top of page

เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ (L' Économie des biens symboliques, chapitre 6 - extrait de Ra


เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์

แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส L' Économie des biens symboliques, chapitre 6 - extrait de Raisons pratiques. Sur la théorie de l'action (1994) เขียนโดย Pierre Felix Bourdieu แปลโดยชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข บรรณาธิการโดยรองศาสตราจารย์นพพร ประชากุล โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2550 จำนวน 144 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789748388625

คำนำจากผู้แปล

ผู้แปลเริ่มสนใจปิแยร์ บูร์ดิเยอ จนกระทั่งเลือกผลงานของเขามาแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าเกี่ยวกับความคิดของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้นี้ รวมถึงได้ลองอ่านผลงานสำคัญของเขาที่ชื่อ La Distinction (1979) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์รสนิยมของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยบูร์ดิเยอชี้ให้เห็นว่ารสนิยมเหล่านี้เป็นภาพลวงซึ่งล้วนถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือพยุงการแบ่งชนชั้นในสังคมให้ดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แนวคิดซึ่งนำเสนอมุมมองอันหลักแหลมในการพิจารณาสังคมเช่นนี้ รวมทั้งมโนทัศน์ต่างๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นเพื่ออธิบายแนวความคิดดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้บูร์ดิเยอเป็นนักคิดที่วงวิชาการและปัญญาชนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และทำให้ผู้แปลติดตามอ่านงานเล่มอื่นๆ ของเขา รวมทั้ง Raisons pratiques. Sur la théorie de l'action (1994) ซึ่งบรรจุบทความ L'économie des biens symboliques ที่นำมาแปลเป็นภาษาไทยในหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย

ปิแยร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Felix Bourdieu: 1930-2002) เกิดในครอบครัวชาวนาที่เมืองด็องแก็ง (Denguin) ในแคว้นเบอาร์น (Béarn) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เขาเริ่มศึกษาระดับมัธยมฯ ประจำเมืองโป (Lycées de Pau) และไปศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมฯ หลุยส์เลอกร็องด์ (Louis-le-Grand) อันโด่งดังที่กรุงปารีสในปี 1949 จนกระทั่งปี 1951 ก็ได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง (École Normale Supérieure) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาพิเศษที่มีคุณภาพสูงของฝรั่งเศส เมื่อบูร์ดิเยอจบการศึกษาในสาขาปรัชญา เขาได้รับบรรจุเป็นอาจารย์ระดับอุดมศึกษาในปี 1954 หนึ่งปีต่อมาเกิดสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชขึ้นในประเทศแอลจีเรีย (Algeria) ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส บูร์ดิเยอได้รับหมายเรียกให้ไปรับราชการทหารที่นั่น ณ ที่นี้เอง บูร์ดิเยอได้หันเหเส้นทางจากสาขาวิชาปรัชญาไปสู่มานุษยวิทยา โดยระหว่างทำหน้าที่เป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ที่แอลจีเรีย เขาได้ทำงานวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยาซึ่งเป็นการเรียนรู้เองจากประสบการณ์ตรงโดยได้รับแรงบันดาลใจจากทฤษฎีของโคล้ด เลวี-สโทรส (Claude Lévi-Strauss: 1908-2009) นักมานุษยวิทยาสายโครงสร้างนิยมที่มีผลงานโดดเด่นในยุคนั้น บูร์ดิเยอมุ่งศึกษาปัจจัยทางสังคมแบบจารีตประเพณีของแอลจีเรียที่เอื้อให้เกิดการลุกขึ้นล้มล้างอำนาจของเจ้าอาณานิคม ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อมีแรงผลักดันจากสังคมสมัยใหม่ด้วยอิทธิพลของฝรั่งเศสเอง เขาได้วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวในผลงานชิ้นแรกคือ Sociologie de l'Algérie (1958) หลังจากนั้นก็มีผลงานในรูปของงานวิเคราะห์ขนาดสั้นและบทความหลายชิ้นตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในแอลจีเรีย จนกระทั่งในปี 1961 บูร์ดิเยอซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านการทำสงครามกับแอลจีเรียของรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิด

ที่ปารีส เขาได้รับตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Université de Paris, Sorbonne) ในปี 1961 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มสนใจงานของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Heinrich Marx: 1818-1883) และเริ่มหันความสนใจไปสู่สังคมวิทยา ปีถัดมาเขาย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองลิลล์ (Université de Lille) จนถึงปี 1964 จึงเดินทางกลับมายังปารีสเพื่อเข้าสังกัดในสถาบันการศึกษาชั้นสูงทางสังคมศาสตร์ (École des Hautes Études en Sciences Sociales) หลังจากที่ผลงานชิ้นสำคัญหลายชิ้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่และสร้างชื่อให้บูร์ดิเยอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในปี 1968 เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์สังคมวิทยาแห่งยุโรป (Centre de Sociologie Européenne) และริเริ่มผลิตวารสารทางวิชาการร่วมกับคณะทำงานของศูนย์ในปี 1975 โดยใช้ชื่อว่า Actes de la Recherche en Sciences Sociales ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมงานวิจัยในเชิงลึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สังคมร่วมสมัย โดยให้ความสำคัญกับวัตถุดิบขั้นปฐมภูมิ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลทางสังคมที่พิสูจน์ด้วยประสบการณ์และการปฏิบัติจริง ต่อมาในปี 1981 บูร์ดิเยอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยาประจำวิทยาลัยแห่งฝรั่งเศส (Collège de France) และในปี 1993 เขาก็ได้รับรางวัลเกียรติยศเหรียญทองจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Centre National de la Recherche Scientifique) ในฐานะผู้มีคุณูปการดีเด่นต่อวงการวิจัยทางสังคมศาสตร์

หากลองไล่เรียงดูพัฒนาการทางความคิดของบูร์ดิเยอจะพบว่าเส้นทางความคิดของเขาเริ่มต้นจากวงวิชาการด้านปรัชญา แล้วข้ามมาสู่การศึกษามานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา ก่อนจะมาลงตัวที่สังคมวิทยา นี่คงมีส่วนทำให้การวิเคราะห์สังคมของบูร์ดิเยอมีการอ้างอิงแนวคิดทางปรัชญาอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเอง หรือจากเยอรมนีและอเมริกาซึ่งไม่ค่อยปรากฏนักในงานของนักสังคมวิทยาฝรั่งเศสรุ่นเดียวกัน ส่วนวิธีการทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยาก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่บูร์ดิเยอใช้ในการศึกษาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างอิงประสบการณ์วิจัยที่ได้จากการศึกษาสังคมพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ในแอลจีเรียในหนังสือ Sociologie de l'Algérie (1958) และงานวิเคราะห์ย่อยอื่นๆ ในบรรดาความคิดทางปรัชญาสำนักต่างๆ นั้น ดูเหมือนว่าบูร์ดิเยอจะสนใจแนวคิดของฌ็อง-ปอล ซาร์ตร์ (Jean-Paul Charles Aymard Sartre: 1905-1980) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสแนวอัตถิภวนิยมซึ่งทรงอิทธิพลยิ่งในช่วงนั้น จากแนวคิดที่ว่ามนุษย์มีสำนึกรู้ในการกระทำ เป็นอัตบุคคล (sujet) สามารถกำหนดการกระทำของตนท่ามกลางโลกอันไร้สาระไร้คุณค่า กระนั้นในสายตาของบูร์ดิเยอการเชิดชูเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเช่นนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เชิงอำนาจหรือการครอบงำทางสังคมในระดับกว้างได้ ส่วนทางอีกฟากหนึ่งของระบบความคิด ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดสกุลโครงสร้างนิยมตามแบบของโคล้ด เลวี-สโทรส (Claude Lévi-Strauss: 1908-2009) ซึ่งเน้นย้ำว่าพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมถูกกำกับด้วยแบบแผนความสัมพันธ์ภายในระบบสังคมนั้น ก็ยังไม่น่าพึงพอใจสำหรับบูร์ดิเยอเสียทีเดียว เช่น ไม่สามารถอธิบายถึงการริเริ่มบางอย่างของปัจเจกบุคคลซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสังคมได้

ในการพิจารณาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม ความขัดแย้งระหว่างหลักปรัชญาอัตบุคคลกับหลักทฤษฎีโครงสร้างสังคมดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุให้ญาณวิทยา (épistémologie) และวิธีวิทยา (méthodologie) มีบทบาทสำคัญยิ่งในการคิดใคร่ครวญทางทฤษฎีของบูร์ดิเยอ โดยเขาชี้ว่าปัญหาที่ส่งผลให้แนวคิดและหลักวิธีต่างๆ ไม่มีความครอบคลุมเพียงพอนั้น ได้แก่ การให้น้ำหนักกับอัตวิสัย (subjectivité) หรือกับภววิสัย (objectivité) อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเขาต้องประสบปัญหานี้อยู่เสมอในการศึกษาสังคมรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่งานศึกษาชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับชนเผ่าคาไบล์ (Kabyle) ในแอลจีเรีย งานวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ในฝรั่งเศสเกี่ยวกับวงการศึกษา ศิลปะ วรรณกรรม รสนิยมการบริโภค วิถีการดำเนินชีวิต จนถึงเรื่องของศาสนา ภาษา และรัฐ แกนหลักในงานศึกษาหลายชิ้นของบูร์ดิเยอจึงมุ่งไปที่ประเด็นความขัดแย้งในคู่ตรงข้ามระหว่างภววิสัยและอัตวิสัย นั่นคือความขัดแย้งระหว่างการให้ความสำคัญต่อแบบแผนโครงสร้างซึ่งเป็นเงื่อนไขกำหนดการกระทำกับการเน้นความสำคัญของปัจเจกผู้กระทำซึ่งมีเจตจำนง จุดหมาย เหตุผลของตนเอง ตลอดจนอิสรภาพในขอบเขตหนึ่ง นี่เป็นประเด็นปัญหาที่วงการศึกษามนุษย์และสังคมในโลกตะวันตกถกเถียงกันอย่างเข้มข้นมานานหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยว่าเดิมพันของการถกเถียงมิได้เป็นเพียงเรื่องของความลงตัวทางวิชาการ แต่ยังอยู่ที่ความเป็นไปได้เพียงใดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งนี้บูร์ดิเยอย้ำว่าการที่จะทำความเข้าใจและอธิบายมนุษย์กับสังคมให้ได้อย่างแท้จริงจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้งพื้นฐานในแนวคิดเหล่านี้เสียก่อน ทั้งนี้โดยตระหนักถึงข้อดีข้อเสียของการใช้แนวทางทั้งสองแนวด้วย

จากประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว บูร์ดิเยอได้เสนอทฤษฎีแห่งการปฏิบัติ (théorie de la pratique) อันเป็นความพยายามผสานข้อดีและหาจุดกึ่งกลางระหว่างแนวคิดทั้งสองขั้ว กล่าวคือแทนที่จะมุ่งหาโครงสร้างและกฎเกณฑ์ล้วนๆ ที่กำหนดการกระทำหรือมุ่งศึกษาเจตจำนงล้วนๆ ของปัจเจกในฐานะที่เป็นอัตบุคคลอิสระ ทฤษฎีของบูร์ดิเยอเสนอให้ศึกษาที่ระดับกระบวนการของการกระทำหรือการปฏิบัติ โดยมองว่าการกระทำต่างๆ ของปัจเจกดำเนินไปบนหลักการที่สอดคล้องกับเหตุและผลในลักษณะพิเศษที่เรียกว่าเหตุผลเชิงปฏิบัติ (raison pratique) เป็นหลักการที่อธิบายการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งควรจะเรียกว่ามีความสมเหตุสมผล (raisonnable) มากกว่าเป็นเหตุเป็นผล (rationnel) เมื่อพิจารณาที่การปฏิบัติเช่นนี้ก็จะพบว่าปัจเจกมีส่วนกำหนดการกระทำของตน และขณะเดียวกันก็ถูกกำหนดโดยโครงสร้างหรือระบบด้วย หัวใจสำคัญของทฤษฎีของบูร์ดิเยอที่อธิบายความสัมพันธ์ในสองทิศทางดังกล่าว ได้แก่ กรอบแนวคิดเรื่องนิจภาพ (habitus) โดยบูร์ดิเยอเสนอว่านิจภาพเป็นโครงสร้างที่ชี้นำแนวทางการกระทำของปัจเจก การรับรู้ การตัดสินใจ เสนอทางเลือกว่าสิ่งใดควรกระทำ หรือไม่ควรกระทำ สร้างระเบียบและเอกภาพให้กับการกระทำของกลุ่มปัจเจกที่อยู่ภายในโครงสร้างดังกล่าว โดยที่ปัจเจกผู้กระทำเหล่านั้นไม่รู้ตัวว่าการกระทำของตนอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าวซึมซับเข้าไปในปัจเจกผ่านการปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการหล่อหลอมทางสังคมอันยาวนานจนไม่สามารถตระหนักในระดับจิตสำนึกได้อย่างชัดเจน ทว่าในขณะเดียวกัน ความไม่ตระหนักในระดับจิตสำนึกนี้ก็ทำให้โครงสร้างดังกล่าวมีลักษณะหลวม ไม่ชัดเจนตายตัว และเปิดช่องให้การกระทำของปัจเจกส่งผลกระทบต่อโครงสร้างได้ ด้วยเหตุนี้เอง นิจภาพจึงเป็นโครงสร้างที่ทั้งกำหนดโครงสร้างแก่การกระทำ (structure structurante) และถูกกำหนดขึ้นด้วยโครงสร้างของการกระทำ (structure structurée) ในทัศนะของบูร์ดิเยอ กุญแจในการศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ในสังคมวอยู่ที่แนวคิดเรื่องยุทธวิธี (stratégie) ปัจเจกในโครงสร้างมีฐานะเป็นนักยุทธศาสตร์ ซึ่งการเลือกกระทำในขอบเขตที่นิจภาพเปิดโอกาสให้นั้นมีลักษณะเป็นการดิ้นรนต่อสู้กับกฎ ระเบียบ กติกา ต่างๆ โดยมีผลประโยชน์ (intérêt) อันได้แก่อำนาจเป็นเดิมพัน ส่วนยุทธวิธีที่ใช้จะแตกต่างกันไปตามวงการ (champ) ที่การต่อสู้เพื่ออำนาจนั้นดำเนินอยู่

ทฤษฎีของบูร์ดิเยอนั้นมุ่งศึกษาประเด็นเรื่องอำนาจและการแบ่งชนชั้นในสังคมโดยเน้นความสำคัญของคำอธิบายทางวัฒนธรรม หนังสือ La Distinction นับเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้บูร์ดิเยอด้วยเนื้อหาที่ตีแผ่กิจกรรมของชนชั้นต่างๆ ในสังคมอย่างตรงไปตรงมา และอาศัยความหนาแน่นของข้อมูลอ้างอิงรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพถ่าย ตาราง ข้อความที่ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์ แนวคิดสำคัญของเขาซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอันโตนิโย กรัมชี (Antonio Francesco Gramsci: 1891-1937) คือแนวคิดที่ว่าเราพึงพิจารณาวัฒนธรรมในแง่ที่สัมพันธ์กับอำนาจและการแบ่งชนชั้นทางสังคม ซึ่งจะช่วยอธิบายว่าเหตุใดการครอบงำและการแบ่งชนชั้นจึงดำรงอยู่ได้ในสังคมโดยปราศจากการต่อต้านหรือแม้แต่ความตระหนักอย่างแท้จริงของสมาชิกในแต่ละสังคมวัฒนธรรม บูร์ดิเยอเสนอว่าการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเพื่อการครอบงำเชิงอำนาจเป็นหลักการพื้นฐานในทุกมิติของสังคม ซึ่งการครอบงำดังกล่าวมีทั้งรูปแบบที่เป็นวัตถุเชิงรูปธรรมและที่เป็นคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ ทั้งนี้โดยทั่วไปเรามักจะพิจารณาการครอบงำทางอำนาจในด้านวัตถุรูปธรรมเป็นสำคัญ เช่น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเอาเปรียบมูลค่าแรงงานดังที่นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ยึดเป็นแกนหลัก ส่วนอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่บูร์ดิเยอสนใจนั้นจะอยู่ในบริบทของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งปัจจัยทางวัฒนธรรมนี้มักถูกมองว่าเป็นเพียงผลผลิตบั้นปลายของปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ในขณะที่นักวิชาการสายมาร์กซิสต์เน้นอธิบายแหล่งที่มาของอำนาจครอบงำและการแบ่งชนชั้นทางสังคมว่าอิงอยู่กับทุนทางเศรษฐกิจนั้น บูร์ดิเยอเสนอว่าเราต้องไม่มองข้ามทุนทางวัฒนธรรม (capital culturel) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อิงอยู่กับการให้ความหมายและคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ และมีพลังครอบงำไม่แพ้ปัจจัยทางเศรษฐกิจหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ การครอบงำทางอำนาจจะไม่สามารถบรรลุผลอย่างสมบูรณ์หากชนชั้นที่ต้องการครอบงำไม่สามารถเป็นผู้ครอบครองทุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้ กล่าวคือต้องยึดกุมความชอบธรรม (légitimité) แห่งการครอบงำนั้นๆ ไว้ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้อำนาจแบบซ่อนเร้นหรือที่บูร์ดิเยอเรียกว่าความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (violence symbolique) ในรูปแบบต่างๆ แนวคิดของบูร์ดิเยอนับได้ว่าเป็นการเสนออีกทางเลือกหนึ่งในการมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านมิติของสัญลักษณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความหมายและคุณค่า และเป็นแนวทางไปสู่การอธิบายประเด็นปัญหาเรื่องการแบ่งชนชั้นทางสังคมได้อย่างรอบด้าน ทั้งนี้สำหรับบูร์ดิเยอแล้ว สังคมวิทยาเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการศึกษาและตีแผ่มิติเรื่องอำนาจและการแบ่งชนชั้นในสังคม โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ศึกษาจะต้องมีความคิดวิพากษ์สะท้อนกลับ (réflexivité) เพื่อให้สามารถวิพากษ์สังคมโดยวิพากษ์ตนเองได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ศึกษาไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการสาขาใดก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งซึ่งผ่านการหล่อหลอมมาโดยสังคมเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากผู้ศึกษามองข้ามการวิเคราะห์ตนเองแล้ว การสร้างแนวคิดทฤษฎีที่ปราศจากอคติของผู้ศึกษาก็คงเป็นไปได้ยาก และการศึกษาสังคมก็คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีส่วนพยุงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมนั้นต่อไป

บูร์ดิเยอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักคิดนักวิชาการในสาขาเดียวกันในหลายแง่มุม เช่น ทฤษฎีของเขามีลักษณะตีขลุม กล่าวคือนิยมสรุปผลทั่วไปจากตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่าง มโนทัศน์ที่เขาเสนอมักจะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ชวนให้หวือหวาชั่วครู่ชั่วยาม แนวคิดของเขาไม่สามารถหลีกหนีการเป็นหนึ่งในคู่ตรงข้ามภววิสัย/อัตวิสัยได้อย่างแท้จริง งานศึกษาบางชิ้นของเขามีการวิเคราะห์ที่ฉาบฉวยและคลุมเครือ หรือแม้กระทั่งข้อวิจารณ์ที่ว่าทฤษฎีของบูร์ดิเยอมีที่มาจากอคติที่เกิดจากภูมิหลังชีวิตของเขาซึ่งมิได้มีพื้นฐานครอบครัวที่อุดมด้วยทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมเหมือนนักคิดอื่นๆ ที่ผ่านการศึกษาชั้นสูงในระดับเดียวกัน แต่ไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรก็ตาม ผลงานของบูร์ดิเยอก็นับได้ว่ามีคุณูปการต่อวงการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างยิ่งยวด ดังที่ริชาร์ด เจนกินส์ (Richard Jenkins) ได้ให้ทัศนะไว้ว่างานของบูร์ดิเยอนั้นได้เสนอคำตอบแก่คำถามที่เป็นข้อถกเถียงหลักข้อหนึ่งในวงวิชาการ คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการถูกกำหนดด้วยโครงสร้างกับเสรีภาพในการกระทำซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมศาสตร์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้บูร์ดิเยอยังเน้นย้ำอยู่เสมอว่างานวิชาการต้องสร้างความสมดุลระหว่างข้อมูลเชิงประจักษ์เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีกับคำอธิบายทางทฤษฎีที่ครอบคลุมในระดับกว้างได้ เนื่องจากทฤษฎีที่ไร้ซึ่งการวิจัยเชิงประจักษ์เป็นทฤษฎีที่ว่างเปล่า ส่วนการวิจัยเชิงประจักษ์ที่ปราศจากทฤษฎีก็เป็นการวิจัยแบบมืดบอด (Theory without empirical research is empty, empirical research without theory is blind.) ข้อสะกิดใจสำคัญอีกข้อหนึ่งที่บูร์ดิเยอฝากไว้ให้นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ ความสำคัญของการสร้างทฤษฎีแบบสะท้อนกลับ (reflexive theory) ซึ่งจะช่วยให้

[con·tin·ue]

เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์

มโนทัศน์สำคัญๆ ทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาในผลงานของปิแยร์ บูร์ดิเยอ

บรรณานุกรม

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page