พื้นถิ่นแผ่นดินจีน: สังคมวิทยาชนบทจีน (乡土中国 Rural China)
พื้นถิ่นแผ่นดินจีน: สังคมวิทยาชนบทจีน (乡土中国 Rural China)
แปลจากต้นฉบับภาษาจีน เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.เฟ่ยเสี้ยวทง (Fei Xiaotong / Fei Hsiao-Tung / 费孝通) แปลโดยรองศาสตราจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2553 จำนวน 192 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167150048
หมายเหตุ: มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียภายใต้ชื่อ From the Soil: The Foundations of Chinese Society (1982)
คำนำ โดยร้อยตำรวจเอก รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์
พื้นถิ่นแผ่นดินจีน: สังคมวิทยาชนบทจีน (乡土中国 Rural China) เป็นหนังสือที่น่าอ่าน เพราะไม่ใช่หนังสือวิชาการประเภทที่เขียนให้นักวิชาด้วยกันอ่าน และไม่ใช่ตำราที่นักศึกษาอ่านแล้วไม่เข้าใจ แนวคิดทางวิชาการที่มีอยู่มากมายได้รับการอธิบายด้วยภาษาและสำนวนที่ง่ายๆ พร้อมตัวอย่างที่มีชีวิตชีวา หนังสือเล่มนี้จะกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดคำนึงถึงสังคมไทยและการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพราะในหนังสือเปรียบเทียบสังคมชนบทของจีนกับสังคมตะวันตกอยู่ตลอดเวลา ชี้ให้เห็นสาระสำคัญของความแตกต่าง
หนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยการชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างสังคมที่มีพื้นฐานอยู่ที่พิธีกรรมและประเพณีกับสังคมที่มีพื้นฐานอยู่ที่กฎหมายและเหตุผล สังคมชนบทจีนเป็นสังคมเกษตรกรรม มีชีวิตอยู่ติดกับดิน ไม่โยกย้ายถิ่น และมักเป็นกลุ่มที่อยู่โดดเดี่ยวเป็นเอกเทศ ที่ดินเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนในชนบท ผู้คนที่พวกเขาพบเห็นอยู่ทุกวันก็คือคนที่พวกเขาได้รู้จักมาตั้งแต่ยังเด็ก เหมือนๆ กับที่พวกเขารู้จักคนในครอบครัวของตนเอง พวกเขามิได้เลือกสังคมที่จะใช้ชีวิตอยู่ แต่พวกเขาเกิดขึ้นมาในสังคมนั้น ตัวเลือกจึงมิใช่ปัจจัยสำคัญ การปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมเกิดขึ้นจากความคุ้นเคย เป็นการเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กันเสมอๆ และเนิ่นนาน จนเป็นการกระทำที่เป็นไปเองตามธรรมดา สังคมและปัจเจกบุคคลได้กลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในสังคมเช่นนี้กฎหมายไม่มีความสำคัญหรือจำเป็น ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมชนบทมิได้อยู่ที่การทำสัญญา แต่อยู่ที่ความเชื่อถือของคน คนผู้ซึ่งผูกมัดอยู่ในบรรทัดฐานทางขนบประเพณี และไม่อาจประพฤติตัวเป็นอย่างอื่นไปได้
หนังสือเล่มนี้สรุปว่าวิธีการเบื้องต้นของการปฏิสัมพันธ์กันในสังคมชนบทจึงอยู่ที่ความคุ้นเคยและการรักษาความสงบสุขแห่งจิตใจ แล้วปรารภว่าประเทศจีนกำลังเปลี่ยนจากสังคมชนบทไปสู่สังคมสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตที่เคยบ่มเพาะอยู่ในสังคมชนบทถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดมากขึ้นทุกที สังคมสมัยใหม่ที่สร้างโดยคนแปลกหน้าไม่อาจเข้ากันได้กับสังคมชนบทที่มีพื้นฐานอยู่ที่ขนบประเพณี การปฏิเสธวิถีชีวิตแบบขนบประเพณีของสังคมชนบท ทำให้คนสมัยใหม่ปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นชนบท หมู่บ้านชนบทจึงมิใช่สถานที่ที่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตปรารถนาจะหวนคืนอีกต่อไป
คำปรารภเช่นนี้อาจเป็นของเราก็ได้ เกี่ยวข้องกับสังคมไทย คำปรารภนี้ทำให้เราตั้งคำถามได้เป็นอันมาก เช่น สังคมชนบทของเราเคยเป็นอย่างไร? เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร? วิถีชีวิตเดิมเคยเป็นอย่างไร? เปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร? และเราจะศึกษาวิถีชีวิตแบบขนบประเพณีของสังคมชนบทไทยได้อย่างไร? แล้ววิถีชีวิตของไทยในอดีตต่างจากวิถีชีวิตแบบขนบประเพณีจีนอย่างไรบ้าง? ประเทศไทยมีสองวัฒนธรรมคือชนบทกับเมืองหรือไม่? ทำไม? แล้วคนชนบทที่ได้มารับการศึกษาในเมืองแล้วอยากจะกลับไปอยู่บ้านเกิดในชนบทหรือไม่? ทำไม? คำถามที่ปรากฏขึ้นในใจของเราเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนเป็นโจทย์วิจัยได้เป็นจำนวนมาก
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักศึกษาผู้ยังไม่เคยไปอยู่ต่างประเทศ ไม่เห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างจากของตน เพราะจะทำให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการเปรียบเทียบในการทำวิจัย การเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมจีนในสังคมชนบทมีแง่คิดที่น่าสนใจ กระตุ้นให้อยากทำวิจัยค้นหาความจริงเพิ่มเติม หนังสือเล่มนี้เหมาะมากในการใช้สอนนักศึกษา
ดังที่เราได้ทราบในตอนท้ายว่าข้อมูลในหนังสือนี้เรียบเรียงมาจากการบรรยายวิชาสังคมวิทยาชนบทจึงเข้าใจได้ว่าหนังสือนี้เหมาะที่จะเป็นตำราในวิชาสังคมวิทยาชนบทหรือมานุษยวิทยา มีการเตรียมทัศนะของนักศึกษาในการที่จะลงสนามให้เข้าใจว่าคนทุกคนฉลาด คนทุกคนโง่ เพราะคนใดคนหนึ่งย่อมฉลาดในบางเรื่องและโง่ในบางเรื่อง เพื่อไม่ให้ดูถูกคนชนบท นอกจากนั้นเราจะพบการอธิบายแนวคิดต่างๆ อย่างฉลาดและแยบยลให้ดูง่ายและน่าสนใจ เช่น ภาษาเขียน ความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว กระบวนการสื่อสาร การเรียนรู้ วัฒนธรรมแบบแผนความสัมพันธ์ เครือญาติ การจัดระเบียบแบบแผนองค์กร เครือข่าย เรื่องสาธารณะกับส่วนบุคคล ศีลธรรม องค์กร มโนทัศน์ทางศาสนาของสังคมตะวันตก ความกตัญญูและเมตตาธรรม ความภักดี มโนทัศน์การรวมกลุ่มแบบหลากวิถี มโนทัศน์การรวมกลุ่มแบบวิถีองค์กร ครอบครัว สายตระกูล วงศ์ตระกูล การกำกับทางอารมณ์ ความเข้าใจ อพอลโลเนียนและฟาอุสเตียน การปกครองโดยกฎหมาย อนาธิปไตย พิธีกรรม ประเพณี และการปกครองโดยพิธีกรรม แนวคิดต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญสำหรับนักศึกษาที่จะใช้ในการวิจัย
ถ้าหากเราพิจารณาหนังสือเล่มนี้ในฐานะเป็นรายงานแบบที่เรียกว่าชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) ก็จะพบว่าเป็นเสมือนงานของสำนักวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ (Culture and Personality) ในแนวเดียวกับมาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead: 1901-1978) และรูธ เบเนดิก (Ruth Fulton Benedict: 1887-1948) นักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงของสำนักนี้ เบเนดิกเคยศึกษาสังคมไทยแล้วชี้ให้เห็นบุคลิกของคนไทยว่าชอบสนุก นักมานุษยวิทยาสำนักนี้จะใช้แนวคิดและวิธีการของจิตวิทยามาประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพัฒนาการของเด็ก เพราะเป็นการสร้างบุคลิกของบุคคลในวัฒนธรรมซึ่งแสดงแบบแผนทางวัฒนธรรม
หนังสือเล่มนี้อ้างถึงแบบแผนสองแบบของออสวาลด์ สเปงเกลอร์ (Oswald Arnold Gottfried Spengler: 1880-1936) คืออพอลโลเนียน (Apollonian) และฟาอุสเตียน (Faustian) มนุษย์ในแบบแรกถือว่าโลกนี้มีระเบียบที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นมนุษย์จึงทำได้เพียงยอมรับระเบียบนี้ พอใจกับมัน และรักษามันไว้ กล่าวคือมีบุคลิกที่งดงาม สงบ นอบน้อม ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ในด้านตรงกันข้าม มนุษย์ในวัฒนธรรมแบบฟาอุสเตียนจะมองโลกเป็นเวทีของการต่อสู้ แข่งขัน และขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต การมีชีวิตคือการเอาชนะอุปสรรค ดังนั้นจึงมีบุคลิกที่แข็งแกร่ง ก้าวร้าว ระเบียบแบบแผนแบบอพอลโลเนียนเป็นแบบของอดีต แต่แบบฟาอุสเตียนเป็นของปัจจุบันในโลกตะวันตก
การใช้แนวคิดนี้ในการบรรยายสังคมชนบทจีนทำให้ผู้อ่านเห็นความแตกต่างระหว่างสังคมชนบทจีนกับสังคมตะวันตกปัจจุบันได้ชัดเจนยิ่งนัก แต่หากดูหนังสือเล่มนี้ในฐานะรายงานชาติพันธุ์วรรณาชิ้นหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าสังคมชนบทจีนที่บรรยายไว้ในหนังสือนั้นเป็นสังคมชนบทจีนในอุดมคติ แน่นอนว่าสังคมชนบทจีนในความเป็นจริงย่อมมีความขัดแย้งอยู่ไม่น้อย และงานการกล่อมเกลา การสร้างคนโดยวัฒนธรรม ไม่มีทางที่จะทำให้สังคมและปัจเจกบุคคลกลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สนิทเป็นแน่
นอกจากนั้นยังน่าสนใจที่จะเปรียบเทียบงานชิ้นนี้ในเรื่องสายสกุลกับงานของมอริซ ฟรีดแมน (Maurice Freedman: 1920-1975) ในการศึกษาสายสกุลของจีนในท้องที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ฟรีดแมนอยู่ในสำนักโครงสร้างหน้าที่ (Structural Functionalism) การเปรียบเทียบจะทำให้เห็นว่าภาพของสังคมที่ศึกษาจากต่างทฤษฎีและแนวทางการศึกษาต่างกันอย่างไรบ้าง
มีอีกอย่างที่น่าเปรียบเทียบ คืองานของเฮอร์เบิร์ต ฟิลลิปส์ (Herbert P. Phillips) ที่ศึกษาสังคมไทยเรื่องบุคลิกภาพชาวนาไทย (Thai Peasant Personality, 1965) กับหนังสือเล่มนี้ของเฟ่ยเสี้ยวทง ซึ่งจะทำให้เราสังเกตเห็นว่าการศึกษาสังคมเดียวกันโดยคนของวัฒนธรรมนั้นเองกับผู้มาจากต่างวัฒนธรรมนั้นต่างกันอย่างไรบ้าง? เพราะเหตุใด?
สิ่งที่นักวิชาการแต่ละสำนักและแต่ละวัฒนธรรมบรรยายก็เป็นความจริงทั้งนั้น หากแต่ว่าทุกคำบรรยายนั้นไม่สมบูรณ์ สายตาของนักวิชาการแต่ละคนมีแว่นสีสวมอยู่ ซึ่งก็คือกรอบคิดทฤษฎีและอารมณ์ความรู้สึก หรืออคติที่เกิดจากการเป็นผู้อยู่ในชาติพันธุ์หรือชั้นวรรณะใด จึงทำให้มองเห็นบางสิ่งบางอย่างได้ชัดเจนและบางอย่างไม่ชัดเจนหรือไม่เห็น
หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่าเฟ่ยเสี้ยวทงโหยหาสังคมชนบทจีนในอดีตที่มีความสุขความสงบในธรรมชาติ และเสียใจที่วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งเต็มไปด้วยความก้าวร้าว ความโลภ การต่อสู้แข่งขัน และการทำลายล้างได้เข้ามารุกรานวัฒนธรรมจีน อันเป็นธรรมดาของผู้ที่รักชาติและวัฒนธรรมของตน
แม้ว่าได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ขาดหายไป ความไม่สมบูรณ์ของงานชิ้นนี้โดยเฉพาะในสายตาของนักวิชาการหลังสมัยใหม่ที่มองเห็นและต้องการจะเห็นแต่ความขัดแย้ง การต่อสู้แย่งชิงในสังคม ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ลดลง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่คนไทยควรอ่านเพราะจะทำให้คิดถึงและเสาะหาสิ่งที่ดีๆ ในวัฒนธรรมของเรา และสำนึกถึงอันตรายของการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกที่เรากำลังหลงระเริงและเริงร่าในการรับทุกอย่างโดยไม่คิดและเลือกสรร
[con·tin·ue]
คำนำของผู้แปล
บทนำ: ขั้วความขัดแย้งที่ไม่แย้งของจีน
บทที่ 1 ธรรมชาติของสังคมชนบทจีน (Special Characteristics of Rural Society)
บทที่ 2 การนำตัวหนังสือสู่ชนบท (Bringing Literacy to the Countryside)
บทที่ 3 ข้อพิจารณาเพิ่มเติมในการนำตัวหนังสือสู่ชนบท (More Thoughts on Bringing Literacy to the Countryside)
บทที่ 4 การรวมกลุ่มที่หลากวิถี (Chaxugeju: The Differential Mode of Association)
บทที่ 5 ศีลธรรมว่าด้วยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (The Morality of Personal Relationships)
บทที่ 6 สายตระกูล (Patrilineages)
บทที่ 7 จารีตกับความแตกต่างระหว่างชายหญิง (Between Men and Women: There Are Only Differences)
บทที่ 8 การปกครองโดยจารีตพิธี (A Rule of Ritual)
บทที่ 9 สังคมที่ปราศจากคดีความ (A Society without Litigation)
บทที่ 10 การปกครองที่ไม่ปกครอง (An Inactive Government)
บทที่ 11 การปกครองโดยระบบอาวุโส (Rule by Elders)
บทที่ 12 ความผูกพันทางสายโลหิตและความผูกพันทางที่ดิน (Consanguinity and Regionalism)
บทที่ 13 การแยกกันระหว่างนามกับสาระ (Separating Names from Reality)
บทที่ 14 จากความปรารถนาสู่ความจำเป็น (From Desire to Necessity)
บทส่งท้าย
เชิงอรรถของผู้แปล
ประวัติสังเขปของผู้เขียน
ศาสตราจารย์ ดร.เฟ่ยเสี้ยวทง (Fei Xiaotong / Fei Hsiao-Tung / 费孝通) เป็นที่ยอมรับกันทั้งในประเทศจีนและในระดับนานาชาติว่าเป็นเสาหลักสำคัญของแวดวงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจีน ยิ่งไปกว่านั้น งานศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานเกี่ยวกับชนชาติส่วนน้อยในประเทศจีน เศรษฐกิจชนบท การพัฒนาทางสังคม ตลอดจนบทบาทเชิงนโยบายรัฐที่เกี่ยวข้อง ส่งผลอย่างสำคัญต่อการวางพื้นฐานพัฒนาการทางวิชาการในสาขาสังคมศาสตร์จีนในช่วงระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ผลงานทางวิชาการของเขาที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและงานที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 ยังอาจจัดได้ว่าเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับจีนศึกษาไปยังสังคมวิชาการในโลกตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมของจีน อันเป็นงานที่เขาได้ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนานก่อนถึงแก่กรรมด้วยวัย 95 ปีในวันที่ 24 เมษายน 2005 เขาได้ฝากผลงานและสร้างประโยชน์อย่างมากมายแก่แวดวงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจีน และต่อแวดวงจีนศึกษาโดยรวม
เฟ่ยเสี้ยวทงเป็นชาวมณฑลเจียงซู (Jiangsu 江苏省) เขาเกิดที่เมืองอู๋เจียง (Wuxi 无锡) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1910 ทั้งบิดาและมารดาของเขาเป็นผู้ได้รับการศึกษาสูง แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของจีนกำลังอยู่ในช่วงคับขันอย่างยิ่ง แต่ทั้งคู่ก็ยังยืนหยัดพัฒนาการศึกษาและการเปิดโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบสมัยใหม่ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกๆ เป็นพิเศษ ในปี 1928 เฟ่ยเสี้ยวทงได้เข้าศึกษาเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มหาวิทยาลัยตงหวู (Donghua University 东华大学) ทว่าภายหลังเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึกครองแมนจูเรีย (Manchuria 满洲) เขาได้เปลี่ยนใจเข้าศึกษาในภาควิชาสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยเอี้ยนจิงในปี 1930 ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว เขาได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University 清华大学) ในสาขามานุษยวิทยา นับเป็นมหาบัณฑิตทางมานุษยวิทยารุ่นแรกๆ ที่สำเร็จการศึกษาภายในประเทศ ปี 1935 เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ London School of Economics (LSE) ประเทศอังกฤษ ระหว่างปี 1936-1938 อันเป็นช่วงเวลาที่สำนักคิดโครงสร้าง-การหน้าที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสาขามานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ ภายใต้การดูแลของโบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี้ (Bronisław Kasper Malinowski: 1884-1942) ปรมาจารย์ทางมานุษยวิทยา
เมื่อกลับคืนสู่ประเทศจีน ผลงานจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ Peasant Life in China (1939) และแปลเป็นภาษาจีนในปี 1986 ได้สร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จักในระดับสากลและเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพในมหาวิทยาลัย โดยเขาเริ่มเป็นอาจารย์ประจำสาขาสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยยูนนาน (Yunnan University 云南大学) พร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยยูนนาน เขาได้ร่วมมือกับนักวิชาการคนอื่นๆ ผลิตผลงานการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยาและสังคมชนบทออกมามากมายด้วยกัน ผลงานหลายชิ้นในเวลาต่อมาได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเชิงวิธีวิทยาสนามแบบจีนในการทำงานศึกษาวิจัยชนบทของจีน ในช่วงปี 1945-1946 เขาเดินทางไปสอนและบรรยายที่ London School of Economics ตามคำเชิญของ Richard Henry Tawney (1880-1962) และ Royal Anthropological Institute ทั้งยังเรียบเรียงตีพิมพ์ผลงานการศึกษาเกี่ยวกับชนบทจีน Earthbound China โดยการสนับสนุนของ Royal Anthropological Institute อันเป็นผลงานเกี่ยวกับสังคมจีนที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากที่สุดเล่มหนึ่ง และส่งผลต่อการพัฒนาทั้งในสาขาสังคมวิทยาและสาขามานุษยวิทยาในประเทศจีนอย่างยิ่ง
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กระแสการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นและความขัดแย้งทางการเมืองภายในเปิดทางให้เกิดความแตกแยกทางความคิดในหมู่นักวิชาการ แม้แนวความคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์จะเฟื่องฟูในวงวิชาการของมหาวิทยาลัยจีน เฟ่ยเสี้ยวทงได้ร่วมกับนักวิชาการรักชาติเผยแพร่บทความทางวิชาการต่อต้านสงครามภายในระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคชาตินิยมจีนหรือก๊กมินตั๋ง (Kuomintang 中国国民党) และเรียกร้องให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ ในปี 1942 เขาได้เข้าร่วมพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยจีน (Democracy Party of China 中国民主党) ในเดือนมกราคม 1946 การวิจารณ์รัฐบาลที่จุงกิงหรือฉงชิ่ง (Chungking / Chongqing 重庆市) ต่อการทำสงครามกลางเมืองและข้อเรียกร้องให้รวมรัฐบาลแห่งชาติระหว่างคอมมิวนิสต์และก๊กมินตั๋งเป็นผลให้มีการลอบสังหารนักวิชาการที่ออกมาเรียกร้อง เขาและนักวิชาการคนอื่นๆ ที่เหลือต้องอพยพลี้ภัยออกจากคุนหมิง (Kunming 昆明) สู่ชนบท
ภายหลังสงครามปลดปล่อยและการสถาปนาจีนใหม่ เฟ่ยเสี้ยวทงมีบทบาทอย่างสำคัญในการสำรวจศึกษาชนชาติส่วนน้อยในประเทศจีนซึ่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลกลาง พร้อมกับการรับตำแหน่งรองคณบดีและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิงหัวในปี 1947 และต่อมาดำรงตำแหน่งรองประธานสถาบันศึกษาชนชาติส่วนน้อยแห่งชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ แม้มิได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่เขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่มีต่อประเทศชาติและสังคมชนบทจีน ได้รับผิดชอบในหน้าที่สำคัญๆ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสถาปนาจีนใหม่ เช่น การได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รองประธานกรรมาธิการกิจการชนชาติส่วนน้อยของรัฐบาลกลางและรองผู้อำนวยการสำนักผู้เชี่ยวชาญประจำสภาการปกครองแห่งรัฐ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การปฏิรูุปทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดในปี 1952 ส่งผลกระทบต่อนักวิชาการจำนวนมาก รวมทั้งเฟ่ยเสี้ยวทง การปฏิเสธแนวความคิดที่มีรากเหง้าทุนนิยมตะวันตกส่งผลให้ภาควิชาสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยเอี้ยนจิง ชิงหัว จงซาน เซี่ยะเหมิน และยูนนาน ถูกสั่งปิดและยุติการเรียนการสอน พร้อมๆ กับสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์อื่นๆ ประวัติศาสตร์พัฒนาการทางวิชาการของสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในอดีต ประกอบกับบทบาทนักวิชาการสายนี้ในยุคอาณานิคม ทำให้สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาตกเป็นเป้าหมายเพ่งเล็งจากนักการเมืองสายปฏิรูปในพรรคคอมมิวนิสต์จีน สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาถูกกล่าวหาว่าเป็นสาขาวิชาที่รับใช้จักรวรรดินิยมตะวันตก กดขี่ขูดรีดประชาชนในประเทศอาณานิคม เฉพาะอย่างยิ่งวิชามานุษยวิทยาถูุกทำให้มีความหมายเทียบเท่ากับคำว่าทุนนิยม จักรวรรดินิยม ลัทธิล่าอาณานิคม และลัทธิกดขี่เหยียดชนชาติ ในปี 1957 นักวิชาการสำคัญๆ ในสาขานี้รวมทั้งเฟ่ยเสี้ยวทงถูกหมายหัวว่าเป็นพวกฝ่ายขวา เป็นตัวแทนความคิดจักรวรรดินิยมตะวันตก แม้ว่าเขายังคงได้รับมอบหมายให้ดูแลจัดทำแผนการพัฒนาสังคมชนชาติส่วนน้อยของจีนภายใต้นโยบายของคณะกรรมาธิการสมัชชาประชาชนแห่งชาติในปี 1956 แต่ก็ไม่อาจนำความรู้และแนวความคิดทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเข้าไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาจัดทำแผนได้โดยเปิดเผย ผลงานทางวิชาการจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนาเพิ่มผลิตภาพพื้นฐานในชนบทของพื้นที่ลุ่มน้ำแยงซี (Yangtze 扬子江) ใกล้บ้านเกิดของเขา ประกอบเข้ากับการที่เขาเป็นศิษย์เอกและมีความผูกพันใกล้ชิดกับทั้งโบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี้ (Bronisław Kasper Malinowski) และ Richard Henry Tawney นำไปสู่จุดตกต่ำที่สุดของชีวิตการงาน เมื่อขบวนการปฏิวัติวัฒนธรรมทยอยเผยแพร่บทความโจมตีเขาในปี 1966 มีการระบุชื่อประณามเขาว่าเป็นฝ่ายปฏิกิริยามานุษยวิทยาสังคมสายการหน้าที่นิยมซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นนักสังคมวิทยาตัวแทนจักรวรรดินิยมตะวันตก เขาไม่เพียงต้องเผชิญกับการโจมตีด้วยวาจาและข้อเขียนวิพากษ์ ท้ายที่สุดยังถูกส่งตัวไปใช้แรงงานในชนบทในฐานะศัตรูของการปฏิวัติผู้นำเข้าทฤษฎีสังคมของชนชั้นนายทุนตะวันตก
หลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลงในปี 1976 ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการผลัดเปลี่ยนผู้นำในองค์กรการเมืองระดับบนได้ช่วยให้สถานการณ์ทางวิชาการคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น คำแถลงของเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping 邓小平: 1904-1997) ให้รื้อฟื้นการศึกษาสังคมศาสตร์สมัยใหม่ เปิดโอกาสให้สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจีน สมาคมสังคมวิทยาจีนได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1979 โดยเฟ่ยเสี้ยวทงร่วมก่อตั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิชาสังคมวิทยาในประเทศจีน เฟ่ยเสี้ยวทงมุ่งมั่นในการฟื้นฟูวิชาสังคมวิทยาขึ้นใหม่ด้วยการจัดอภิปรายสัมมนาทางวิชาการ เชิญนักสังคมวิทยาจากตะวันตกและจากประเทศญี่ปุ่น แม้ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาเดิมๆ ในปี 1981 ด้วยความร่วมมือของอาจารย์จากต่างสาขาวิชา หลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางสังคมวิทยาได้เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยหนานไค (Nankai University 南开大学) เป็นการเปิดศักราชใหม่แก่วิชาสังคมวิทยาหลังจากเว้นหายไปนานถึง 30 ปี และนับเนื่องจากนั้น ภาควิชาสังคมวิทยาและภาควิชามานุษยวิทยาก็ทยอยเปิดเพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน เช่น มหาวิทยาลัยเป่ยจิงหรือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University 北京大学) มหาวิทยาลัยจงซานหรือมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น (Zhongshan University or Sun Yat Sen University 中山大学) มหาวิทยาลัยเหรินหมิง (Renmin University of China 中国人民大学) และมหาวิทยาลัยฟู่ต้าน (Fudan University 复旦大学) เป็นต้น
ระหว่างปี 1980-1985 เฟ่ยเสี้ยวทงทำหน้าที่ผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันสังคมวิทยา สังกัดสภาสังคมศาสตร์แห่งชาติ นับแต่ปี 1982 เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปี 1985 ก่อตั้งสถาบันวิจัยสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมุ่งมั่นผลิตผลงานทางวิชาการและถ่ายทอดความรู้สู่ลูกศิษย์จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)
Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com