top of page

ฟุตบอล: ประเด็นเล็กสะท้านโลก (Trigger Issues: Football)


ฟุตบอล: ประเด็นเล็กสะท้านโลก

แปลจาก Trigger Issues: Football (2007) เขียนโดย Chris Brazier แปลโดยประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2552 จำนวน 104 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786117150005

นักฟุตบอลอาชีพคือความใฝ่ฝันอันเย้ายวนใจและแทรกซึมอยู่ในทุกซอกมุมยิ่งกว่าอื่นใดในโลก สิ่งนี้มาพร้อมๆ กับพฤติกรรมอันฉาวโฉ่ของนักเตะซูเปอร์สตาร์ ผู้มีรูปแบบชีวิตอันหาแก่นสารมิได้ ไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้ในคฤหาสน์ หรือเรื่องที่พัวพันกับแวกส์ สโมสรระดับแนวหน้าคือแหล่งดึงดูดเม็ดเงินจนล้นนอง ทั้งจากสปอนเซอร์และมหาเศรษฐีนักลงทุนที่ทำตัวเป็นแมลงเม่า แต่ความจริงแล้วมีเพียงไม่กี่กองไฟเท่านั้นที่แมลงเม่าไม่ร่วงตาย ฟุตบอลเคยเป็นของเล่นของผู้นำเผด็จการ เช่นเดียวกับเคยเป็นเครื่องปลอบประโลมของคนยากไร้

คำนำ (Introduction)

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2005 ผมมีโอกาสได้ไปเยือนการังโก (Garango) อีกครั้ง การังโก่เป็นเมืองภูธรเล็กๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเบอร์กีนาฟาโซ (Burkina Faso) ในแอฟริกาตะวันตก (West Africa) ระหว่างที่ปฏิบัติภารกิจให้กับนิตยสารนิวอินเตอร์เนชั่นแนลลิสต์ (New Internationalist) อยู่ที่นั่น ผมได้กลับไปเยี่ยมหมู่บ้านแห่งหนึ่งในละแวกซึ่งผมบังเอิญได้มารู้จักตั้งแต่เมื่อฤดูร้อนปี 1985 และเคยกลับมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1995 สภาพของการังโกกับหมู่บ้านรอบๆ เมื่อกลางทศวรรษ 1980 นั้น พูดได้ว่าแตกต่างจากโลกศิวิไลซ์ราวฟ้ากับดิน ผู้หญิงยังต้องวิดน้ำจากบ่อใส่อ่างโลหะและขนหาบมาด้วยระยะทางอันไกลโข ชาวบ้านยังขุดพลิกหน้าดินอันแห้งโหยด้วยสองมือตนโดยไม่มีแม้แต่สัตว์ช่วยทุ่นแรง สถานีอนามัยหรือโรงเรียน หากจะมีก็อยู่ในสภาพที่ยังมิได้พัฒนา ทว่าก่อนย่างสู่ปี 2005 หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนและสถานีอนามัยที่สนองความต้องการได้ดีขึ้น เครื่องสูบน้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือกระทั่งโทรศัพท์มือถือ

ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความประหลาดใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องน่ายินดี ทว่ามีอยู่อันหนึ่งที่ทำเอาผมแทบผงะหงายในทันทีที่สายตาไปประสบพบ นั่นคือเสื้อยืดทีมอาร์เซนอล (Arsenal) บนถนนกลางเมืองการังโก ถ้าจะมีสักที่บนโลกใบนี้ ผมพึมพำกับตัวเอง ที่ปลอดจากสิ่งที่หราอยู่เบื้องหน้าผมนี้ ผมว่าก็น่าจะเป็นที่นี่แหละ แน่นอนคงไม่ได้มีแต่เสื้อทีมอาร์เซนอลเท่านั้น เด็กวัยรุ่นชายบนถนนในการังโกส่วนใหญ่สวมเสื้อยืดหลากสีของทีมฟุตบอลดังๆ ในยุโรป แม้จะอยู่ในสภาพเก่าคร่ำและเป็นของเลียนแบบก็ตาม และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ชื่อนักฟุตบอลระดับตำนานอย่างโรนัลดินโญ (Ronaldo de Assis Moreira) เดล ปีเอโร (Alessandro Del Piero) และเบ็คแฮม (David Robert Joseph Beckham) บนหลังเสื้อเหล่านั้น และหลังจากที่ไฟฟ้ามาถึงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (แม้หมู่บ้านโดยรอบจะยังไม่มีใช้เหมือนเดิม) ตามบาร์เหล้าในเมืองทุกค่ำวันจันทร์ ผู้คนก็จะมารอชมไฮไลต์การแข่งขันฟุตบอลจากยุโรปอยู่หน้าจอทีวีที่สัญญาณขาดหายเป็นห้วงๆ

ปรากฏการณ์นี้มองได้สองมุม กระแสอันบ้าคลั่งของโลกาภิวัตน์หรือสังคมโลกที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทุกหนทุกแห่ง และทั้งสองมุมมองก็อาจจะถูกต้องตามวิถีทางของมัน แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งนี้ก็คือตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมของสมรรถนะอันแทบไร้ขีดจำกัดในการก้าวล้ำข้ามพรมแดนประเทศ วัฒนธรรมและชนชั้นของฟุตบอล

ในชีวิตผมมักจะมีเรื่องล้ำเส้นอยู่เสมอ ในฐานะนักฟุตบอล ฝีเท้าผมอยู่ในระดับที่พอกล้อมแกล้ม แต่หลังจากที่ยิงประตูได้และชนะเลิศในรอบชิงถ้วยโรงเรียนเมื่อตอนอายุ 10 ขวบแล้ว ความสามารถนั้นก็ค่อยๆ ดิ่งฮวบลง ผมโตมาในครอบครัวที่มีลูกชายสี่ ไม่มีลูกสาว กับพ่อผู้ยืนเป็นผู้รักษาประตูมาตลอดจนวัยล่วงเข้าสู่เลขห้า และเป็นผู้ที่พาผมไปรูุ้จักกับฟุตบอลอาชีพในสมัยที่มันยังดำรงเกียรติวิถี พ่ออุ้มผมในวัย 7 ขวบขึ้นขี่บ่า ด้านหลังฝูงชนจำนวนมหาศาลที่อยู่บนอัฒจันทร์ของสโมสรท้องถิ่นของเรา ท็อตแนมฮ็อตสเปอร์ (Tottenham Hotspur ทีมละแวกลอนดอนเหนือที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอาร์เซนอล) ตอนอายุ 11 ขวบ ผมเป็นหนึ่งในผู้โชคดี 1 แสนคนที่ได้มีโอกาสเป็นกระจักษ์พยานในสนามเวมบลีย์ (Wembley Stadium) ปี 1966 กับทีมชาติอังกฤษที่ได้ชูถ้วยชนะเลิศฟุตบอลโลกเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ การถูกอบรมบ่มเพาะมาตามขนบคติชายแบบค่อนข้างโบราณ ทำให้เราเป็นครอบครัวที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักเรื่องการสื่อสาร (ไม่เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว) แต่สิ่งที่กลายเป็นภาษาสากลที่สื่อความรู้สึกถึงกันอย่างแท้จริงภายในบ้านเราก็คือฟุตบอล

ฟุตบอลจึงมิใช่แค่ฟุตบอลสำหรับผมนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทว่าในปลายทศวรรษ 1970 เมื่อความบ้าคลั่งของแฟนฟุตบอลอันธพาลมาถึงขีดสุด ประจวบกับการรับรู้ผ่านการข้องแวะและการอ่านของผมเกี่ยวกับนัยเบื้องหลังคติสตรีนิยมและคติต่อต้านการกีดกันความเสมอภาคทางเพศ ฟุตบอลก็เริ่มกลายเสมือนเป็นพลังด้านลบสำหรับชีวิตผม เป็นสิ่งที่ผมควรจะโตเกินกว่าจะไปสนใจมันอีกต่อไป แต่หากว่ามันเกี่ยวกับเรื่องของวัยเพียงอย่างเดียว ผมเชื่อว่าความรู้สึกเช่นนั้นคงจะไม่เกิดขึ้น แต่ความจริงคือความสัมพันธ์ของมันกับผมยังคงเขม็งเกลียวมาจนทุกวันนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าผมได้ส่งต่อคบไฟ (ของความสนใจในกีฬานี้) ให้กับลูกๆ ของผมแล้ว แม้ว่าสิ่งที่ผมไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือผลที่ได้รับจากการเทใจสนับสนุนทีมสโมสรฟุตบอลหนึ่งในห้วงหลายปีนั้นมีทั้งความเจ็บปวดและหงุดหงิดพอๆ กันกับความอิ่มเอมสำราญใจ

จวบจนทุกวันนี้ ความสนใจในเรื่องฟุตบอลก็ไม่เคยได้เข้ามากล้ำกรายงานอาชีพของผมเลยแม้แต่น้อย ยกเว้นงานชิ้นจริงจังที่ว่าด้วยเรื่องระเบียงวัฒนธรรมในทศวรรษ 1970 ที่ผมเขียนให้กับนิตยสารด้านดนตรีรายสัปดาห์เมโลดี้ เมคเกอร์ (Melody Maker) ซึ่งชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของผมผลิแย้มขึ้นที่นั่น สำหรับผม การรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นสากลนิยม (Internationalism) และความเป็นธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผม จนเหมือนว่าฟุตบอลเป็นเอกภพคู่ขนานที่ไม่มีทางมาพานพบเจอกัน

ฟุตบอลในศตวรรษที่ 21 เป็นอสูรร้ายที่แตกต่างเหลือเกินกับตัวที่ผมพบเจอเป็นครั้งแรกเมื่อทศวรรษ 1960 หลายๆ ด้านดีขึ้น แต่ก็มีมากมายที่เลวร้ายลง แต่ที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือ มันยังคงมีมนตร์เสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนได้อย่างไม่รู้สิ้นสุด และเป็นสิ่งที่คนค่อนโลกกำลังแบ่งปันความหลงใหลแก่กันอยู่ในเวลานี้

[con·tin·ue]

บทที่ 1 เทพเจ้า แรงงานเด็ก และชนชั้นสูง (Gods, Child Labor and High Art)

เทพเจ้ามายากับเกมบอล (Ball-Playing Maya Gods)

ตามคัมภีร์โปปอลวูห์ (Popol Vuh) ของชาวมายา (Mayan) สองพี่น้องมนุษย์นักเล่นบอลถูกหลอกให้แข่งขันเกมบอลกับอมตเทพในยมโลก (immortals in the Underworld) ทั้งคู่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกบูชายัญโดยคนหนึ่งถูกนำศีรษะไปวางไว้ที่ต้นไม้ แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันใดไม่ทราบ ศีรษะนั้นสามารถบันดาลให้เทวีอนงค์หนึ่งที่ผ่านมาตั้งครรภ์ได้ พระนางถูกเนรเทศมายังโลกมนุษย์ได้ให้กำเนิดแฝดคู่หนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นนักเล่นบอลผู้มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ และในที่สุดก็ได้กลับไปตามรอยประสบการณ์ของบิดาในเกมบอลนัดสำคัญที่ยมโลก คู่แฝดเป็นฝ่ายชนะ และกลับมาพร้อมด้วยศพของพ่อและลุง ซึ่งถูกนำไปไว้บนท้องฟ้ากลายมาเป็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์

ฟุตบอลในบทประพันธ์ของเช็คสเปียร์ (William Shakespeare: 1564-1616)

ในเรื่อง 'หัสนาฏกรรมแห่งความผิดพลาด (The Comedy of Errors)' ซึ่งเขียนขึ้นในปี 1590 บ่าวใช้โดรมิโอแห่งอีเฟซัส (Dromio of Ephesus) ได้ร้องร่ำคร่ำครวญว่าเขาถูกเจ้านายเฆี่ยนตีดังนี้ "ข้ากลมกลิ้งกับท่านดั่งที่ท่านทำกับข้าประหนึ่งลูกฟุตบอลที่ท่านถีบไสหรือไร? ท่านถีบส่งข้าไปทางโน้น และเขาก็ถีบส่งข้ามาทางนี้ หากข้าอยู่เพียงเพื่อรับใช้การนี้ ท่านจงจับข้ายัดใส่ถุงหนังเถิด" และในเรื่อง 'คิงเลียร์ (King Lear, 1606)' ตัวละครนามว่าเคนต์ (Kent) สวนขึ้นทันควันว่า "อย่าขัดขา แกไอ้นักฟุตบอลระยำ!"

บทที่ 2 จักรวรรดิและการตื่นบอล (Empire and Goal Rush)

ฟุตบอลหญิง

ฟุตบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาของผู้ชายมาตั้งแต่เริ่มต้น และชาวอังกฤษสมัยวิคตอเรีย (Victorian Era: 1837-1901) ก็เห็นว่ามันเป็นนันทนาการที่ไม่เหมาะกับเพศอ่อนแอและอาจเป็นอันตรายต่อโครงสร้างอันบอบบางได้ แต่ถึงกระนั้นการเริ่มต้นก็เกิดขึ้นโดยผู้หญิงชนชั้นสูง และมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการในสกอตแลนด์ (Scotland) ปี 1892 และในอังกฤษปี 1895 อย่างไรก็ดี โอกาสเติบโตของฟุตบอลหญิงก็ต้องชะงักลงด้วยการถูกสั่งปราบอย่างเด็ดขาด โดยในปี 1896 สมาคมฟุตบอลดัตช์ (Royal Dutch Football Association) ออกคำสั่งห้ามมิให้มีการแข่งฟุตบอลหญิงในทุกสนามที่อยู่ในเครือ และในปี 1902 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (The Football Association) ได้ออกกฎมิให้ทีมชายแข่งกับทีมหญิง

ทว่าการไหลบ่าของแรงงานหญิงเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ชุบชีวิตฟุตบอลหญิงขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีทีมตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจอย่างดิคเคอร์สเลดี้ (Dick Kerr's Ladies) ซึ่งผู้เล่นล้วนมาจากสาวฉันทนาของโรงงานแห่งหนึ่งแถบท่าเรือเพรสตัน (Preston) ก่อนปี 1921 มีทีมฟุตบอลหญิงอย่างน้อย 150 ทีม และสมาคมฟุตบอลหญิงเปิดตัวขึ้นในเมืองแบล็คเบิร์น (Blackburn) ในปี 1920 มีแฟนบอลจำนวนถึง 53,000 คน เข้าไปชมทีมดิคเคอร์สเลดี้เฆี่ยนทีมเซนต์เฮเลนส์เลดี้ (St. Helens Ladies) ที่สนามกูดิสันพาร์ค (Goodison Park) ของสโมสรเอฟเวอร์ตัน (Everton) แต่น่าเศร้าใจที่ท่าทีต่อกระแสนิยมอันเกรียวกราวนี้ของสมาคมฟุตบอลกลับเป็นไปในทางลบ พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามและจำเป็นต้องขัดขวางมิให้มันเติบโต ในปี 1921 สโมสรฟุตบอลหญิงถูกห้ามมิให้เล่นในสนามแข่งขันของผูุ้ชาย และถูกตัดความช่วยเหลือทุกอย่างทั้งด้านการฝึกสอนและการเงิน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ใกล้เฉาตายคาเถาของฟุตบอลหญิง ในปลายทศวรรษ 1920 วารสารการแพทย์ The Lancet ก็ช่วยขยี้ซ้ำอีกแรงด้วยคำยืนยันอันน่าขันว่าฟุตบอลเป็นอันตรายต่อสรีระของอิสตรี ล่วงมาจนกระทั่งทศวรรษ 1990 ฟุตบอลหญิงในอังกฤษจึงได้ลุกฟื้นขึ้นมาสร้างแรงเหวี่ยงได้พอควร เนื่องจากสโมสรใหญ่ๆ อย่างอาร์เซนอล ชาร์ลตัน (Charlton Athletic) และฟูแลม (Fulham) เริ่มหันมาเอาจริงเอาจังกับทีมหญิงในสังกัด แต่ที่น่าขำก็คือ กระแสการตอบรับนี้ส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จของฟุตบอลหญิงในอเมริกานั่นเอง

บทที่ 3 เงิน เงิน เงิน (Money, Money, Money)

การพนันบอลในเอเชียอาคเนย์

การพนันถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์ ทว่าอุตสาหกรรมการพนันของภูมิภาคนี้กลับมีเงินหมุนเวียนถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ และฟุตบอลยุโรปคือสังเวียนโปรดสำหรับนักพนันใต้ดินเหล่านี้ ประมาณว่าในแต่ละสัปดาห์มีเงินราว 150 ล้านดอลลาร์ใช้เดิมพันผลการแข่งขัน เฉพาะรายการแข่งขันยูโร ปี 2004 ชาวไทยลงเงินพนันไป 800 ล้านดอลลาร์ภายใน 3 สัปดาห์ ขณะที่ชาวสิงคโปร์ 294 ล้านดอลลาร์ (เฉลี่ย 70 ดอลลาร์ต่อประชากรหนึ่งคน) นี่คือสาเหตุที่นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่ามีการล็อกผลการแข่งขันในยุโรป ในปลายทศวรรษ 1990 การแข่งขันพรีเมียร์ชิพ (EFL Championship) ถึงสามนัดต้องถูกเลื่อน เนื่องจากไฟสนามถูกวินาศกรรมโดยกลุ่มที่โยงใยกับแก๊งพนันในเอเชีย ข้อเท็จจริงก็คือตามกฎการพนันบอลในอินโดนีเซียและมาเลเซียยึดเอาผลคะแนนก่อนยุติการแข่งขันเป็นเกณฑ์ตัดสิน

บทที่ 4 ฟุตบอลกับการเมือง (Politics and the Ball)

สนามกักกันแห่งชาติ

ผู้ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเจ้าหน้าที่องค์กรโลกบาลของฟุตบอลจะมีภาพลักษณ์อันน่าละอายดังเช่นที่ปรากฏในอาร์เจนตินา (Argentina) ปี 1978 แสดงว่ามิได้ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนหน้า ขณะนั้นชิลี (Chile) กำลังเผชิญกับฝันร้ายในห้วงที่บ้านเมืองยตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร หลังการโค่นล้มรัฐบาลสังคมนิยมที่มาจากการเลือกตั้งของประธานาธิบดีอาเญนเด (Salvador Guillermo Allende Gossens: 1908-1973) โดยนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto José Ramón Pinochet Ugarte: 1915-2006) นักเคลื่อนไหวและพวกมีแนวโน้มจะสร้างความปั่นป่วนทุกประเภทถูกล้อมจับ และมีอย่างน้อย 12,000 คนที่ถูกดำเนินการภายในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติในกรุงซันติอาโก (Santiago) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่แข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก ปี 1962 ทว่าบัดนี้มันได้แปรสภาพเป็นค่ายกักกันไปแล้ว หลังการก่อรัฐประหารได้เพียง 4 วัน ทีมชาติชิลีก็เดินทางไปมอสโก (Moscow) เพื่อเตะรอบตัดเชือกกับสหภาพโซเวียต (Soviet Union) แย่งตั๋วไปฟุตบอลโลกปี 1974 ที่เยอรมนีตะวันตก การแข่งขันรอบตัดเชือกหรือเพลย์ออฟ (Playoff) จะแตะกัน 2 นัด คือเหย้าและเยือน และนัดที่ 2 ก็ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะอุบัติขึ้นในอีก 2 เดือนถัดมา ณ สนามกีฬาแห่งนี้ที่กำลังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดเหี้ยมทารุณนั่นเอง

โซเวียตได้ร้องขอให้ฟีฟ่า (FIFA: The Fédération Internationale de Football Association) ย้ายสถานที่แข่งขัน และมีเสียงขานรับจากสมาคมฟุตบอลหลายชาติทั้งในแอฟริกาและเอเชีย ทว่าตัวแทนฟีฟ่าซึ่งได้รับการนำชมสถานที่ที่ถูกจัดฉากขึ้นโดยรัฐบาลชิลีรายงานผลโดยไม่มีข้อขัดข้องใดๆ ว่าทุกอย่างอยู่ในสภาพพร้อมเต็มที่ สหภาพโซเวียตไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากถอนตัวจากการแข่งขันโดยส่งโทรเลขถึงฟีฟ่าอันมีข้อความที่แสดงถึงการธำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีอันน่ายกย่องว่า "นักกีฬาของโซเวียตไม่อาจลงแข่งขันบนสนามที่เปื้อนเลือดของผู้รักชาติชาวชิลีได้" ทีมสหภาพโซเวียตตกรอบไปตามระเบียบ นอกจากนี้เยอรมนีตะวันออกก็ได้ส่งสารที่มีข้อความเสียดสีไปถึงประธานฟีฟ่าชาวอังกฤษ เซอร์สแตนลีย์ เราส์ (Stanley Ford Rous: 1895-1986) โดยถามว่า เขาสนใจอยากจะจัดการแข่งขันฟุตบอลสักนัดในค่ายกักกันดาเคา (Dachau, Nazi Concentration Camp) ของนาซีบ้างหรือไม่?

บทที่ 5 ความสวยงามของเกมลูกหนัง... ฝันถึงวันหวนคืน? (Can the Beautiful Game be Reclaimed?)

รูปธรรมแห่งการต่อต้าน: เอเอฟซีวิมเบิลดันและเอฟซียูไนเต็ด

ตัวอย่างอันน่ายกย่องของการต่อต้านโลกาภิวัตน์และบรรษัทธุรกิจในวงการฟุตบอลอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ก่อเกิดขึ้นในรูปของสโมสรฟุตบอลใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้สนับสนุนที่รู้สึกแปลกแยกกับสโมสรเดิมของตน เอเอฟซีวิมเบิลดัน (AFC Wimbledon) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 โดยแฟนบอลของซีวิมเบิลดันเอฟซี (Wimbledon FC) ซึ่งคัดค้านระบบแฟรนไชส์สไตล์อเมริกัน พวกเขาย้ายจากบ้านหลังเก่าในลอนดอนใต้ไปยังเมืองใหม่ มิลดัน เคนส์ (Milton Keynes) ห่างจากที่เดิมไปราว 100 กิโลเมตร สโมสรใหม่นี้ดำเนินการในลักษณะกึ่งอาชีพ และค่อยๆ ไต่ขึ้นจากลีกต่ำสุด จนขณะนี้อยู่ในขั้นที่น่าพอใจ คือระดับชั้นที่ 7 ของลีกทั้งหมดในอังกฤษ

การประกาศแยกตัวในลักษณะคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอีกในปี 2005 โดยแฟนบอลที่หมดศรัทธากับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Manchester United FC) ที่ปล่อยให้วิสาหกรตระกูลเกลเซอร์ (Glazer) ชาวอเมริกันเข้าซื้อหนี้ก้อนโตและยึดครองกิจการของสโมสร เอฟซียูไนเต็ดออฟแมนเชสเตอร์ (FC United of Manchester) จึงถือกำเนิดขึ้นและก็ประสบความสำเร็จในการเลื่อนชั้นภายใน 2 ฤดูกาลแรก และขณะนี้อยู่ในระดับชั้นที่ 8 ที่น่าทึ่งคือยอดผู้เข้าชมโดยเฉลี่ยของเอฟซียูไนเต็ดยังสูงกว่าสโมสรในลีกสูงสุดเสียอีก ผู้สนับสนุนกล่าวถึง 2 สโมสรใหม่นี้ว่า นี่คือการฟื้นฟูความรู้สึกดีๆ และสายสัมพันธ์ของชุมชนที่กำลังหายากขึ้นทุกทีในฟุตบอลอาชีพระดับสูงสุด

แต่เรื่องราวทั้งหมดคงมิได้มีเพียงด้านบวกเท่านั้น กองทุนของผู้สนับสนุนกำลังมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้น และเริ่มจะมีผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้สนับสนุนสโมสรที่เรียกว่า Supporters Direct (การชี้นำโดยผู้สนับสนุน) ซึ่งพยายามชักชวนแฟนบอลให้เข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรหลักสำคัญของกีฬาฟุตบอล

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page