิรูปที่ดินกลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

หลังจากนั้นจังหวัดต่างๆ นับได้ 50 กว่าจังหวัดได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาทิ ปัตตานีมหานคร ระยองมหานคร ภูเก็ตมหานคร ฯลฯ และในที่สุดคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้เคยมีการแนวความคิดที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเองฯ เพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายกลางสำหรับทุกๆ จังหวัดที่จะได้ไม่ต้องไประดมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการมาจนมีการยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 โดยมีรองประธานสภาฯ ไปรับด้วยตนเองถึงที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่น่าเสียดายที่มีการยุบสภาแล้วก็ตามมาด้วยการยึดสภาเมื่อววันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ตกไปโดยปริยาย รอการรื้อฟื้นเพื่อเสนอเข้าไปใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งก็คงต้องมีการปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัยต่อไป

การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในระดับบนมีข้อถกเถียงไม่เป็นข้อยุติ ไม่ว่าจะเป็นสภาเดียวหรือ 2 สภา มีองค์กรอิสระดีหรือไม่ดี ฯลฯ ยากที่จะเห็นพ้องร่วมกันได้ง่าย แต่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจนั้นทุกสีทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการจัดการเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง (Self Determination Rights) ที่ทั่วโลกและสหประชาชาติให้การรับรอง การกระจายอำนาจจะเป็นคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์ เพราะทุกฝ่ายทุกสีมีผลประโยชน์ร่วมกัน

การริเริ่มของกระบวนขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครหรือเชียงใหม่จัดการตนเองจนล่าสุด คือจังหวัดปกครองตนเองนั้นได้เป็นตัวอย่างที่สถาบันการศึกษา สถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ฯลฯ ได้นำไปศึกษากันอย่างกว้างขวาง และมีผู้ศึกษาวิจัยได้ลงพื้นที่มาสัมภาษณ์สอบถามกันอยู่อย่างต่อเนื่อง จะช้าหรือเร็ว จะมากหรือน้อย การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้น และหากจะต้องการให้ประเทศไทยมีอนาคตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงจะต้องมีการลดอำนาจส่วนกลาง แล้วกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะไม่มีประเทศใดที่ประชาธิปไตยในระดับชาติเข้มแข็ง โดยปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง (No State Without City) หรอก

bottom of page