ประวัติศาสตร์โลกฉบับประชาชน: จากยุคหินถึงสหัสวรรษใหม่ (A People's History of the World: From the
ประวัติศาสตร์โลกฉบับประชาชน: จากยุคหินถึงสหัสวรรษใหม่
แปลจาก A People's History of the World: From the Stone Age to the New Millennium (2008) เขียนโดย Chris Harman แปลโดยอรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ บรรณาธิการโดยสัญญา นาวายุทธ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557 จำนวน 1,062 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167150383
คำนำ (Introduction)
ใครหรือคือผู้สร้างนครธีบส์พร้อมเจ็ดประตู? ดูหนังสือทั้งหลายเรียงรายพระนามกษัตริย์ ขัตติยะเปลืองพระหัตถ์ลากหินด้วยละหรือ? และกรุงบาบิโลนซึ่งผจญการถูกทำลายหลายครั้งนั้น ใครกันที่สร้างเมืองขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า? (Who built Thebes of the seven gates? In the books you will read the names of kings. Did the kings haul up the lumps of rock? And Babylon, many times demolished, Who raised it up so many times?)
มีบ้านหลังใดในกรุงลิมาที่เรืองอร่ามวาววับด้วยประการทองคำที่ผู้กรำก่อสร้างได้อาศัยอยู่เอง? ยามเย็นย่ำค่ำวันกำแพงเมืองจีนสำเร็จเสร็จสิ้น พวกช่างจีนทั้งหลายหายไปไหน? กรุงโรมอันยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยประตูชัย ใครสร้าง? และซีซาร์ผู้กร้าวแกร่งมีชัยเหนือใคร? กรุงไบแซนติอุมที่บทเพลงรุมแซ่ซ้องสรรเสริญนักหนา ดารดาษแต่ปราสาทราชวังให้ผู้คนอยู่อาศัยกระนั้นหรือ? แม้กระทั่งแอตแลนติส นครแห่งตำนาน ในคืนยาวนานที่ห้วงสมุทรท่วมท้นกลืนกิน ยังได้ยินคนกำลังจมระงมเพรียกหาข้าทาส (In what houses of gold glittering Lima did its builders live? Where, the evening that the Great Wall of China was finished, did the masons go? Great Rome is full of triumphal arches. Who erected them? Over whom did the Caesars triumph? Had Byzantium, much praised in song, only palaces for its inhabitants? Even in fabled Atlantis, the night that the ocean engulfed it, The drowning still cried out for their slaves.)
อเล็กซานเดอร์ราชันเยาว์วัยพิชิตอินเดียกำชัย พระองค์กระทำไปเพียงลำพังเชียวหรือ? ครั้งที่ซีซาร์ปราบพวกกอล ไม่มีแม้กระทั่งพ่อครัวอยู่ด้วยเลย? ตอนที่พระเจ้าฟิลลิปแห่งสเปนทรงร่ำไห้เมื่อกองเรือของพระองค์จมลงท้องสมุทร พระองค์เป็นผู้เดียวหรือที่หลั่งน้ำตา? ตอนที่พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 มีชัยในสงครามเจ็ดปี มีใครอีกที่ชนะด้วย? (The young Alexander conquered India. Was he alone? Caesar defeated the Gauls. Did he not even have a cook with him? Philip of Spain wept when his armada went down. Was he the only one to weep? Frederick the Second won the Seven Years War. Who else won it?)
ในชัยชนะบนทุกหน้าประวัติศาสตร์ ใครปัดกวาด ทำอาหารเลี้ยงฉลองผู้ชนะ? ทุกสิบปีมีบุรุษยิ่งใหญ่ผงาดขึ้นหนึ่งคน บนความชอกช้ำของใคร? มีเรื่องราวมากมาย มีคำถามมากมาย (Every page a victory. Who cooked the feast for the victors? Every ten years a great man. Who paid the bill? So many reports. So many questions.) - คำถามจากคนงานนักอ่านคนหนึ่ง โดยแบร์โทลต์ เบรชต์ (Questions From a Worker Who Reads (1935), Bertolt Brecht หรือ Eugen Berthold Friedrich Brecht: 1898-1956)
คำถามที่บทกวีของเบรชต์หยิบยกขึ้นมากำลังร่ำร้องขอคำตอบ การให้คำตอบควรเป็นหน้าที่ของประวัติศาสตร์ แต่ไม่ควรถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สงวนไว้สำหรับผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นเรื่องหรูหราเชิดหน้าชูตาของกลุ่มคนที่สามารถศึกษามันได้เท่านั้น ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลดังเช่นที่เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford: 1863-1947) ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จำนวนมาก ผู้เป็นศัตรูตัวฉกาจของแนวคิดเรื่องสหภาพแรงงานและเป็นผู้ที่ชื่นชอบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler: 1889-1945) มาตั้งแต่แรกเคยว่าไว้
ประวัติศาสตร์คือลำดับเหตุการณ์ซึ่งนำมาสู่วิถีการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน มันคือเรื่องราวที่บอกให้เรารู้ว่าเรากลายเป็นตัวตนในทุกวันนี้ได้อย่างไร ความเข้าใจประวัติศาสตร์จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขให้เรารู้ว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกที่อาศัยอยู่นี้ได้อีกหรือไม่และอย่างไร 'ผู้กุมอดีต กุมอนาคต ผู้กุมปัจจุบัน กุมอดีต (Who controls the past, controls the future. Who controls the present, controls the past)' เป็นหนึ่งในบรรดาคำขวัญของเหล่าผู้เผด็จการเบ็ดเสร็จที่กุมอำนาจรัฐในนวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) หรือเอริค อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair: 1903-1950) และเป็นคำขวัญของผู้ที่อาศัยอยู่ในปราสาทราชวังและกินเลี้ยงกันอย่างฟุ่มเฟือย
ประมาณ 2,200 ปีก่อน จักรพรรดิจีนพระองค์หนึ่งมีรับสั่งให้ประหารผู้ที่นำอดีตมาวิพากษ์วิจารณ์ปัจจุบัน ชาวอัซเต็ก (Aztecs) พยายามทำลายบันทึกของรัฐต่างๆ ก่อนหน้านั้นเมื่อพวกเขาพิชิตที่ราบหุบเขาเม็กซิโกได้ในศตวรรษที่ 15 ส่วนพวกสเปนก็พยายามทำลายบันทึกทั้งหมดของชาวอัซเต็กเมื่อพวกเขายึดดินแดนนี้ได้ในช่วงทศวรรษ 1520 เช่นกัน
เรื่องราวต่างๆ ในช่วงศตวรรษที่แล้วก็ไม่ต่างไปจากนี้เท่าใดนัก การท้าทายลองดีนักประวัติศาสตร์ของรัฐอย่างเป็นทางการในยุคที่ฮิตเลอร์และสตาลินครองอำนาจนั้น หมายถึง คุก การลี้ภัย หรือความตาย เพียงเมื่อราว 30 ปีก่อนนี่เอง นักประวัติศาสตร์สเปนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ขุดค้นศึกษาเรื่องการทิ้งระเบิดถล่มเมืองเกร์นิคาในแคว้นบาสก์ (Guernica, Basque) เช่นเดียวกับที่นักประวัติศาสตร์ชาวฮังการีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้สืบค้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 1956 และเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนๆ ของผมในกรีซ (Greece) ก็โดนพิจารณาคดีในข้อหาท้าทายความถูกต้องของวิธีการที่รัฐใช้ในการผนวกดินแดนมาซิโดเนีย (Macedonia) ส่วนใหญ่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
การปราบปรามอย่างเปิดเผยของรัฐอาจดูเป็นเรื่องค่อนข้างผิดปกติในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก แต่การควบคุมด้วยวิธีการอันนุ่มนวลแยบยลกว่าก็ยังคงมีอยู่ตลอดมา ขณะที่ผมเขียนหนังสืออยู่นี้ รัฐบาลพรรคแรงงานยุคใหม่กำลังกำชับว่าโรงเรียนต่างๆ ต้องเน้นเรื่องประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรและความสำเร็จด้านต่างๆ ของสหราชอาณาจักร และว่านักเรียนต้องเรียนรู้ประวัติของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ของสหราชอาณาจักรด้วย ในขั้นอุดมศึกษา นักประวัติศาสตร์ที่ยึดถือตามแนวคิดกระแสหลักอย่างเคร่งครัดยังคงเป็นพวกที่ได้รับเกียรติและการยกย่องอย่างสูง ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ที่ท้าทายแนวคิดดังกล่าวมักไม่มีตำแหน่งสำคัญๆ ในมหาวิทยาลัย ประนีประนอมหรือยอมๆ ตามกัน ก็ยังคงเป็นวิธีการที่คุณจะได้เลื่อนตำแหน่งอยู่เสมอ (Compromise, compromise, remains the way for you to rise)
นับตั้งแต่มีฟาโรห์ (Pharaohs) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราว 5,000 ปีก่อน ผู้ครองรัฐทั้งหลายต่างเสนอประวัติศาสตร์ในลักษณะเป็นรายการความสำเร็จของตนเองและบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ดูราวกับว่าบุคคลผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้เป็นคนสร้างบ้านแปงเมืองและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เป็นผู้นำพาความเจริญรุ่งเรือง เป็นผู้มีส่วนสำคัญในเรื่องชัยชนะในการรบหรือผลงานอันยิ่งใหญ่ต่างๆ นานา และในทางกลับกัน บรรดาคนชั่วทั้งหลายก็มีส่วนรับผิดชอบหลักในเรื่องเลวร้ายทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ผลงานประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆ นั้นเป็นรายชื่อกษัตริย์และราชวงศ์ซึ่งเรารู้จักกันดีในลักษณะของรายนามกษัตริย์ การศึกษารายนามลักษณะนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียนต่างๆ ในสหราชอาณาจักรเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาบัดนี้ดูเหมือนว่าทั้งพรรคแรงงานยุคใหม่และพรรคอนุรักษนิยมที่เป็นฝ่ายค้านต่างก็ตั้งใจจะนำวิธีการนี้กลับมาใช้อีกครั้ง
ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในทำนองนี้เป็นแค่ความสามารถในการจดจำรายชื่อต่างๆ ดังกล่าวในลักษณะการแข่งขันกันเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศหรือผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม มันเป็นประวัติศาสตร์ในลักษณะการติดตามเรื่องมโนสาเร่ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจทั้งอดีตหรือปัจจุบันดีขึ้นแต่อย่างใด ยังมีวิธีการมองประวัติศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับการศึกษาประวัติศาสตร์แนวบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ดังกล่าวอย่างจงใจ ประวัติศาสตร์แนวนี้เลือกบอกเล่าเฉพาะบางเหตุการณ์ ซึ่งบางครั้งก็เล่าในมุมมองของคนธรรมดาสามัญที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว ประวัติศาสตร์แนวนี้อาจทำให้ผู้คนรู้สึกประทับใจและชวนให้ติดตาม รายการโทรทัศน์หรือโทรทัศน์ทั้งช่องที่ใช้ประโยชน์ของเนื้อหาทำนองนี้มีผู้ติดตามชมจำนวนมาก เด็กนักเรียนที่รับรู้ประวัติศาสตร์ในแนวทางนี้มักไม่สนใจวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แนวที่บอกเล่ารายชื่อกษัตริย์ วันเวลา และเหตุการณ์แบบเดิม
ทว่าประวัติศาสตร์ในมุมมองของคนส่วนล่างก็อาจพลาดอะไรบางอย่างที่สำคัญอย่างยิ่งยวดได้ นั่นคือความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันและกันของเหตุการณ์ต่างๆ นั่นเอง การเน้นเฉพาะผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่งๆ นั้น โดยตัวของมันเองแล้วไม่อาจช่วยให้เราเข้าใจพลังต่างๆ ในแวดวงที่กว้างกว่านั้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดชีวิตของผู้คนในอดีตและยังคงมีส่วนกำหนดชีวิตของพวกเราในปัจจุบันได้ ตัวอย่างเช่น เราไม่อาจเข้าใจการกำเนิดของศาสนาคริสต์โดยปราศจากความเข้าใจการเกิดและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน เราไม่อาจเข้าใจการเบ่งบานของศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้ถ้าปราศจากความเข้าใจในวิกฤตการณ์อันร้ายแรงทั้งหลายของระบบฟิวดัลในทวีปยุโรปและความก้าวหน้าของอารยธรรมอื่นๆ นอกทวีปยุโรป เราไม่อาจเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวของกรรมกรในศตวรรษที่ 19 ได้โดยปราศจากความเข้าใจการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเราก็ไม่อาจเข้าใจได้เลยว่ามนุษยชาติก้าวมาถึงสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร หากปราศจากความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์อื่นๆ อีกจำนวนมากด้วย
วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้คือพยายามเสนอมุมมองแบบองค์รวมเช่นนี้เอง ผมไม่ได้อวดอ้างว่าจะเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ครบถ้วนโดยสมบูรณ์ บุคคลและเหตุการณ์จำนวนมากที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในเชิงรายละเอียดในแต่ละยุคสมัยยังขาดหายไป แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับอดีตของมนุษยชาติเพื่อที่จะเข้าใจแบบแผนกว้างๆ ที่นำมาสู่ปัจจุบันนี้
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx: 1818-1883) นั่นเองที่สร้างความเข้าใจในแบบแผนทั่วไปเช่นนี้ เขาชี้ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถเอาชีวิตรอดในโลกนี้ได้ก็ด้วยความพยายามร่วมมือกันในการหาเลี้ยงชีพ และว่าการหาเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีการใหม่ในรูปแบบใดก็ตามล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อย่างกว้างขวางต่อเนื่องกันไป การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เขาเรียกว่าพลังการผลิตนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางการผลิต และในที่สุดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ก็จะแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ต่างๆ ที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนโดยอัตโนมัติ ในแต่ละขั้นตอน มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะก้าวไปบนเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งหรือไม่ และเกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงเนื่องจากต่อสู้กันเพื่อให้ได้ทางเลืือกใดทางเลือกหนึ่ง เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ในภาพรวมแล้ว การตัดสินใจเลือกของคนเราเกี่ยวพันกับสถานะทางชนชั้นของบุคคลนั้นๆ นั่นเอง พวกทาสมีแนวโน้มว่าจะตัดสินใจเลือกที่ต่างไปจากนายทาส ช่างฝีมือในระบบฟัวดัลมักตัดสินใจแตกต่างไปจากเจ้าขุนมูลนาย การต่อสู้ครั้งสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติล้วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของการต่อสู้ทางชนชั้นเสมอ ลำดับความต่อเนื่องของการต่อสู้ครั้งสำคัญๆ เหล่านี้เองที่เป็นโครงสร้างแกนกลางของประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด
การศึกษาประวัติศาสตร์แนวทางนี้ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทของปัจเจกบุคคลหรือแนวคิดต่างๆ ที่บุคคลเหล่านั้นเผยแพร่ เพียงแต่ยืนยันว่าปัจเจกบุคคลหรือความคิดเห็นใดๆ ย่อมมีบทบาทจำเพาะในระดับหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางวัตถุของสังคม วิธีการดำเนินชีวิตของคน และโครงสร้างทางชนชั้นหรือโครงสร้างของรัฐที่ดำรงอยู่แล้ว โครงสร้างหรือโครงกระดูกไม่ใช่ร่างกายที่มีชีวิตอยู่ก็จริง แต่ถ้าปราศจากโครงสร้างหรือโครงกระดูกแล้ว ร่างกายก็ย่อมไม่แข็งแกร่งและไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ การเข้าใจพื้นฐานด้านวัตถุวิสัยของประวัติศาสตร์นั้นเป็นเงื่อนไขแรกที่สำคัญอย่างยิ่งยวด (แต่ก็ยังไม่เพียงพอ) สำหรับทำความเข้าใจสิ่งอื่นๆ อีกทั้งหมด
ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงพยายามนำเสนอเค้าโครงเบื้องต้นของประวัติศาสตร์โลก ไม่เกินไปกว่านั้น แต่เป็นเค้าโครงซึ่งผมหวังว่าจะช่วยให้บางคนสามารถมองอดีตเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมตระหนักอยู่เสมอว่าผมต้องเผชิญกับอคติ 2 ประการ
ประการแรก ได้แก่ ความคิดที่ว่าบุคคลสำคัญๆ ของสังคมต่างๆ ที่สืบเนื่องต่อๆ กันมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้นล้วนเป็นผลพวงจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นี่คืออคติอย่างหนึ่งที่พบทั่วไปทั้งในผลงานทางวิชาการ การสื่อข่าวตามสื่อมวลชนกระแสหลักต่างๆ และวัฒนธรรมประชานิยมโดยทั่วไป มักบอกเล่าต่อกันมาว่ามนุษย์เป็นพวกโลภโมโทสัน ชอบแก่งแย่งแข่งขันและเต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง อคติความเชื่อเช่นนี้เองที่อธิบายถึงสาเหตุของเรื่องน่าสะพรึงกลัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม การกดขี่ขูดรีด ระบบทาส และการกดขี่สตรี ภาพลักษณ์มนุษย์ถ้ำแบบนี้เองที่ถูกใช้เป็นประเด็นอธิบายการเข่นฆ่ากันอย่างนองเลือดที่แนวรบด้านตะวันตก (Western Front หมายถึงแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมนีที่เกิดขึ้น
ฟรานซิส ฟูกูยามา (Yoshihiro Francis 'Frank' Fukuyama: 1952) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเมื่อเขาเผยแพร่ข้อความหนึ่งออกไปในปี 1990 โดยประกาศไว้ในบทความหนึ่งที่ถูกพิมพ์เผยแพร่ซ้ำตามหน้าหนังสือพิมพ์หลากหลายภาษาทั่วโลกว่าเรากำลังเป็นประจักษ์พยานในสิ่งที่ไม่ด้อยไปกว่าจุดจบของประวัติศาสตร์และว่า ความขัดแย้งทางสังคมและการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่รุนแรงกลายเป็นเพียงเรื่องราวในอดีต ทั้งนี้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์และพิธีกรโทรทัศน์นับพันคนต่างเห็นพ้องกับเรื่องนี้
แอนโทนี กิดเดน (Anthony Giddens: 1938-) ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งกรุงลอนดอนและนักสังคมวิทยา ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรจากพรรคแรงงานใหม่ ย้ำข้อความดังกล่าวในปี 1998 ในหนังสือของเขาที่โฆษณาอย่างครึกโครมแต่มีคนอ่านน้อยคือ The Third Way: The Renewal of Social Democracy (1998) เขาเขียนว่า เราอาศัยอยู่ในโลกซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นๆ อีกแล้วนอกจากระบบทุนนิยม เขายอมรับและย้ำสมมติฐานที่แพร่หลายดังกล่าว ทั้งที่มันเป็นสมมติฐานที่ไม่อาจอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ระบบทุนนิยมในฐานะที่เป็นวิธีการหนึ่งสำหรับจัดระบบการผลิตโดยรวมของประเทศหนึ่งๆ นั้นมีอายุราวๆ 300-400 ปี และในฐานะวิธีการหนึ่งสำหรับจัดระบบการผลิตโดยรวมของทั้งโลก มันมีอายุอย่างมากเพียง 150 ปีเท่านั้น ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมซึ่งมีเมืองศูนย์กลางและเขตเมืองโดยรอบที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางใหญ่โต และมีการอ่านออกเขียนได้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งการพึ่งพาตลาดต่างๆ อย่างกว้างขวางนั้น เพิ่งขยายตัวไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทว่ามนุษย์ไม่เผ่าพันธุ์ใดก็เผ่าพันธุ์หนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกมาแล้วกว่า 1 ล้านปี และมนุษย์สมัยใหม่ก็มีมานานกว่า 1 แสนปีแล้ว มันคงเป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างมากทีเดียว หากวิธีการจัดการสิ่งต่างๆ วิธีหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นได้นานไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของช่วงเวลาที่เผ่าพันธุ์มนุษย์เราดำรงอยู่จะอยู่ยงคงกระพันควบคู่กับเผ่าพันธุ์เราได้ตลอดไป นอกจากช่วงการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังกุดสั้นลงอย่างทันทีทันใดเท่านั้น งานเขียนทั้งหมดของทั้งฟูกูยามาและกิดเดน จึงเท่ากับยืนยันว่าคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx: 1818-1883) เป็นฝ่ายถูก อย่างน้อยก็เรื่องหนึ่ง นั่นคือการตั้งข้อสังเกตว่าสำหรับชนชั้นกระฎุมพีแล้ว ประวัติศาสตร์นั้นเคยมีอยู่ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว
อดีตของมนุษยชาติที่ในช่วงหลังมานี้ไม่ได้อยู่บนเส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองอย่างราบรื่นเอาเลย แต่เป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดสงครามที่น่าสะพรึงกลัว มีสงครามกลางเมืองอันนองเลือด มีการปฏิวัติและการตอบโต้อย่างรุนแรง ห้วงเวลาที่ดูเหมือนมนุษยชาติจำนวนมหาศาลกำลังจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็ไม่วายต้องเผชิญสภาวะความอดหยากยากแค้นหรือความวิบัติหายนะอันยาวนานนับสิบๆ หรือกระทั่งหลายร้อยปีแทบทุกครั้งไป
จริงอยู่ที่ว่าตลอดห้วงเวลาอันร้ายกาจเหล่านี้ ยังมีความเจริญก้าวหน้าสำคัญๆ ที่ส่งเสริมศักยภาพของมนุษย์ให้สามารถควบคุมและจัดการพลังธรรมชาติต่างๆ ได้ดีขึ้น มนุษย์ปัจจุบันมีศักยภาพในเรื่องนี้สูงกว่าเมื่อ 1,000 ปีก่อนอย่างมหาศาล ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่พลังธรรมชาติต่างๆ ไม่น่าจะทำให้มนุษย์อดอยากหรือแข็งตายได้อีกต่อไป เป็นโลกซึ่งบรรดาโรคร้ายต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความหวาดหวั่นสยดสยองแก่ผู้คน ควรถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ตลอดชั่วกาลนาน
แต่เรื่องเช่นนี้ก็ไม่ได้หมดไป เพราะบางครั้งมนุษย์จำนวนนับร้อยล้าน คนก็ยังคงประสบภัยพิบัติจากความอดอยากหิวโหย ภาวะทุพโภชนาการ และสงคราม ประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็นเช่นนั้น มันเป็นศตวรรษซึ่งในที่สุดระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมก็แผ่อิทธิพลครอบงำทั่วโลก ดังนั้นแม้แต่ชาวนาหรือคนเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ห่างไกลที่สุดก็ยังต้องพึ่งพาระบบตลาดไม่มากก็น้อย มันยังเป็นศตวรรษแห่งสงคราม การเข่นฆ่าสังหาร การกดขี่ขูดรีด และความป่าเถื่อน เช่นเดียวกับที่เคยปรากฎในอดีตไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม มันเกิดมากจนกระทั่งไอไซอาห์ เบอร์ลิน (Isaiah Berlin: 1909-1997) นักปรัชญาแนวเสรีนิยมกล่าวว่ามันเป็นศตวรรษอันเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลกตะวันตก ไม่มีอะไรเลยในช่วงหลายสิบปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านไปแล้ว ที่บ่งชี้ว่าสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นราวปาฏิหาริย์สำหรับมนุษยชาติทั้งมวล ในช่วงหลายสิบปีดังกล่าว บรรดาประเทศในอดีตกลุ่มยุโรปตะวันออกทั้งหมดล้วนยากจนข้นแค้นลงถ้วนหน้า เกิดสภาวะความอดอยากหิวโหยและสงครามกลางเมืองที่ดูไม่มีวันจบสิ้นในหลายพื้นที่ของทวีปแอฟริกา ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งในลาตินอเมริกามีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เกิดสงคราม 8 ปีระหว่างอิหร่าน-อิรัก และเหล่าประเทศที่มีอำนาจที่สุดในโลกก็จับมือกันใช้กำลังทหารถล่มโจมตีอิรักและเซอร์เบีย
ประวัติศาสตร์ยังไม่สิ้นสุด และความจำเป็นที่ต้องเข้าใจประเด็นหลักๆ ของมันก็ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดดังเช่นที่เคยเป็นมา ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยให้ใครๆ เข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ผมต้องอาศัยงานเขียนก่อนหน้านี้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ในภาคที่ว่าด้วยกำเนิดสังคมชนชั้นนั้น คงเป็นไปไม่ได้ หากปราศจากผลงานของนักโบราณคดีผู้ยิ่งใหญ่ชาวออสเตรเลีย กอร์ดอน ไชลด์ (Vere Gordon Childe: 1892-1957) ซึ่งหนังสือของเขาเรื่อง 'What Happened in History (1942)' ควรค่าแก่การอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ว่ารายละเอียดเนื้อหาที่สำคัญๆ บางส่วนล้าสมัยไปแล้ว ในทำนองเดียวกัน ส่วนที่เกี่ยวกับโลกยุคกลางก็เป็นหนี้บุญคุณอย่างใหญ่หลวงต่อผลงานคลาสสิกของมาร์ค บล็อก (Mark Block) และผลงานของกลุ่มนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ออกหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์รายปี ส่วนที่เกี่ยวกับช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นอาศัยผลงานของลีออน ทรอตสกี (Leon Trotsky: 1879-1940) และส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นั้นอาศัยงานวิเคราะห์ของโทนี คลิฟฟ์ (Tony Cliff: 1917-2000) ผู้อ่านที่มีความรู้ทางด้านนี้อยู่บ้างคงสังเกตเห็นอิทธิพลของผลงานของท่านอื่นๆ อีกจำนวนมาก บางท่านมีชื่อถูกอ้างอิงโดยตรงและถูกกล่าวถึงในเนื้อหาของหนังสือหรือในเชิงอรรถ ส่วนคนอื่นๆ ที่แม้ไม่ได้อ้างอิงโดยตรงก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ชื่อบุคคลต่างๆ เช่น คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ (Christopher Hill) เจฟฟรีย์ เดอ สเตอ ครัวซ์ (Geoffrey de Ste Croix) กีย์ บัวส์ (Guy Bois) อัลเบิร์ต โซโบล (Albert Soboul) เอ็ดเวิร์ด ทอมป์สัน (Edward Thompson) เจมส์ แมคเพอร์สัน (James McPherson) และโคซัมบี (Damodar Dharmananda Kosambi) ผุดขึ้นในใจผม และผมหวังว่าหนังสือของผมจะช่วยกระตุ้นให้คนทั่วไปอ่านผลงานของท่านต่างๆ เหล่านี้ด้วย สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามประวัติศาสตร์บางช่วงเป็นการเฉพาะนั้น ผมได้รวบรวมรายชื่อหนังสือสำหรับอ่านเพิ่มเติมไว้ในตอนท้ายของหนังสือด้วยแล้ว
เรื่องวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดหรือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของประวัติศาสตร์ แต่ลำดับของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันนั้นบางครั้งก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้อ่าน (และแม้แต่บรรดาผู้เขียนประวัติศาสตร์เอง) ที่จะตามเหตุต่างๆ ได้โดยไม่หลงลืม ด้วยเหตุนี้ในตอนต้นของแต่ละภาคจึงมีลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ โดยย่อของยุคสมัยนั้นๆ ไว้ ในทำนองเดียวกัน ผมได้ทำอภิธานศัพท์สำหรับชื่อบุคคล สถานที่ และศัพท์เฉพาะที่ไม่คุ้นหูไว้ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ด้วย คำศัพท์เหล่านี้ไม่ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดครอบคลุมครบถ้วน แต่ก็มุ่งให้ผู้อ่านภาคใดก็ตามเข้าใจดีขึ้นเมื่อมีการอ้างถึงบุคคล เหตุการณ์ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องมากกว่าส่วนอื่นๆ ของหนังสือ
ภาค 1 กำเนิดสังคมชนชั้น (The Rise of Class Societies)
ลำดับเหตุการณ์ (Chronology)
4 ล้านปีก่อน Austtralopithecus เป็นลิงไร้หางรุ่นแรกที่เดินสองขา
1.5 - 0.5 ล้านปีก่อน Homo erectus มีลักษณะเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ชัดเจน ใช้เครื่องมือทำด้วยหิน ไม้ และกระดูก เป็นยุคหินเก่าตอนต้น (Early Old Stone Age)
400,000 - 30,000 ปีก่อน มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) อาศัยอยู่ในยุโรปและตะวันออกกลาง มีร่องรอยวัฒนธรรมของมนุษย์กลุ่มนี้หลายอย่าง อาจมีภาษาพูดด้วย
150,000 ปีก่อน มนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) ปรากฎเป็นครั้งแรก อาจกำเนิดขึ้นในแอฟริกา (Africa) ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า (อยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ เร่ร่อน ไม่มีชนชั้น รัฐหรือการกดขี่ทางเพศ) เป็นยุคเก่าตอนกลาง (Middle Old Stone Age)
80,000 - 14,000 ปีก่อน มนุษย์สมัยใหม่เดินทางมาถึงแถบตะวันออกกลาง (Middle East, 80,000 ปีก่อน) ข้ามทะเลเข้าสู่ออสเตรเลีย (Australia, 40,000 ปีก่อน) ถึงยุโรป (Europe, 30,000 ปีก่อน) เข้าสู่ทวีปอเมริกา (Americas, 14,000 ปีก่อน) เป็นยุคหินเก่าตอนปลาย (Late Old Stone Age)
13,000 ปีก่อน สภาพอากาศเปิดโอกาสให้มนุษย์บางกลุ่มตั้งหมู่บ้านอยู่รวมกันราว 200 คน ยังคงดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า เป็นยุคหินกลาง (Middle Stone Age หรือ Mesolithic)
10,000 ปีก่อน การปฏิวัติทางการเกษตรครั้งแรก นำพืชและสัตว์มาเพาะเลี้ยง เป็นยุคหินใหม่ (New Stone Age หรือ Neolithic) เครื่องมือเครื่องใช้ก้าวหน้ามากขึ้น ใช้เครื่องปั้นดินเผา หมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น สงครามอย่างเป็นระบบระหว่างกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ยังไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือรัฐ
7,000 ปีก่อน เริ่มใช้ไถในแถบยูเรเชีย (Eurasia) และแอฟริกา การเกษตรขยายตัวไปถึงแถบตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป เริ่มมีหัวหน้าในบางกลุ่ม แต่ไม่มีชนชั้นหรือรัฐ
6,000 - 5,000 ปีก่อน ปฏิวัติสู่ความเป็นเมืองแถบลุ่มแม่น้ำในตะวันออกกลางและลุ่มแม่น้ำไนล์ (Nile) ใช้ทองแดงทำประโยชน์กันบ้างแล้ว
5,000 ปีก่อน หรือ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล รัฐต่างๆ เกิดขึ้นแถบเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) และอาณาจักรเก่าในอียิปต์ (Old Kingdom Egypt) กำเนิดตัวอักษรรุ่นแรกๆ พบวิธีการทำสำริด มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม ลำดับชั้นของคนในศาสนาและวัดอย่างชัดเจน เริ่มสร้างพีระมิด (Pyramids) เป็นครั้งแรกราว 2,800 ปีก่อนคริสตกาล เป็นยุคสำริด (Bronze Age) สถานะของผู้หญิงเริ่มด้อยกว่าผู้ชาย
4,500 - 4,000 ปีก่อน หรือ 2,500 - 2,000 ปีก่อนคริสตกาล นครรัฐต่างๆ เจริญรุ่งเรืองขึ้นแถบลุ่มน้ำสินธุ (Indus) ซาร์กอน (Sargon) สถาปนาจักรวรรดิแรกขึ้นเพื่อรวบรวมตะวันออกกลางเข้าด้วยกัน มีการสร้างวงหินตั้ง (Stone Rings) แถบยุโรปตะวันตก อาจเกิดอารยธรรมนูเบียน (Nubian) ขึ้นทางใต้ของอียิปต์
4,000 ปีก่อน หรือ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ยุคมืด (Dark Age) จักรวรรดิเมโสโปเตเมียและอาณาจักรเก่าของอียิปต์ล่มสลาย มีการหลอมแร่เหล็กในเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor)
4,000 - 3,600 ปีก่อน หรือ 2,000 - 1,600 ปีก่อนคริสตกาล กำเนิดอารยธรรมมิโนอัน (Minoan) ขึ้นบนเกาะครีต (Crete) อียิปต์ยุคอาณาจักรกลางและจักรวรรดิเมโสโปเตเมียภายใต้การนำของฮัมมูราบิ (Hammurabi) ฟื้นคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง เกิดการปฏิวัติสู้วิถีชีวิตแบบเมืองขึ้น (Urban Revolution) ในจีนตอนเหนือ กำเนิดอารยธรรมไมซีนีในกรีซ (Mycenaean, Greece)
3,600 ปีก่อน หรือ 1,600 ปีก่อนคริสตกาล เกิดวิกฤตการณ์ในอียิปต์หลังการล่มสลายของอาณาจักรกลางเข้าสู่ยุคช่วงรอยต่อครั้งที่สอง ในยุโรปเข้าสู่ยุคมืดหลังการล่มสลายของอารยธรรมบนเกาะครีต อารยธรรมในลุ่มแม่น้ำสินธุ และอารยธรรมไมซีนี ความรู้ทางภาษาเขียนสูญหายไปจากดินแดนเหล่านี้ เกิดยุคสำริดขึ้นในจีนตอนเหนือในยุคจักรพรรดิราชวงศ์ซาง (Shang Empire)
3,000 ปีก่อน หรือ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล กำเนิดอารยธรรมอักซูไมต์หรืออักซุมในเอธิโอเปีย (Uxum, Ethiopia) นครรัฐต่างๆ ของชาวโฟนีเซียน (Phoenician) เจริญรุ่งเรืองแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean) เกิดปฏิวัติสู่สังคมเมืองขึ้นในอเมริกากลาง (Meso-America) โดยวัฒนธรรมโอลเม็ก (Olmec) และในภูมิภาคแอนดีส (Andean) โดยวัฒนธรรมชาวิน (Chavin)
2,800 - 2,000 ปีก่อน หรือ 800 - 500 ปีก่อนคริสตกาล กำเนิดอารยธรรมใหม่ขึ้นในอินเดีย กรีซ และอิตาลี กำเนิดอารยธรรมเมโรในนูเบีย (Meroe, Nubia)
2,500 - 2,000 ปีก่อน หรือ 400 - 1 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมโอลเม็กในอเมริกากลางประดิษฐ์ภาษาเขียนขึ้นเอง
2,000 ปีก่อน หรือคริสต์ศตวรรษที่ 1 กำเนิดอารยธรรมเตโอติอัวกัน (Teotihuacan) ในที่ราบลุ่มเม็กซิโก (Mexico) อาจเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้นทั้งๆ ที่ไม่มีโลหะที่แข็งแกร่งใช้ อีก 400 ปีต่อมาเมืองนี้ก็ถูกทิ้งร้าง ต่อมาเกิดอารยธรรมหลายแห่ง เช่นที่มองเต (Monte) อัลบัน (Alban) และอารยธรรมชาวมายา (Mayas) ทางตอนใต้ของเม็กซิโกและกัวเตมาลา (Guatemala)
อารัมภบท: ก่อนกำเนิดชนชั้น (Before Class)
โลกที่ก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยความโลภ ความเหลื่อมล้ำกันอย่างใหญ่หลวงระหว่างคนรวยและคนจน เป็นโลกของพวกเหยียดผิวและพวกอคติคลั่งชาติ เป็นโลกแห่งวิถีปฏิบัติอันป่าเถื่อนและสงครามเลวร้ายน่าสะพรึงกลัว เป็นเรื่องง่ายที่จะเชื่อว่านี่คือวิถีของสรรพสิ่ง คงให้ผิดแผกแตกต่างไปจากนี้ไม่ได้ ความคิดแบบนี้เองที่นักเขียน นักปรัชญา นักการเมือง นักสังคมวิทยา นักหนังสือพิมพ์ และนักจิตวิทยามากมายถ่ายทอดให้สังคมรับรู้ พวกเขาสื่อให้เห็นว่าการปกครองกันเป็นลำดับชั้น ความเคารพนบนอบ ความโลภ และความทารุณโหดร้ายนั้นเป็นลักษณะตามธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ อันที่จริงแล้วบางคนถึงกับมองว่าเรื่องนี้เป็นลักษณะทั่วไปในอาณาจักรสัตว์ เป็นลักษณะจำเป็นทางสังคมชีววิทยาที่เกิดขึ้นตามกฎทางพันธุศาสตร์ หนังสือปกอ่อนขายดีจำนวนมากที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์เผยแพร่แนวคิดดังกล่าว โดยพูดถึงมนุษย์ว่าเป็นลิงเปลือย (The Naked Ape) เป็นผู้ที่ชะตากำหนดมาเป็นผู้ฆ่า (Killer Imperative) และหากกล่าวในรูปประดิดประดอยมากกว่าก็ว่าถูกกำหนดจากยีนเห็นแก่ตัว (Selfish Genes)
ทว่าภาพพฤติกรรมสุดป่าเถื่อนแบบมนุษย์หินฟลินต์สโตน (Flintstones caricatures) ดังกล่าวไม่ได้ตรงกับข้อมูลในปัจจุบันที่เรารับรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษเราก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้แต่อย่างใด หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าสังคมยุคก่อนนั้นไม่ได้เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำและการกดขี่แต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นผลิตผลของประวัติศาสตร์มากกว่า โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ยุคหลังเมื่อไม่นานมานี้ หลักฐานเช่นนี้ได้จากการค้นพบของนักโบราณคดีเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์ทั่วโลกจนถึงเมื่อราว 5,000 ปีก่อน และส่วนหนึ่งมาจากผลงานของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาสภาพสังคมในภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่ยังมีลักษณะการจัดองค์กรทางสังคมแบบดั้งเดิมอยู่จนถึงศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ริชาร์ด ลี (Richard Borshay Lee: 1937-) นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดาสรุปผลการค้นพบดังกล่าวไว้ดังนี้:
"ก่อนที่รัฐและความไม่เท่าเทียมทางสังคมจะปรากฏขึ้น มนุษย์เราดำรงชีวิตในลักษณะกลุ่มสังคมเครือญาติขนาดเล็กมานานหลายพันปี โดยสถาบันทางเศรษฐกิจหลักๆ ได้แก่ การเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน มีการแจกจ่ายแลกเปลี่ยนอาหารกันอย่างทั่วถึง และมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างเสมอภาคเท่าเทียมกัน"
กล่าวได้ว่ามนุษย์เราแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่มีทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ไม่มีทั้งคนรวยและคนจน ลีเห็นพ้องกับคำกล่าวของเฟรเดอริก เองเกลส์ (Friedrich Engels: 1820-1895) ในทศวรรษ 1880 ที่กล่าวถึงลักษณะนี้ว่าเป็นระบบคอมมิวนิสต์บุพกาล (Primitive Communism) ประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่ง เผ่าพันธุ์มนุษย์เรา (มนุษย์สมัยใหม่หรือ Homo sapiens sapiens) มีมานานกว่า 100,000 ปี ร้อยละ 95 ของช่วงเวลานี้ เผ่าพันธุ์ของเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยรูปแบบพฤติกรรมต่างๆ มากมายที่ถือกันว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในปัจจุบันเลย ไม่มีอะไรถูกสร้างขึ้นในระบบชีวภาพของเราที่ทำให้สังคมต่างๆ เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ความพิกลพิการที่เราเผชิญในสหัสวรรษใหม่นี้จะโทษว่าเป็นเรื่องทางชีววิทยาไม่ได้
จุดกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราย้อนอดีตอันเลือนรางไปได้นานกว่า 100,000 ปี บรรพบุรุษสุดห่างไกลของเราวิวัฒนาการแยกออกมาจากลิงไร้หางพันธุ์หนึ่งที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 4 หรือ 5 ล้านปีก่อนในบางส่วนของทวีปแอฟริกา ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ เผ่าพันธุ์ดังกล่าวเลิกอาศัยอยู่บนต้นไม้แบบเดียวกับบรรดาญาติใกล้ชิดที่สุดของเราคือลิงชิมแปนซีและลิงโบโนโบ (Bonobo) ซึ่งมักเรียกกันว่าปิ๊กมี่ชิมแปนซี (Pygmy Chimpanzee) แล้วหันมาเดินตัวตรงแทน พวกนี้เอาชีวิตรอดในสภาพพื้นที่แบบใหม่ได้โดยอาศัยการร่วมมือซึ่งกันและกันมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ พวกนี้ช่วยกันทำเครื่องไม้เครื่องมือง่ายๆ อย่างที่บางครั้งลิงชิมแปนซีทำเพื่อใช้ขุดรากไม้หรือหัวเผือกหัวมัน สอยผลไม้สูงๆ หาหนอนและแมลง ฆ่าสัตว์เล็กและไล่สัตว์ร้ายต่างๆ ผลตอบแทนที่ได้นั้นเกิดจากการร่วมมือกัน ไม่ใช่จากการแก่งแย่งแข่งขัน ผู้ที่ไม่รู้จักปรับใช้รูปแบบการทำงานร่วมกัน รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ความคิดแบบใหม่ที่พัฒนาไปพร้อมๆ กันนี้ก็จะล้มหายตายจาก ส่วนพวกปรับตัวได้ดีก็จะอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไปนานเป็นล้านๆ ปี จึงเกิดวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่มรดกทางพันธุกรรมของมันแตกต่างอย่างมากจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่นๆ พวกมันสูญเสียลักษณะเฉพาะทางกายภาพบางอย่างซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ใช้ป้องกันตัวเอง (ฟันหรืออุ้งมือขนาดใหญ่) ใช้รักษาความอบอุ่น (ขนหนา) หรือเอาไว้หนีภัย (ขายาว) แต่มนุษย์ยุคแรกก็ถูกกำหนดโดยพันธุกรรมให้มีความยืดหยุ่นสูงในการตอบสนองต่อโลกรอบตัว สามารถใช้มือหยิบจับและปรับเปลี่ยนรูปทรงวัตถุสิ่งของต่างๆ ใช้เสียงสื่อสารกันและกัน สามารถสืบค้น เรียนรู้ และประมวลเป็นความรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัวได้ และการเลี้ยงดูลูกหลานที่กินเวลานานทำให้สามารถถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้ต่างๆ ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ดี ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของสมองขนาดใหญ่ รวมทั้งความสามารถและความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวิธีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันคือภาษา ซึ่งต่างจากภาษาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ใช้กันเป็นอย่างมาก และด้วยภาษานี่เองทำให้เกิดความสามารถในการสรุปความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ปรากฏต่อหน้าได้ด้วย นั่นคือเกิดความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รวมถึงตระหนักรู้ในตนเองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในโลก การถือกำเนิดของมนุษย์สมัยใหม่ซึ่งน่าจะเป็นที่ทวีปแอฟริกาเมื่อราว 150,000 ปีก่อน จึงเป็นขั้นตอนสูงสุดของกระบวนการนี้
[ตามทฤษฎีซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของโนม ชอมสกี (Avram Noam Chomsky: 1928-) นั้น ความสามารถในการใช้ภาษาเป็นคุณลักษณะที่ถูกกำหนดโดยยีนของมนุษย์สมัยใหม่ทั้งหมด ความสัมพันธ์ระหว่างภาษา ความสามารถในการคิดเรื่องนามธรรม และความรับรู้ของมนุษย์นั้นปรากฏในหนังสือหลายเล่มของโวโลซินอฟ (Vnudsl N. Volozinov) นักคิดมาร์กซิสต์ชาวรัสเซียในช่วงทศวรรษ 1920 และในภาคสอง Labour ของหนังสือ Ontology (ภววิทยา) ซึ่งเขียนโดยจอร์จ ลูคัคส์ (George Lucas) นักคิดมาร์กซิสต์ชาวฮังการี]
ในห้วงเวลาประมาณ 90,000 ปีถัดจากนั้น บรรพบุรุษเรากลุ่มต่างๆ ค่อยๆ กระจายตัวออกจากทวีปแอฟริกาไปลงหลักปักฐานในส่วนอื่นๆ ของโลก โดยเข้าไปแทนที่สิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นๆ อย่างเช่น พวกนีแอนเดอร์ทัล อย่างน้อยที่สุดเมื่อราว 60,000 ปีก่อน พวกเขาไปถึงตะวันออกกลาง และเมื่อราว 40,000 ปีก่อน พวกเขาก็ไปถึงยุโรปตะวันตก และไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม พวกเขาได้ข้ามน้ำข้ามทะเลระหว่างเกาะแก่งต่างๆ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังทวีปออสเตรเลียด้วยเช่นกัน อย่างช้าที่สุดในราว 12,000 ปีก่อน พวกเขาได้ข้ามช่องแคบเบริง (Bering) ซึ่งเต็มไปด้วยน้ำแข็งไปยังทวีปอเมริกา พอถึงช่วงนี้พวกเขาก็กระจายอาศัยอยู่ทั่วทุกทวีป ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) มนุษย์กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้ลงหลักปักฐานตามพื้นที่ต่างๆ ใช้ชีวิตที่ตัดขาดจากกันอย่างสิ้นเชิงนานนับพันนับหมื่นปี (น้ำแข็งละลายทำให้ข้ามช่องแคบเบริงไม่ได้อีก และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ทวีปออสเตรเลียได้ยาก) ภาษาของพวกเขาพัฒนาจนแตกต่างกันมาก แต่ละกลุ่มสั่งสมชุดความรู้และพัฒนารูปแบบการจัดองค์กรทางสังคมและวัฒนธรรมในรูปแบบเฉพาะของตน ลักษณะปลีกย่อยเฉพาะกลุ่มบางประการที่ถ่ายทอดทางสายเลือดเริ่มปรากฏชัดขึ้น (สีของดวงตา ลักษณะขนและผม สีผิว ฯลฯ) แต่มรดกทางพันธุกรรมของมนุษย์กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ยังคงเหมือนกันมาก สังคมมนุษย์มักมีความผิดแผกแตกต่างกันภายในกลุ่มมากกว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์แต่ละกลุ่ม มนุษย์ทุกกลุ่มสามารถเรียนรู้ภาษาของกันและกันได้เหมือนๆ กัน และทุกกลุ่มก็มีความถนัดทางสติปัญญาในระดับเดียวกัน เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มๆ ห่างจากกันไปตามพื้นที่ต่างๆ แต่ก็ยังเป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวกัน มนุษย์แต่ละกลุ่มเหล่านี้พัฒนาไปอย่างไรนั้นมิได้เกิดจากความแตกต่างเฉพาะทางพันธุกรรม หากเกิดจากการที่มนุษย์แต่ละกลุ่มปรับทักษะการใช้มือและรูปแบบความร่วมมือกันให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่ม รูปแบบการปรับตัวเช่นนี้ก่อให้เกิดสังคมที่แตกต่างกัน โดยต่างก็พัฒนาประเพณี ทัศนคติ เรื่องราวตามความเชื่อ และพิธีกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น
สังคมต่างๆ เหล่านี้ยังคงมีลักษณะพื้นฐานบางอย่างร่วมกันเรื่อยมาจนถึงราว 10,000 ปีที่แล้ว ทั้งนี้เพราะสังคมทั้งหมดต่างมีวิธีการหาอาหาร ที่พักอาศัย และเครื่องนุ่งห่มในลักษณะคล้ายๆ กัน โดยมาจากการหาของป่า คือเสาะหาผลผลิตตามธรรมชาติ (ผลไม้และลูกไม้เปลือกแข็ง รากไม้หรือหัวเผือกหัวมัน สัตว์ป่า ปลา และหอย) แล้วนำมาผ่านกรรมวิธีบางอย่างเพื่อใช้ประโยชน์ สังคมเหล่านี้ทั้งหมดเรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ หรือสังคมหาของป่า (Foraging Societies) [คำว่า Hunting and Gathering มักก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การเก็บผักผลไม้มีส่วนในการเป็นอาหารให้มนุษย์ได้มากกว่าการล่าสัตว์]
สังคมแบบนี้ยังมีอยูุ่จำนวนมากตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกจนถึงเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา โดยช่วงที่กำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่แค่ไม่กี่กลุ่ม จากการศึกษาสังคมเหล่านี้ บรรดานักมานุษยวิทยา เช่น ริชาร์ด ลี จึงสรุปวิธีการดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้อย่างน้อยร้อยละ 90 ของอดีตที่ผ่านมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์เลยทีเดียว
ความเป็นจริงนั้นแตกต่างอย่างมากจากภาพลักษณ์ในสายตาของชาวตะวันตกแบบเดิมๆ ที่มักสรุปว่าพวกเขาเป็นพวกป่าเถื่อน [แต่เดิมมักใช้คำว่า Savagery กับสภาพสังคมดังกล่าว โดยที่ผู้ใช้คำนี้ยังรวมถึงเลวิส มอร์แกน (Lewis Henry Morgan: 1818-1881) เฟรเดอริก เองเกลส์ (Friedrich Engels) และกอร์ดอน ไซลด์ (Vere Gordon Childe: 1892-1957) ซึ่งพยายามจะอธิบายพัฒนาการของสังคมดังกล่าวอย่างเป็นวิทยาศาสตร์] ไม่มีวัฒนธรรม ใช้ชีวิตอย่างลำบากและน่าสังเวชในสภาวะตามธรรมชาติที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด มีสภาพเหมือนสงครามที่คนทั้งหมดในสังคมต่อสู้กันเอง ซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเขาเลวร้ายน่ารังเกียจ โหดเหี้ยม และอายุสั้น [Nasty, Brutish and Short วลีนี้มาจากโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes: 1588-1679) นักปรัชญาชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 โดยสรุปให้เห็นทัศนคติอันเป็นสามัญสำนึกที่แพร่หลายทั่วไปตามงานเขียนที่กล่าวถึงสังคมเหล่านี้ตั้งแต่อดีตมาจนถึงราวทศวรรษ 1960 และปัจจุบันก็ยังคงปรากฏอยู่ตามหนังสือยอดนิยมทั่วไป เช่นเรื่อง African Genesis: A Personal Investigation into the Animal Origins and Nature of Man (1961) ของโรเบิร์ต อาร์เดรย์ (Robert Ardrey: 1908-1980)]
มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อนหลวมๆ ราว 30-40 คน บางช่วงก็อาจรวมกับกลุ่มอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่อาจมีจำนวนมากถึง 200 คน แต่แน่ใจได้เลยว่าชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมรวมหมู่ (Band Society) ดังกล่าวไม่ได้ยากลำบากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนนับล้านๆ ที่อาศัยอยู่ในสังคมการเกษตรหรืออุตสาหกรรมที่ศิวิไลซ์กว่าแต่อย่างใดเลย นักมานุษยวิทยาชั้นแนวหน้าท่านหนึ่งถึงกับเรียกสังคมเช่นนี้ว่าสังคมดั้งเดิมอันอุดมสมบูรณ์ (Original Affluent Society) ในสังคมเหล่านี้ไม่มีทั้งผู้ปกครอง หัวหน้า หรือการแบ่งชนชั้น ดังเช่นที่โคลิน เทิร์นบูล (Colin Macmillan Turnbull: 1924-1994) เขียนถึงพวกปิ๊กมี่เผ่ามบูติในคองโก (Mbuti Pygmies, Congo) ว่า "ไม่มีหัวหน้า ไม่มีสภาในรูปแบบที่เป็นทางการ แต่ในมิติของชีวิต อาจมีชายหรือหญิงสักหนึ่งหรือสองคนที่มีบทบาทโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ซึ่งปกติแล้วก็เพื่อเหตุผลที่ดีในทางปฏิบัติ การรักษากฎกติกาเป็นเรื่องที่คนในสังคมทำร่วมกัน" ผู้คนร่วมมือกันเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องไปก้มหัวให้ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ หรือต้องสู้รบกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เออร์เนสทีน ฟรีเดล (Ernestine Friedl: 1920-2015) เขียนไว้ในผลงานศึกษาของเธอว่า "ทั้งหญิง-ชายต่างตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน ไม่ว่าจะไปล่าสัตว์หรือเก็บของป่า และจะไปกับใคร" อีลีเนอร์ื ลีค็อก (Eleanor Burke Leacock: 1922-1987) เล่าเรื่องที่เธอพบว่า "ไม่มีการถือครองที่ดินส่วนบุคคล ไม่มีการแบ่งงานกันทำเป็นพิเศษระหว่างหญิง-ชาย ผู้คนตัดสินใจในกิจการงานที่ตนเป็นคนรับผิดชอบ กลุ่มใดก็ตามที่กำลังจะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันจะต้องตกลงจนเห็นพ้องต้องกันก่อน" พฤติกรรมของผู้คนถูกกำหนดจากความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากกว่าความเห็นแก่ตัว ผู้คนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันอาหารให้คนอื่นๆ ในกลุ่มก่อน โดยเหลือส่วนหนึ่งไว้ให้ตนเอง ริชาร์ด ลี (Richard Borshay Lee) แสดงความเห็นว่า "อาหารไม่ได้มีให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งบริโภคตามลำพัง แต่มักแบ่งปันกันไปทั่วทั้งหมู่เหล่า หลักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันของพวกที่ใช้ชีวิตเก็บของป่า-ล่าสัตว์นี้มีรายงานระบุไว้ในทุกทวีปและทุกสภาพแวดล้อม เขาบรรยายต่อไปว่าในกลุ่มที่เขาศึกษาโดยตรง ได้แก่ เผ่า!คุง (!Kung) [เครื่องหมาย ! ที่อยู่หน้า !Kung นั้น เราใช้เพื่อแทนเสียงเดาะลิ้นที่ไม่มีในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป] แถบทะเลทรายคาลาฮารี (Kalahari) ที่มักเรียกกันว่าพวกบุชเมน (Bushmen) เป็นพวกที่มีความเสมอภาคอย่างยิ่งยวด พวกเขาพัฒนาวิถีการประพฤติปฏิบัติทางวัฒนธรรมขึ้นจำนวนหนึ่งเพื่อคงความเสมอภาคนี้ไว้ อย่างแรกได้แก่ การลดความโอ้อวดและความหยิ่งยโสลง และอย่างที่สองคือ การช่วยเหลือผู้อับโชคให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากทัดเทียมผู้อื่น คณะมิชชันนารีนิกายเยสุอิต (Jesuit) รุ่นแรกคณะหนึ่งเคยกล่าวถึงพวกเก็บของป่า-ล่าสัตว์อีกกลุ่มหนึ่ง คือชนเผ่ามงตาเญส์ในแคนาดา (Montagnais, Canada) ว่า "ทรราชทั้งสอง-ฉันหมายถึงความทะเยอทะยานและความโลภ-ที่นำพานรกและความทุกข์ทรมานมาให้ชาวยุโรปเราเป็นจำนวนมากนั้นไม่ได้มีอำนาจเหนือป่าดงอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา ในหมู่พวกเขา ไม่มีใครเลยสักคนที่มอบตนให้แก่ปีศาจร้ายเพื่อจะได้ครอบครองทรัพย์สินความมั่งคั่ง"
และแทบไม่มีหนทางนำไปสู่สงครามเลย ดังที่เออร์เนสทีน ฟรีเดล (Ernestine Friedl) ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้:
"การต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กันระหว่างพวกหากินกับป่าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกันนั้นมิใช่จะไม่มีเสียเลยทีเดียว แต่โดยรวมแล้ว ปริมาณพลังแรงงานที่พวกผู้ชายใช้ฝึกฝนทักษะการต่อสู้หรือใช้ในการออกล่าทำสงครามในหมู่คนเก็บของป่า-ล่าสัตว์นั้นมีไม่มากนัก ความขัดแย้งของคนในหมู่เดียวกัน ตามปกติแล้วจะยุติลงเมื่อคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งแยกตัวออกไปจากกลุ่ม"
หลักฐานข้างต้นลบล้างข้ออ้างของบางท่าน (เช่น โรเบิร์ต อาร์เดรย์ (Robert Ardrey)) ที่ว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหมดนับตั้งแต่ยุคของพวกออสตราโลพิเทคัส (Australopithecus) สิ่งมีชีวิตคล้ายลิงไร้หางรุ่นแรกที่เดินสองขา จนถึงช่วงที่มนุษย์มีภาษาเขียนนั้น ล้วนแต่เป็นพวกที่ถูกชะตากำหนดมาเพื่อฆ่าทั้งสิ้น และว่าพวกเก็บของป่า-ล่าสัตว์ก็ล้วนต่อสู้เพื่อแย่งชิงบ่อน้ำซึ่งส่วนใหญ่มักเหือดแห้งไปใต้แสงแดดที่แผดเผาแห่งทวีปแอฟริกา บอกว่าพวกเราต่างเป็นลูกหลานของเคน [Caine เป็นบุตรชายคนโตของอาดัมกับอีฟ (Adam and Eve) มนุษย์คู่แรกตามพระคัมภีร์เดิม แต่เคนฆ่าอาเบล (Abel) น้องชายของตนเองซึ่งพระเจ้าโปรดปรานมากกว่าด้วยความอิจฉา] และว่าประวัติศาสตร์มนุษย์หันไปสู่การพัฒนาอาวุธที่มีศักยภาพเหนือกว่าเพื่อความจำเป็นทางพันธุกรรม และด้วยเหตุนี้จึงมีอารยธรรมที่สูงส่งอันเปราะบางซึ่งปกปิดสัญชาตญาณแห่งปีติสุขในฆาตกรรมหมู่ การจับคนเป็นทาส การตอน และการกินเนื้อพวกเดียวกันเอาไว้
ประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการถกเถียงเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ เพราะถ้าหากธรรมชาติดังกล่าวเป็นจริง มันก็ย่อมถูกหล่อหลอมขึ้นมาโดยกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติในยุคการเก็บของป่า-ล่าสัตว์อันยาวนาน ริชาร์ด ลี (Richard Borshay Lee) ถูกต้องแล้วที่ยืนยันว่า:
"ประสบการณ์อันยาวนานของการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมนี่เองที่ช่วยหล่อหลอมอดีตของเรา ถึงแม้ดูเหมือนเราปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตที่มีลำดับชั้นทางสังคม และถึงแม้มีประวัติเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่มุมที่ไม่ดีนักในหลายพื้นที่ของโลก แต่ก็ยังมีสัญญาณที่แสดงว่ามนุษยชาติยังคงธำรงรักษาสมภาพนิยม รักษาบรรทัดฐานเรื่องการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติระหว่างกัน รักษาสำนึกแห่งความเป็นชุมชนอันฝังลึกในจิตใจเอาไว้"
ด้วยมุมมองที่ต่างออกไปมาก ฟรีดริช ฟอน ฮาเย็ก (Friedrich August von Hayek: 1899-1992) นักเศรษฐศาสตร์คนโปรดของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Hilda Thatcher: 1925-2013) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอกว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณโดยสันดานที่ถูกกดไว้นานและอารมณ์สมัยบุพกาลที่มีพื้นฐานมาจากความรู้สึกที่เหมาะสำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งทำให้อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้เฉพาะคนรู้จัก
ธรรมชาติมนุษย์นั้นที่จริงแล้วยืดหยุ่นมาก อย่างน้อยที่สุดในสังคมปัจจุบัน มันก็เอื้อให้บางคนปล่อยใจเตลิดไปกับความโลภและการแก่งแย่งแข่งขันอย่างที่ฮาเย็กกล่าวถึง ในสังคมที่มีชนชั้นมันก็เอื้อต่อการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทรมานผู้คน การข่มขืนหมู่ การเผาคนทั้งเป็น และการฆ่ากันอย่างไม่มีเหตุผล พฤติกรรมในบรรดาคนเสาะหาของป่ากลุ่มต่างๆ นั้นก็แตกต่างกันอย่างมาก เพราะความจำเป็นของการดำรงชีวิตอยู่บังคับให้สังคมต้องมีลักษณะสมภาพนิยมหรือมีความเสมอภาค (Egalitarianism) และมีลักษณะปรัตถนิยมหรือการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น (Altruism)
บทที่ 1 การปฏิวัติในยุคหินใหม่ (The Neolithic Revolution)
บทที่ 2 อารยธรรมยุคแรก (The First Civilizations)
บทที่ 3 การแบ่งชนชั้นครั้งแรก (The First Class Divisions)
บทที่ 4 การกดขี่สตรีเพศ (Women's Oppression)
บทที่ 5 ยุคมืดครั้งแรก (The First Dark Ages)
ภาค 2 โลกยุคโบราณ (The Ancient World)
บทที่ 1 เหล็กกับจักรวรรดิ (Iron and Empires)
บทที่ 2 อินเดียสมัยโบราณ (Ancient India)
บทที่ 3 จักรวรรดิจีนยุคแรก (The First Chinese Empires)
บทที่ 4 นครรัฐกรีก (The Greek City States)
บทที่ 5 กำเนิดและการล่มสลายของกรุงโรม (Rome's Rise and Fall)
บทที่ 6 กำเนิดคริสต์ศาสนา (The Rise of Christianity)
ภาค 3 ยุคกลาง (The Middle Ages)
บทที่ 1 หลายศตวรรษแห่งความสับสนวุ่นวาย (The Centuries of Chaos)
บทที่ 2 จีน: จักรวรรดิที่ฟื้นขึ้นใหม่ (China: The Rebirth of the Empire)
บทที่ 3 จักรวรรดิไบแซนไทน์: ฟอสซิลที่ยังมีชีวิต (Byzantium: The Living Fossil)
บทที่ 4 การปฏิวัติอิสลาม (The Islamic Revolutions)
บทที่ 5 อารยธรรมในทวีปแอฟริกา (The African Civilizations)
บทที่ 6 ระบบฟิวดัลในยุโรป (European Feudalism)
ภาค 4 การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ (The Great Transformation)
บทที่ 1 พิชิตสเปนใหม่ (The Conquest of the New Spain)
บทที่ 2 จากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการสู่การปฏิรูปศาสนา (Renaissance to Reformation)
บทที่ 3 ความเจ็บปวดยามก่อเกิดระเบียบสังคมใหม่ (The Birth Pangs of a New Order)
บทที่ 4 การเบ่งบานครั้งสุดท้ายของจักรวรรดิในเอเชีย (The Last Flowering of Asia's Empires)
ภาค 5 การขยายตัวของระเบียบสังคมใหม่ (The Spread of the New Order)
บทที่ 1 ช่วงเวลาแห่งความสงบสุขในสังคม (A Time of Social Peace)
บทที่ 2 จากไสยศาสตร์สู่วิทยาศาสตร์ (From Superstition to Science)
บทที่ 3 ยุคเรืองปัญญา (The Enlightenment)
บทที่ 4 ระบบทาสกับระบบทาสที่ได้ค่าแรง (Slavery and Wage Slavery)
บทที่ 5 ระบบทาสกับคตินิยมเชื้อชาติ (Slavery and Racism)
บทที่ 6 เศรษฐศาสตร์แรงงานอิสระ (The Economics of Free Labour)
ภาค 6 โลกที่กลับตาลปัตร (The World Turned Upside Down)
บทที่ 1 ปฐมบทแห่งชาวอเมริกัน (American Prologue)
บทที่ 2 การปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution)
บทที่ 3 ลัทธิจาโคแบ็งนอกประเทศฝรั่งเศส (Jacobinism Outside French)
บทที่ 4 ยุคที่เหตุผลถดถอย (The Retreat of Reason)
บทที่ 5 การปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution)
บทที่ 6 กำเนิดลัทธิมาร์กซ์ (The Birth of Marxism)
บทที่ 7 1848
บทที่ 8 สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา (The American Civil War)
บทที่ 9 พิชิตโลกตะวันออก (The Conquest of the East)
บทที่ 10 ญี่ปุ่น: กรณียกเว้น (The Japanese Exception)
บทที่ 11 พายุถล่มสวรรค์: คอมมูนปารีส (Storming Heaven: The Paris Commune)
ภาค 7 ศตวรรษแห่งความหวังและความน่าสะพรึงกลัว (The Century of Hope and Horror)
บทที่ 1 โลกของทุน (The World of Capital)
บทที่ 2 สงครามโลกและการปฏิวัติทั่วโลก (World War and World Revolution)
บทที่ 3 ยุโรปท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวาย (Europe in Turmoil)
บทที่ 4 การปฏิวัติในโลกอาณานิคม (Revolt in the Colonial World)
บทที่ 5 ยุคทองช่วงทศวรรษ 1920 (The Golden Twenties)
บทที่ 6 วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Slump)
บทที่ 7 ฝันสลาย: 1934-1936 (Strangled Hope: 1934-36)
บทที่ 8 ห้วงวิกาลแห่งศตวรรษ (Midnight in the Century)
บทที่ 9 สงครามเย็น (The Cold War)
บทที่ 10 ภาวะโลกไร้ระเบียบครั้งใหม่ (The New World Disorder)
บทสรุป: มายาภาพแห่งยุคสมัย (Illusion of the Epoch)
อภิธานศัพท์ (Glossary)
หนังสืออ่านเพิ่มเติม (Further Reading)
ในวิกฤตรอบด้าน ความกล้าหาญสรรค์สร้างอนาคต (At the Edge, Courage Creates Future)
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com