top of page

ล้างแค้นกับสมานฉันท์: สู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์เอเชียใต้ (Revenge and Reconciliation: Understanding


ล้างแค้นกับสมานฉันท์: สู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์เอเชียใต้

แปลจาก Revenge and Reconciliation: Understanding South Asian History (1999) เขียนโดย Rajmohan Gandhi แปลโดยทวีศักดิ์ เผือกสม และชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม บรรณาธิการโดยฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2551 จำนวน 728 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740984245

วิภาษวิธีระหว่างการล้างแค้นและการคืนดีที่เป็นวิธีศึกษาพื้นฐานของหนังสือเล่มนี้ ฉายเบื้องหลังเบื้องลึกของการก่อรูปอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ที่ผลและแผลของมันแสดงให้เห็นว่าเอกภาพนั้นเป็นภาวะชั่วครู่ชั่วคราว เป็นด้ายเส้นเรียวบางที่พยายามฟั่นเกลียวเข้ากับด้ายเส้นหนาทึบของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ สันติไม่ได้เกิดขึ้นจากการลบความแตกต่างหรือความขัดแย้งออกไป แต่เกิดขึ้นจากการพยายามอยู่กับความแตกต่าง และการจัดการกับเงื่อนไขนี้อย่างใจกว้าง ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือความหลากหลายที่เข้าขั้นแหว่งวิ่นของอินเดียและเอเชียใต้โดยรวม อินเดียที่ไม่ได้เป็นเอกภาพ ความหลากหลายที่ว่าก็ไม่ใช่ความหลากหลายแบบโรแมนติกนิยม อินเดียคือพหุสังคมที่มีพลวัต ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม และความรุนแรงที่กระทำต่อกันเองไม่แพ้ที่มาจากศัตรูภายนอก

ถึงอาจารย์ราชโมฮาน คานธี (Rajmohan Gandhi)

ระหว่างบรรณาธิการฉบับแปลของหนังสือเล่มนี้ ฉันคิดเสมอว่าอยากทำสองสิ่ง สิ่งแรกคือเขียนจดหมายถึงคุณเพื่อถามข้อข้องใจบางประการ และอย่างที่สองคือขออนุญาตชกหรือทุบผู้เขียนให้สาสมกับความอึดอัดหงุดหงิดใจอันเกิดจากการอ่านงานชิ้นนี้ ความอยากประการที่สองขณะนี้ได้มลายหายไปพร้อมกับงานที่เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง พร้อมกับการทำความรู้จักคุณไกลๆ ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้คิดได้ว่าไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะมีเจตนาร้ายขนาดนั้นกับคนเช่นคุณ แต่ความอยากประการแรกนั้นได้ขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ จากที่ตอนแรกๆ คิดจะถามด้วยความสงสัยว่าทำไมต้องใช้ภาษาให้มันยุ่งยากขนาดนี้ ทำไมประโยคหนึ่งต้องเขียนถึงห้าหกบรรทัด ทำให้เข้าใจยากว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำไมต้องใช้ศัพท์แสลงและสำนวนมากมาย ต้องการแสดงให้เจ้าของภาษาเห็นหรืออย่างไรว่าใช้ภาษาได้ดี (หมายถึงซับซ้อน เข้าใจยาก) ไม่แพ้เจ้าอาณานิคม ทำไมต้องเขียนหนังสือราวกับทึกทักเอาเองว่าคนอ่านรู้เรื่องหมดแล้ว วิธีที่คุณโยนเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์หรือคนแต่ละคนเข้ามาในท้องเรื่อง ทำให้คนอ่านที่พื้นไม่แน่นอย่างฉันรู้สึกแบบนั้น ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงโชกเลือดจนคาวคลุ้งขนาดนี้ ทำไม ทำไม และทำไม ฯลฯ

เมื่อปลงใจให้เย็นอ่านไปสักพัก (สลับกับความหงุดหงิดอยากชกคนเขียนซึ่งค่อยๆ ทิ้งระยะห่างออกไปเรื่อยๆ) ฉันเริ่มอยากปรับเนื้อความในจดหมายเสียใหม่ เริ่มอยากจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ได้ปรับขยายความหมายของอินเดียในหัวในใจของฉันใหม่ในหลายๆ ประเด็น จากที่มาของเครื่องประดับแปลกตา เฮ็นน่า ส่าหรี ผ้าพันคอ รองเท้า อาหารและหนุ่มแขกที่พาหุรัด ช้างเพื่อนแก้ว มุมตัส ระวี ชังการ์ เจ้าชายสิทธัตถะ กฤษณมูรติ คานธี รพินทรนาถ ฐากูร โยคะ โรตี ระบำแขก ฯลฯ ซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่และคอยแต่จะผลักไสความเป็นจริงส่วนไม่บุคคล (apersonal reality) ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ อย่างเช่นการลอบสังหารผู้นำคนสำคัญๆ การฆาตกรรมหญิงเพื่อเอาสินสอด ปัญหาในศรีลังกา การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ฯลฯ ให้กลายเป็นเพียงฉากรางๆ ที่ไม่ได้มีนัยสำคัญนักกับความเป็นจริงส่วนบุคคลอย่างการจับจ่าย ไปเที่ยว และบริโภคข่าวสารเชิงวัฒนธรรมและจิตวิญญาณเกี่ยวกับและจากอินเดีย มาเป็นการเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเรื่องราว พื้นที่ และตัวบุคคลในชีวิตจริงของฉัน (ประโยคนี้ฉันแค่อยากจะเขียนหนังสือในแบบที่คุณเขียนบ้างเท่านั้นเอง) เช่น เมื่อได้รู้ว่าครอบครัวคุณหมอที่รู้จักคนหนึ่งที่อเมริกามาจากปัญจาบ ด้วยความที่ปัญจาบเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวมากมายตั้งแต่โบราณกาลกระทั่งในยุคปัจจุบัน ทำให้ฉันอดมองคุณหมอด้วยความยำเกรงในฐานะส่วนหนึ่งของพื้นที่อันสำคัญไม่ได้ แม้ว่าคุณหมอคนนี้จะไม่ได้โตขึ้นมาในปัญจาบก็ตาม โดยอัตโนมัติ ฉันมองเห็นคุณหมอเป็นคนปัญจาบ ไม่ใช่แค่เป็นคนอินเดีย เราคุยกันถึงเรื่องราวในอดีตที่เธอรับรู้ผ่านการเล่าของบรรพบุรุษ เช่น ตำนานสงครามที่กุรุเกษตร เหตุการณ์ที่จัลเลียนวาลา และการแบ่งประเทศปากีสถานที่ปู่ของเธอถ่ายทอดผ่านความทรงจำจากประสบการณ์ตรงให้เธอรับรู้ ความรู้สึกใกล้ชิดกับคุณหมอชาวอินเดียน-อเมริกันคนนี้เกิดขึ้นเพราะฉากการอพยพซึ่งขบวนยาตราของชาวฮินดูและชาวมุสลิมเดินสวนกันตามที่คุณได้กล่าวถึงในบทที่ 9 แท้ๆ

แม้แต่อาหารอินเดียที่เคยกินแบบฝันๆ ก็เริ่มมีรสชาติแปลกเปลี่ยนไปเมื่อจินตนาการว่าสิ่งที่เรากำลังส่งเข้าปากนั้นเป็นอาหารชาติไหนกันแน่ เป็นอาหารอินเดียที่ได้อิทธิพลจากชาวสิกข์ หรือว่ามีต้นกำเนิดจากการปะปนระหว่างอาหารมุสลิมกับอินเดียแถบไหน ก่อนจะอพยพเข้ามาไทยกลายเป็นอีกแบบ หรือส่าหรีที่เราเห็นเพื่อนร่วมชาติที่เราเหมารวมเรียกว่าแขกนุ่งห่มอยู่นั้น มีความแตกต่างอะไรที่บ่งบอกถึงถิ่นฐานเดิมของมันหรือไม่ ถ้าคำถามเหล่านี้เป็นผลจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ต้องถือว่าคุณูปการของมันคือการทำให้อาหารที่กินมีรสชาติน้อยลงกว่าเดิม ทำให้ส่าหรีที่เห็นมีความน่าฉงนฉงายแทรกพรายอยู่บนผืนผ้า เพราะอินเดียรวมถึงเอเชียใต้ที่คุณวาดภาพให้เห็นนั้นเต็มไปด้วยความแตกต่างของชาติพันธุ์ ความเชื่อ ภาษา และวัฒนธรรม ที่ไม่เพียงให้ภาพแง่งามของความหลากหลายในแบบที่การเขียนตามขนบการท่องเที่ยวทั่วไปมักวาดให้เห็นอย่างน่าตื่นเต้น หากส่งผลต่อความเป็นความตายของผู้คนตลอดมาอย่างนึกไม่ถึง

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ทำให้โปรแกรมทัวร์สังเวชนียสถาน พุทธภูมิ ถ้ำอชันตา และบรรดาแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตของคนไทยที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาทั้งหลายกลายเป็นเรื่องปลายก้อย ฉันรู้สึกว่าตัวเองทิ้งพาราณสีและพุทธคยาไว้เบื้องหลัง และท่องเที่ยวไปในอินเดียและเอเชียใต้ตามเส้นทางของราชโมฮานซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยุคตำนานมหาภารตะจนถึงยุคสมัยใหม่ที่ฉันอยากจะตั้งชื่อโปรแกรมทัวร์นี้ว่าเส้นทางสายเลือด เส้นทางนี้จะต้องเริ่มต้นที่กุรุเกษตร ป้อมเรดฟอร์ต ถนนจันทนีโชค วัดศิสคัณช์คุรุทวาร ไปปัญจาบ เมืองลอฮอร์ สุวรรณวิหาร จัลเลียนวาลา พิหาร แคชเมียร์ และไม่ลืมตบท้ายด้วยการขึ้นรถไฟสายปากีสถาน-อินเดีย เพื่อจินตนาการย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งแบ่งแยกปากีสถานจากอินเดีย คงเป็นทัวร์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างออกไปไม่น้อย เมื่อเวลาที่อยู่บนถนนจันทนีโชคแล้วไก๊ด์ทัวร์บอกเราว่า ณ จุดนี้เป็นที่ประหารท่านคุรุเตค พาหาทูร ผู้ซึ่งเสียชีวิตอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิแบบโยคะ หรือเมื่อเวลาที่ไปชมความงามของสุวรรณวิหารแห่งเมืองอมฤตสาร์แล้วถูกย้ำเตือนว่าวิหารอันงดงามแห่งนี้เคยรองรับเลือดเนื้อของชาวสิกข์นับร้อย

หงุดหงิดกับกลิ่นคาวเลือดอยู่เป็นนานกว่าจะมาถึงจุดที่ทำให้ฉันเปลี่ยนความรู้สึกต่อผู้เขียน นั่นคือการที่คุณเขียนถึงเหตุการณ์หนึ่งๆ อย่างพยายามจะให้น้ำหนักและมิติต่างๆ กับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใส่มิติของอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้แค่เล่าว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร โดยใคร ดังเช่นประวัติศาสตร์นิพนธ์ดาดๆ ทำให้ได้ความรู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์ที่ตัดต่ออย่างพยายามจะให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังเช่นในกรณีกบฏซีปอย เราได้เห็นความหวาดระแวง ไม่เชื่อถือ ไม่ไว้ใจของบรรดาทหารซีปอยต่อการใช้ตลับกระสุนปืนที่เชื่อกันว่าเคลือบด้วยไขมันจากสัตว์ เราได้เห็นว่าอาการลังเลไม่ยอมรับของทหารซีปอยเมื่อทหารอังกฤษสั่งให้เขาฆ่าทหารซีปอยคนหนึ่งซึ่งเป็นพราหมณ์นั้นสะท้อนขณะจิตของเอกภาพระหว่างทหารฮินดูและมุสลิม รวมถึงความอีหลักอีเหลื่อในความแตกต่างของชาติพันธุ์ ภาษา และอำนาจระหว่างความเป็นพวกเดียวกันของบรรดาทหารและคนอื่นคือชาวอังกฤษ ในชั่วขณะหนึ่งเราได้เห็นความโกรธแค้นของทหารซีปอยฝ่ายหนึ่ง แต่เราก็ได้เห็นทหารซีปอยบางคนอารักขาผู้หญิงและเด็กชาวอังกฤษ เราได้เห็นการทรยศต่ออังกฤษและความร่วมมือกับทหารซีปอยของบรรดาผู้ปกครอง เราได้เห็นอาการคลั่งแค้นรวมถึงความสะใจของทหารอังกฤษที่สั่งบรรดานักโทษให้เลียเลือดของผู้หญิงและเด็กที่ถูกสังหารซึ่งกองกรังอยู่บนพื้น ก่อนที่นักโทษเหล่านั้นจะถูกประหารให้ตายตกไปตามกัน แต่ในอีกฉากหนึ่งของเหตุการณ์เดียวกันนั้น เราก็ได้เห็นทหารอังกฤษบางคนรู้สึกผิด สะอิดสะเอียนกับสิ่งที่เกิดขึ้น

การไม่ยอมรับ การไม่เห็นคนอื่นเป็นปัจเจกบุคคล และการผลักไสไล่ส่งเข้าสู่ตราประทับต่างๆ นำมาสู่ความระแวงสงสัย ไม่ไว้ใจ ความเกลียดชัง และการยัดเยียดความเป็นภูติผีปีศาจให้ฝ่ายตรงข้าม เหล่านี้คือมิติทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอื่นซึ่งถูกนำมาอธิบายให้เห็นภาพความเป็นมนุษย์ของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

ฉากเหตุการณ์ระหว่างปากีสถานกับอินเดียในบทที่ 9 เป็นอีกฉากหนึ่งที่มิติทางอารมณ์ของผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายถูกตีแผ่ให้เราเห็นและก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งสยดสยองและปีติขึ้นในใจ สยดสยองเมื่อนึกถึงคนเป็นแสนลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน ขนลุกเมื่อจินตนาการว่า ณ จุดหนึ่งของความขัดแย้ง คนต่างศาสนาที่เราเคยพบปะพูดคุยหรือติดต่อค้าขายกันจะลุกขึ้นมาเข่นฆ่าทำร้ายเรา หรือเราเองก็อาจจะขุดความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงในอดีตซึ่งเราไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นมาเป็นแรงผลักในการเข่นฆ่าคนอื่นก็เป็นได้ ปีติกับความพยายามช่วยเหลือคนอื่นที่แตกต่างทั้งฝ่ายฮินดูและมุสลิม ตัวอย่างการช่วยเหลือจากคนที่มีชีวิตเลือดเนื้อนี้ทรงพลังยิ่งกว่าฉากที่กฤษณะบันดาลให้บรรดาผู้ที่ถูกสังหารได้มาพบกับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ลูกศิษย์ ฯลฯ หลังการฆ่าจบสิ้น ซึ่งคุณมองว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งของการสมานฉันท์าได้มากโข ไม่แปลกแต่อย่างใดที่ภายในจิตใจของคนบางคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้จะถูกเปรียบเป็นสมรภูมิระหว่างความต้องการลืมและความต้องการจดจำ แตกต่างจากหนังสือเกี่ยวกับอินเดียทั่วไปที่มักจะตั้งต้นที่เอกภาพ องค์รวม และมองสถานการณ์ที่ไม่ราบรื่นหรือรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าเป็นปัญหา เป็นความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่คุกคามอินเดียในฐานะรัฐ-ชาติ แต่หากมองอินเดียผ่านการนำเสนอของคุณจะเห็นว่าการก่อรูปของชาติอินเดียไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ความเป็นอินเดียแบบที่เราทึกทักและเข้าใจว่ามีอยู่ตลอดเวลานั้นไม่ได้เกิดขึ้นในพลันที่อังกฤษล้างมือจากอินเดีย แม้เมื่อได้เอกราชคืนมาแล้ว ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เคยมีเคยเป็นก็ยังดำรงอยู่ ดังเช่นที่คานธีกล่าวว่า เขาไม่ได้ให้สัญญาว่าเอกราชจะนำมาซึ่งสันติสุขหรือชีวิตจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเมื่อเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคม

ภาวะขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่างหากคือภาวะปกติ ส่วนเอกภาพและสันติสุขเป็นภาวะอปกติที่ห้องควานหาต้องดึงขึ้นมาให้เห็น ความรุนแรงต่างหากคือความเป็นจริงในเอเชียใต้ซึ่งมีชีวิตของตัวเองบนแหล่งอ้างอิงบางแหล่งในประวัติศาสตร์และความคิดความเชื่อในภูมิภาค ซึ่งในที่นี้เราอาจจะเรียกให้โก้เก๋ว่าอภิมหาคำอธิบาย (grand narrative) อย่างมหาภารตะซึ่งเรื่องราวของมันถูกผลิตซ้ำและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอินเดียมาทุกยุคสมัย ทั้งในรูปเรื่องเล่า ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ข้อความที่ปรากฏบนสินค้าต่างๆ การนำบางบทบางตอนมาใช้ประกาศการแก้แค้น ฯลฯ

วิภาษวิธีระหว่างการล้างแค้นและการคืนดีซึ่งเป็นวิธีศึกษาพื้นฐานของหนังสือเล่มนี้ ฉายเบื้องหลังเบื้องลึกของการก่อรูปอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ที่ผลและแผลของมันแสดงให้เห็นว่าเอกภาพนั้นเป็นภาวะชั่วครู่ชั่วคราว เป็นด้ายเส้นเรียวบางที่พยายามฟั่นเกลียวเข้ากับด้ายเส้นหนาทึบของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ สันติไม่ได้เกิดขึ้นจากการลบความแตกต่างหรือความขัดแย้งออกไป แต่เกิดขึ้นจากการพยายามอยู่กับความแตกต่างของภาษา ชาติพันธุ์ ศาสนา และผลประโยชน์ และจัดการกับเงื่อนไขนี้อย่างใจกว้าง จะโดยตระหนักถึงมันหรือไม่ก็ตามที เช่นในสมัยพระเจ้าอักบาร์ ศิวะจี หรือสมัยเนห์รู ฯลฯ

เราถูกนำมาที่จุดตั้งต้น ไม่ใช่จุดตั้งต้นของอินเดียที่เป็นองค์รวม แต่เป็นจุดตั้งต้นของความเปราะบาง แตกแยก เอาเป็นเอาตาย และจากภาวะเช่นนี้ เอกภาพเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือสูญสิ้นไปอย่างไร รวมกันใหม่บนพื้นฐานอะไร ถ้าเป็นละครเวที คุณคงไม่ได้อยากให้เราเห็นฉากหน้าของมันเท่ากับฉากหลังที่สับสนอลหม่านชุลมุนพันตูกันตลอดเวลากว่าที่จะผลักฉากหน้าอันสวยงามออกไปสู่ผู้ชมได้สักฉากหนึ่ง ภาพของอินเดียที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่อินเดียที่เป็นเอกภาพ แต่เป็นภาพอินเดียที่เปราะบางเข้าขั้นแหว่งวิ่นที่พร้อมจะแตกหักหรือฉีกขาดได้ตลอดเวลา

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของช่วงเวลาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคสมัยใหม่ คุณชี้ให้เห็นว่ามีความขัดแย้งถึงรากถึงโคนถึงเลือดถึงเนื้อมากมายที่วางอยู่บนพื้นฐานการแย่งเรา-เขาหรือพวกเรา-คนอื่น ไม่ใช่แค่ระหว่างอังกฤษกับอินเดีย (ซึ่งในตอนที่อังกฤษเข้ามานั้น อินเดียยังกระจัดกระจาย รวมกันไม่ติด ยังคงไม่มีอินเดียในความหมายที่เป็นหนึ่งเดียว) ในลักษณะที่อังกฤษเป็นคนนอกและอินเดียเป็นชาติที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน หากดูช่วงเวลาแล้ว ช่วงความสัมพันธ์อันเคี่ยวข้นระหว่างอังกฤษและอินเดียเป็นช่วงที่สั้นมากเมื่อวางความสัมพันธ์คู่นี้ลงไปในคู่ความสัมพันธ์อื่นทั้งหมด ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอินเดียพื้นเมืองกับชาวมุสลิมยุคบุกเบิก ความสัมพันธ์ระหว่างชาวสิกข์กับมุสลิม ความสัมพันธ์ระหว่างฮินดูกับมุสลิม ความสัมพันธ์ระหว่างทมิฬและสิงหล ความสัมพันธ์ระหว่างพวกฮินดูในวรรณะและพวกนอกวรรณะ

การเมืองในอินเดียและเอเชียใต้จึงไม่ใช่เรื่องตะวันตก-ตะวันออก แต่เป็นการเมืองวรรณะ ภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งปีนเกลียวกันระหว่างความขัดแย้งและความแค้นในอดีต ความรุนแรงในปัจจุบัน การหักหลัง และการประนีประนอมสมานฉันท์กันระหว่างคู่กรณีในช่วงจังหวะเวลาที่เอื้ออำนวย สิ่งเหล่านี้แทรกเป็นเนื้อดินเดียวอยู่ในคู่สัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน อินเดียและบังคลาเทศ อินเดียและศรีลังกา รวมทั้งอินเดียและอินเดีย โดยมีเชื้อเพลิงที่สำคัญคือการผลักอีกฝ่ายให้เป็นอื่นตลอดเวลา

อินเดียจึงแตกออกเป็นเสี่ยงเป็นเสี้ยวในหลายระดับ ทั้งในหมู่ชาวพื้นเมืองที่แตกแยกกันตามถิ่นฐาน ตามชั้นวรรณะ ตามภาษา ตามการสัมพันธ์กับอำนาจศูนย์กลางในขณะนั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องชาติ ว่าชาติ

[con·tin·ue]

คำนำ

บทนำ

บทที่ 1 มรดกแห่งมหาภารตะและสาระแห่งภควัตคีตา (The Mahabharata Legacy, and the Gita's Intent)

บทที่ 2 จารีตที่แปลกแยกหรือด้ายเส้นที่สอง (A Dissenting Tradition, or the Second Thread)

บทที่ 3 การโจมตีของอิสลาม: ความโกรธแค้น การใคร่ครวญ และการอยู่ร่วมกัน (The Charge of Islam: Rage, Reflection and Coexistence)

บทที่ 4 จักรวรรดิและมโนธรรมสำนึก: โมกุล สิกข์ และมารธา (Empire and Conscience: Mughals, Sikhs and Marathas)

บทที่ 5 สู่จักรภพอังกฤษ: ความอัปยศ ความตื่นตาตื่นใจ และความเชื่อมั่น (Enter Britain: Humiliation, Dazzlement and Trust)

บทที่ 6 บดขยี้และสมานฉันท์: ระบอบราชกับระบอบสิกข์ (To Crush and Conciliate: The Raj and the Sikhs)

บทที่ 7 บาดแผลและความหมายของ ค.ศ. 1857 (The 1857 Trauma and Its Meaning)

บทที่ 8 อิสรภาพกับสมานฉันท์? ภารกิจใหญ่ของคานธี (Freedom and Reconciliation? Gandhi's Large Bid)

บทที่ 9 ทำไมถึงเกิดการแบ่งประเทศและบาดแผลของ ค.ศ. 1947 (Why Partition Occurred, and the Wounds of 1947)

บทที่ 10 สองทศวรรษแห่งความชื่นบาน: อินเดียในช่วง ค.ศ. 1947-67 (Two Cheerful Decades: India 1947-67)

บทที่ 11 ความเป็นอื่นที่ไร้เหตุผล: เอเชียใต้หลังได้รับเอกสาร (Two Unreasonable Other: South Asia After Independence)

บทที่ 12 ศตวรรษใหม่: ยุทธศาสตร์เพื่อความสมานฉันท์ (The New Century: Strategies for Reconciliation)

หมายเหตุ บรรณานุกรม และภาคผนวก

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page