top of page

บันทึกการอ่าน: ความฝันแรงงานนอกระบบ สวัสดิการแห่งรัฐที่อยากเห็นของคนจนเมือง 'ผู้กลับไม่ได้ ไปไม่


บันทึกการอ่าน (Reading Log):

ความฝันแรงงานนอกระบบ สวัสดิการแห่งรัฐที่อยากเห็นของคนจนเมือง 'ผู้กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง'

เขียนโดยเชตวัน เตือประโคน

ที่มา: https://thefuturewewant.today

้ย้อนกลับไปราวปี 2546 โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับแบรนด์ดังระดับโลกมากมายแห่งหนึ่งต้องการย้ายฐานการผลิตจากอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ไปอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะในส่วนของค่าแรงคนงานซึ่งขั้นต่ำในเขตเมืองใหญ่ขณะนั้นอยู่ที่ 157 บาทต่อวัน ขณะที่ในอำเภอแม่สอด ตกเพียงวันละ 50 บาทเท่านั้น ผู้ประกอบการตัดสินใจปิดโรงงาน โดยคิดว่าคนงานที่ถูกเลิกจ้างคงไม่มีปัญหาอะไร จึงไม่ยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าแรงชดเชยให้ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าคิดผิด เพราะคนงานรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องสิทธิ์ของตน ปักหลักอยู่ที่กระทรวงแรงงานยาวนานกว่า 3 เดือน ในที่สุดนายจ้างก็ต้องชดเชยตามที่เรียกร้อง แต่ที่หนักกว่านั้นคือชื่อเสียงของบริษัทย่ำแย่จากกระแสข่าวที่ออกมา โดยเฉพาะการเอารัดเอาเปรียบกดขี่แรงงานสารพัด ฯลฯ สุดท้ายการย้ายฐานการผลิตไปยังที่แห่งใหม่ถูกต่อต้านจนไม่อาจเกิดขึ้นได้ ต้องยุติบทบาทการผลิตไปในที่สุด

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของแรงงานนอกระบบ

ในซอยเล็กๆ ของถนนเอกชัยย่านบางบอน มีโรงงานมากมายตั้งเรียงรายอยู่ และหนึ่งในนั้นก็คือโรงงานของกลุ่มคนงานที่ถูกเลิกจ้างในเหตุการณ์ดังกล่าว ที่มีชื่อว่า Solidality Group หรือโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ "โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน" มานพ แก้วผกา อายุ 38 ปี ผู้ประสานงานกลุ่มสมานฉันท์ ย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของพวกเขาว่ามาจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ที่ควรได้รับ "การเลิกจ้างตอนนั้น พวกเราไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่รู้สิทธิ์แรงงาน ต้องไปชุมนุมถึง 3 เดือน ได้เรียนรู้เรื่องกฎหมาย สิทธิต่างๆ แล้วมาคิดกันว่า ถ้ากลับสู่โรงงานก็คงโดนเอาเปรียบอีก ในเมื่อเราช่วยกันทำงานให้นายจ้างได้ ทำไมเราไม่ช่วยกันทำโรงงานให้ตัวเอง" จึงเป็นที่มาของโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ โดยทุนเริ่มต้นมาจากการกู้ธนาคารและหยิบยืมผู้อื่นมาใช้ตามประสาคนยาก ในที่สุดด้วยวงเงิน 1.5 ล้านบาทก็ทำให้พวกเขาก่อตั้งโรงงานได้

ทั้งนี้การเรียกสิ่งที่พวกเขาก่อตั้งนี้ว่าโรงงานก็คงไม่ถูกไปเสียทีเดียวนัก ด้วยสภาพการทำงานนั้นคล้ายรับเอางานเย็บผ้าซึ่งเป็นความสามารถหลักของพวกเขามาทำที่บ้านมากกว่า เพราะแทบทุกชีวิตก็กินอยู่หลับนอนอยู่ด้วยกันที่นี่ "ตอนมาอยู่แรกๆ โรงงานแถวนี้มองว่าเราเป็นพวกหัวรุนแรง พวกที่มาจากการประท้วง เลยไม่ยอมจ่ายงานให้ เราต้องออกไปหางานไกลถึงบางนา พระโขนง รับมาทำในราคาถูกมาก" มานพเปิดเผยด้วยว่า เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน ทำให้สมาชิกเริ่มต้นที่มีกว่า 40 คน ค่อยๆ หายไป บางส่วนกลับไปเป็นแรงงานในระบบ บางส่วนกลับบ้านต่างจังหวัด บางส่วนหันไปประกอบอาชีพอื่น ปัจจุบันเหลือสมาชิกราว 10 ชีวิต

"ตึกที่เราเช่าอยู่ปัจจุบันเดือนละ 21,000 บาท ต่อสัญญาทุก 2 ปี ซึ่งผู้ให้เช่าจะขอเพิ่มค่าเช่า 1,000 บาท ทุกๆ ครบสัญญา นอกจากนี้เขากำลังประกาศขายตึกด้วย ซึ่งถ้าขายได้ เราก็คงต้องออกไปหาที่อยู่ใหม่" ไม่มีใครอยากเป็นคนเร่หาที่อยู่ไปตลอดโดยไม่ลงหลักปักฐาน มานพและสมาชิกก็เช่นกัน พวกเขาอยากที่จะมีที่อยู่อาศัยมั่นคงเป็นหลักแหล่ง แต่คิดแล้วคงเป็นไปได้ยาก ธนาคารคงไม่ปล่อยเงินกู้ให้ เนื่องจากแรงงานนอกระบบอย่างพวกเขาไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีฐานข้อมูลรายได้แน่นอน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พวกเขาประสบ นอกจากนี้ชีวิตของแรงงานนอกระบบ สวัสดิการต่างๆ นั้นก็แตกต่างจากแรงงานในระบบค่อนข้างมาก พวกเขาไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ขึ้นอยู่กับการว่าจ้าง บางเดือนมีงานเข้ามามาก บางเดือนก็น้อย สำหรับในโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ โดยเฉลี่ยหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว แต่ละคนจะได้รับเงินราว 10,000 บาทต่อเดือน

ถามถึงเรื่องความคาดหวังของแรงงานนอกระบบอย่างพวกเขา? มานพบอกว่าผู้รับงานมาทำที่บ้านส่วนใหญ่มีความคาดหวังว่าถ้าเกษียณแล้วก็อยากกลับไปอยู่ต่างจังหวัด แต่อย่างไรก็ตาม บางคนก็ไม่มีที่ทำกินเหลืออยู่แล้ว "เรามีความหวังว่าถ้ารัฐจัดสวัสดิการดีๆ อย่างสวัสดิการบำนาญชราภาพ ที่ตอนนี้ 600 บาท ถ้าเพิ่มเป็น 2,000-3,000 บาท เราน่าจะสามารถอยู่ได้ในวัยเกษียณ หรือรัฐอาจมีโครงการสนับสนุนให้เรากลับบ้าน มีที่ทำกินจัดสรรให้ มีโครงการให้เราทำอาชีพที่ถนัดได้" ประโยคทิ้งท้ายก่อนที่จะลาจากกัน มานพกล่าวราวกับเป็นประโยคตัดพ้อว่า "เราเป็นคนจนเมืองที่บางคนอาจจะคิดว่าเป็นภาระ แต่เราคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ควรจะได้รับความคุ้มครอง ควรจะได้รับสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้ เพราะร่วมพัฒนาเศรษฐกิจมากับเขาส่วนหนึ่ง เป็นห่วงโซ่การผลิตเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้"

ความป่วยไข้ของป้าวรรณและความฝันของพี่พรลภา

เสียงจักรเย็บผ้าดังเป็นจังหวะไม่สม่ำเสมอ แกร๊ก แกร๊ก… แกร๊ก แกร๊ก… จากนั้นก็เงียบหายไปในตอนที่หญิงวัย 51 ปี หยิบผ้าขึ้นมาดูแนวตะเข็บ

'ป้าวรรณ - จารุวรรณ พลอิน' แรงงานนอกระบบตัดเย็บเสื้อผ้า คือหนึ่งในคนงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และร่วมหัวจมท้ายมากับโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ตั้งแต่เริ่มต้น ป้าวรรณกินอยู่หลับนอนที่โรงงานแห่งนี้ มีรายได้ไม่แน่นอนดังที่มานพได้เล่าให้ฟังไปแล้ว โดยเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือนที่ได้รับ เธอช่วยค่าน้ำค่าไฟให้กับโรงงาน 500 บาท แบ่งให้ลูกชายวัย 21 ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่งเดือนละ 3,000 บาท ส่งให้พ่อแม่ที่บ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์อีกเดือนละ 3,000 บาท สุดท้ายป้าวรรณจะเหลือติดตัวไว้ใช้ราวเดือนละ 3,000 กว่าบาท ซึ่งแทบไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงินเก็บที่เธอตอบอย่างเศร้าๆ ว่า "ไม่มี"

แต่ที่หนักกว่านั้น ป้าวรรณยังต้องใช้เงินรักษาโรคเบาหวานที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ด้วย โรคร้ายมาเยือนเมื่อหลายปีก่อน ป้าวรรณใช้สิทธิบัตรทองเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเธอรู้สึกว่าได้รับการดูแลเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง หมอและพยาบาลมาตรวจแบบไม่ค่อยเอาใจใส่ วินิจฉัยแต่เพียงว่าเธอจะต้องถูกตัดขาเพื่อระงับการแพร่ลามของเนื้อร้าย ขณะที่ป้าวรรณและเพื่อนร่วมงานอย่างมานพเชื่อว่าน่าจะมีทางรักษาแบบอื่นได้ จึงตัดสินใจย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ และก็ได้ผล อาการของป้าวรรณเริ่มดีขึ้น บรรเทาเบาลง และที่สำคัญคือเธอไม่ต้องสูญเสียขา ตามที่แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นได้วินิจฉัยไว้ เมื่อดีขึ้น ทางโรงพบาบาลรัฐแห่งนั้นต้องส่งตัวป้าวรรรณกลับไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งเดิมตามสิทธิ์บัตรทอง แต่ป้าวรรณไม่ยอมกลับไปอีกแล้ว เธอเข็ดขยาดกับสวัสดิการคนจนที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชน จึงขอย้ายสิทธิ์ไปใช้ที่โรงพยาบาลปราสาท อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด ปัจจุบัน ป้าวรรณต้องเดินทางกลับไปตรวจร่างกายทุกๆ 3 เดือน มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่ง

ถามถึงความหวังของเธอในวันนี้และวันหน้า? ในวันนี้ ป้าวรรณบอกว่าคงต้องตั้งใจทำงานส่งลูกจนเรียนจบปริญญาตรี อยากเห็นลูกมีหน้าที่การงานที่ดีทำ ทั้งนี้ ส่วนของตัวเองก็อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น ในวันที่ยังมีแรงทำทำงานได้ "ในอนาคตอยากกลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดสุรินทร์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองอายุมากแล้ว เริ่มทำงานไม่ไหว ตอนนี้สายตาก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อยากได้สวัสดิการที่ดี เกษียณแล้ว เบี้ยผู้สูงอายุก็อยากให้เพิ่มขึ้นมากกว่าตอนนี้"

แรงงานนอกระบบอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วย ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเธอและครอบครัวย้ายมาอยู่ที่โรงงานแห่งนี้พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีสมาชิกเยอะที่สุด นั่นคือ 'พรลภา แก้วผกา' ในวัย 35 ปี พรลภาไม่ใช่คนงานที่ถูกเลิกจ้างเหมือนมานพและป้าวรรณ ก่อนหน้านี้เธอเป็นลูกจ้างขายน้ำแข็งสำหรับแช่อาหารทะลอยู่ที่จังหวัดระยอง แต่เมื่อไม่สบาย เถ้าแก่ให้หยุดยาวและเลิกจ้างเธอในที่สุด มานพซึ่งเป็นญาติจึงชวนมาทำงานที่โรงงานกลุ่มสมานฉันท์ พรลภาและสามีเป็นกำลังหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัวซึ่งประกอบด้วยลูก 2 คนในวัย 13 ปี และ 9 ปีตามลำดับ รวมถึงหลานสาววัย 10 ปีอีกคนหนึ่งที่ต้องดูแล เพียงพอไหมสำหรับ 5 ชีวิต? "พออยู่ได้" คือคำตอบของพรลภา ก่อนที่เธอจะเสริมว่าบางเดือนค่าใช้จ่ายไม่พอใช้ พี่สาวจะส่งเงินมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงที่มีค่าเล่าเรียนของลูกและหลาน

แน่นอนว่าเด็กๆ คือความฝันของพรลภา เธออยากเห็นพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่เธอเป็นในวันนี้ "ถ้าเขาสู้เรียนต่อสูงๆ ได้ เราก็จะสู้ส่งให้เขาเรียน ไม่มีก็จะขอพี่สาวให้ช่วยกัน" พรลาภกล่าวอย่างมุ่งมั่น ถามเรื่องการมีบ้านเป็นของตัวเอง? พรลภาเองก็ฝันถึงเช่นกัน แต่เธอรู้สึกว่าคงจะยากเพราะตัวเองอายุเริ่มมากแล้ว และกว่าลูกจะเรียนจบก็คงจะอีกนาน "ตอนนี้คิดเรื่องลูกเป็นหลัก อยากให้เขามีอนาคตที่ดี"

บทสนทนาจบลงพร้อมๆ กับนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงตรง มานพยังคงง่วนอยู่กับเรื่องบัญชีสั่งของ ส่วนป้าวรรณหายเข้าไปในห้องพักคนงานที่ชั้นบน เช่นเดียวกับพรลภาและสามี เวลาอาหารกลางวันของแรงงานนอกระบบ แกงถุงกับข้าวสำเร็จรูป ส้มตำร้านรถเข็ญข้างทาง หรือหาบเร่ที่ผ่านเข้ามาในซอย เสียงจักรเงียบลงไปแล้ว แต่อีกไม่นานก็คงจะดังขึ้นอีกครั้ง

bottom of page