top of page

เสรีนิยมกับประชาธิปไตย (Liberalism and Democracy)


เสรีนิยมกับประชาธิปไตย

แปลจาก Liberalism and Democracy (2006) เขียนโดยนอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ (Norberto Bobbio) ต้นฉบับพิมพ์ครั้งแรกในภาษาอิตาเลียนชื่อ Liberalismo e democrazia (1988) แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมาร์ติน ไรล์ (Martin Ryle) และเคท โซเพอร์ (Kate Soper) แปลเป็นภาษาไทยโดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2558 จำนวน 144 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9786167150536

บทที่ 1 ความคิดเรื่องเสรีภาพแบบคลาสสิกกับสมัยใหม่ (Classical and Modern Ideas of Liberty)

การดำรงอยู่ในปัจจุบันของระบอบที่เรียกว่าเสรีประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยเสรีบ่งชี้ว่าเสรีนิยมกับประชาธิปไตยต่างพึ่งพากันและกัน อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองสลับซับซ้อนยิ่งและหาได้มีลักษณะต่อเนื่องกันหรือมีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวกันไม่ ในการใช้คำทั้งสองนี้ที่สามัญทั่วไปที่สุดนั้น เสรีนิยมหมายถึงแนวคิดเฉพาะเจาะจงแบบหนึ่งเกี่ยวกับรัฐที่ซึ่งรัฐถูกคิดถึงในลักษณะที่มีอำนาจหน้าที่จำกัด และฉะนั้นจึงแตกต่างจากทั้งรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์และสิ่งที่เรียกขานกันในทุกวันนี้ว่ารัฐสังคม ส่วนประชาธิปไตยหมายถึงหนึ่งในบรรดาแบบวิถีการปกครองมากมายหลายแบบที่เป็นไปได้ซึ่งมิได้ฝากฝังอำนาจไว้กับบุคคลคนเดียวหรือไว้ในมือคนไม่กี่คน ทว่าให้อำนาจนั้นอยู่กับคนทุกคนหรืออยู่กับเสียงข้างมากจะถูกกว่า ประชาธิปไตยจึงผิดแผกแตกต่างจากการปกครองในรูปแบบอัตตาธิปไตยทั้งหลาย อาทิเช่นระบอบกษัตริย์และคณาธิปไตย รัฐเสรีนิยมนั้นไม่จำต้องเป็นประชาธิปไตย เอาเข้าจริงมีกรณีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของรัฐเสรีนิยมต่างๆ ในสังคมที่การมีส่วนร่วมในการปกครองจำกัดจำเขี่ยยิ่งและสงวนไว้แก่บรรดาชนชั้นมั่งมีเท่านั้น ส่วนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่จำต้องส่งผลให้เกิดรัฐเสรีนิยมเช่นกัน อันที่จริงรัฐเสรีนิยมคลาสสิกพบว่าตอนนี้ตัวเองตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งเกิดตามมาจากการค่อยๆ ขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้งออกไปจนถึงจุดที่มันกลายเป็นสิทธิสากลต่างหาก

ในการเปรียบเทียบความคิดเรื่องเสรีภาพแบบสมัยใหม่กับโบราณของเขา เบนจามิน กองสตองซ์ (Henri-Benjamin Constant de Rebecque) เอาเสรีนิยมไปเปรียบตัดกับประชาธิปไตย โดยอภิปรายลักษณะแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างทั้งสองอย่างประณีตแนบเนียนพอสมควรในคำบรรยายอันลือลั่นของเขาที่แสดงแก่ราชบัณฑิตยสถานในกรุงปารีสเมื่อปี 1818 คำบรรยายนี้เสนอสนองจุดเริ่มต้นให้การสืบสาวประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยุ่งยากและเป็นที่โต้แย้งกันมากระหว่างความเรียกร้องต้องการขั้นมูลฐานต่างๆ ซึ่งได้ก่อให้เกิดรูปแบบรัฐร่วมสมัยในบรรดาชาติที่พัฒนาแล้วมากที่สุดในทางเศรษฐกิจและสังคม อันได้แก่ความเรียกร้องต้องการให้จำกัดอำนาจในทางหนึ่งและความเรียกร้องต้องการให้กระจายอำนาจในอีกทาง เขาเขียนว่า

"คนโบราณมุ่งกระจายอำนาจออกไปในหมู่พลเมืองทั้งปวงของรัฐๆ หนึ่ง และพวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าเสรีภาพ ทว่าสำหรับคนสมัยใหม่ เป้าหมายคือความมั่นคงแห่งสมบัติเอกชนที่ตนครอบครอง สำหรับพวกเขาแล้ว เสรีภาพหมายถึงหลักประกันความมั่นคงของสมบัติเหล่านี้ที่สถาบันทั้งหลายของพวกเขาจัดสนองให้ได้"

ในฐานะนักเสรีนิยมเต็มตัว กองสตองซ์ถือว่าจุดหมายทั้งสองนี้เข้ากันไม่ได้ ในที่ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรงในการตัดสินใจรวมหมู่ ปัจเจกบุคคลก็จะลงเอยตกเป็นเบี้ยล่างสิทธิอำนาจของส่วนรวมและสูญเสียเสรีภาพของตนในฐานะบุคคลเอกชนไป และเสรีภาพเอกชนนี่แหละที่พลเมืองทุกวันนี้เรียกร้องต้องการจากอำนาจสาธารณะ ฉะนั้นเขาจึงสรุปว่า

"ทุกวันนี้เราไม่สามารถเสพเสรีีภาพของคนโบราณซึ่งอยู่ที่การได้เข้าร่วมในอำนาจรวมหมู่อย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่องอีกต่อไปแล้ว เปรียบไปแล้วเสรีภาพของเราแตกต่างออกไปตรงมันต้องอยู่ที่การได้เสพความเป็นอิสระของเอกชนอย่างสงบสุข"

แม้กองสตองซ์จะอ้างอิงถึงคุณโบราณ ทว่าข้อถกเถียงของเขานั้นมุ่งใส่ตัวบุคคลที่อยู่ในยุคสมัยใกล้กันกว่าได้แก่ ฌอง-ฌากส์ รูสโซ (Jean-Jacques Rousseau) อันที่จริงผู้ประพันธ์หนังสือ "สัญญาประชาคม (Social Contract)" ซึ่งอ้างอิงข้อเขียนของบรรดานักเขียนยุคคลาสสิกอย่างมากคนนี้ จินตภาพถึงสาธารณรัฐที่ซึ่งเมื่ออำนาจอธิปไตยได้ถูกประกอบส่วนสร้างขึ้นด้วยข้อตกลงสากลที่ทำขึ้นอย่างสมัครใจแล้วก็จะไม่มีวันผิดพลาดบกพร่องได้ และย่อมไม่จำเป็นต้องให้การประกันใดๆ แก่คนในบังคับ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่องค์คณะจะอยากทำร้ายสมาชิกทั้งหมดของตน แน่ล่ะว่ารูสโซไม่เคยพาข้อถกเถียงเรื่องเจตจำนงร่วมเตลิดเปิดเปิงไปไกลเสียจนกระทั่งปฏิเสธความจำเป็นของการจำกัดอำนาจรัฐเอาไว้ การกล่าวหาเขาว่าเป็นผู้ก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดเฉกเช่นเดียวกับที่มันเป็นที่ยึดถือกันโดยทั่วไป แม้เขาจะยืนยันว่าข้อตกลงทางสังคมได้มอบหมายอำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ให้แก่องค์คณะทางการเมือง แต่เขาก็ยืนกรานด้วยว่า "แต่ในด้านของรัฏฐาธิปัตย์ก็ไม่สามารถยัดเยียดข้อผูกมัดใดๆ ให้แก่ผู้อยู่ในบังคับของตนได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน" อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าข้อจำกัดเหล่านี้หาได้ถูกสถาปนาขึ้นก่อนรัฐจะถือกำเนิดไม่ ดังที่เป็นเช่นนั้นในลัทธิสิทธิโดยธรรมชาติซึ่งเสนอสนองแก่นการคิดเบื้องหลังรัฐเสรีนิยม อันที่จริงขณะที่รูสโซยอมรับว่า "แต่ละคนมอบให้... โดยข้อตกลงทางสังคมเฉพาะส่วนแห่งอำนาจของตน ...ที่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้อยู่ใต้การควบคุมของชุมชน" ถึงกระนั้นเขาก็ยังสรุปว่า "แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์เพียงลำพังเท่านั้นคือผู้ตัดสินว่าสิ่งใดสำคัญ"

ในทางทฤษฎี พื้นฐานรองรับความขัดแย้งระหว่างพวกเสรีนิยมผู้เรียกร้องให้รัฐปกครองน้อยที่สุดเท่าที่น้อยได้ กับพวกประชาธิปไตยผู้เรียกร้องให้การปกครองรัฐตกอยู่ในมือพลเมืองมากที่สุดเท่าที่มากได้ นั้นก็คือการปะทะกันระหว่างความเข้าใจเสรีภาพที่แตกต่างกันสองแบบนั่นเอง ในระบอบปกครองที่ซึ่งเสรีภาพชนิดแรกถูกริบรวบไปโดยอำนาจอันไร้ขีดจำกัด หรือเสรีภาพชนิดที่สองถูกริบรวบไปโดยอำนาจที่ไม่พร้อมรับผิดชอบส่วนรวม ความขัดแย้งที่ว่านี้ก็จะถูกปิดกั้นไว้ไม่ให้มีช่องทางแสดงออกเมื่อเผชิญหน้ากับระบอบปกครองแบบหนึ่งแบบใดในสองแบบนี้ เสรีนิยมกับประชาธิปไตยอันเป็นฝาแฝดที่แตกคอกันก็จำเป็นต้องกลายเป็นพันธมิตรกันแทน

บทที่ 2 สิทธิของมนุษย์ (The Rights of Man)

ฐานคติเบื้องต้นทางปรัชญาของรัฐเสรีนิยมในฐานเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงรัฐที่มีอำนาจจำกัดโดยเปรียบตัดต่างกับรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์นั้นจะหาพบได้ในลัทธิสิทธิโดยธรรมชาติซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสำนักสิทธิโดยธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ ลัทธินี้ถือว่ามนุษย์ซึ่งหมายถึงบุคคลทั้งปวงโดยไม่ยกเว้นย่อมครอบครองไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานที่แน่นอน อาทิ สิทธิเหนือชีวิต เสรีภาพ ความมั่นคงและความสุข ทั้งนี้การครอบครองนั้นเป็นไปโดยธรรมชาติ นั่นคือไม่ขึ้นต่อเจตจำนงของตัวเอง และยิ่งไม่ขึ้นต่อเจตจำนงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่น รัฐหรือกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นก็คือบรรดาผู้ยึดกุมอำนาจอันชอบธรรมที่จะบังคับให้คนอื่นเชื่อฟังทำตามคำบัญชาของตน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จักต้องเคารพสิทธิเหล่านี้ จักต้องไม่ล่วงล้ำมัน และต้องประกันให้มันปลอดพ้นจากการล่วงละเมิดใดๆ ที่คนอื่นอาจกระทำได้ การระบุว่าใครคนหนึ่งมีสิทธิก็คือการตระหนักรับว่าปัจเจกบุคคลผู้นั้นมีสมรรถภาพที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำได้ตามใจชอบ และตระหนักรับว่าเขามีอำนาจที่จะต่อต้านใครก็ตามแต่ที่อาจล่วงละเมิดสิทธินั้นๆ โดยตัวเขาเองอาจใช้กำลังของตนเองหรือผู้อื่นในการต่อต้านดังกล่าวได้ในขั้นสุดท้าย อันส่งผลในทางกลับกันให้บรรดาผู้มีศักยภาพจะกลายเป็นผู้ล่วงละเมิดสิทธิที่ว่าทั้งหลายมีหน้าที่หรือพันธะที่จะต้องงดเว้นการกระทำใดๆ ซึ่งอาจแทรกแซงไม่ว่าในทางใดๆ ต่อสมรรถภาพของเขาที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำตามสิทธินั้นเสีย

คำว่าสิทธิและหน้าที่เป็นแนวคิดที่กอปรด้วยพลังสั่งการและฉะนั้นมันจึงตั้งอยู่บนฐานคติเบื้องต้นว่ามีบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติบางอย่างอยู่ก่อน ซึ่งในขณะเดียวกับที่มันตระหนักรับสมรรถภาพขององค์ประธานที่จะกระทำหรืองดเว้นการกระทำได้ตามใจชอบนั้น มันก็เรียกร้องต้องการให้คนอื่นทุกคนละเว้นจากการกระทำทั้งปวงที่อาจขัดขวางการใช้สมรรถภาพดังกล่าวไม่ว่าในทางใดๆ ด้วย เราอาจนิยามลัทธิกฎธรรมชาติได้ว่ามันเป็นการเอ่ยอ้างยืนยันการมีอยู่ของกฎเกณฑ์ที่มิได้สถาปนาขึ้นด้วยเจตจำนงของมนุษย์ และฉะนั้นมันจึงเกิดก่อนการก่อตัวของกลุ่มสังคมใดๆ กฎที่ว่านี้อาจตรวจสอบยืนยันให้มั่นใจได้โดยการสอบค้นด้วยเหตุผล และกฎเหล่านี้ก็เป็นฐานที่มาให้เราดึงข้อสรุปเรื่องสิทธิและหน้าที่จากมันได้ เฉกเช่นเดียวกับที่เราดึงได้จากกฎเกณฑ์เชิงศีลธรรมหรือนิติธรรมทั้งปวง และค่าที่สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวนั้นเป็นข้อสรุปที่ดึงเอามาจากกฎธรรมชาติ มันจึงถือเป็นสิทธิและหน้าที่โดยธรรมชาติ

เราพูดถึงลัทธิกฎธรรมชาติในฐานที่เป็นฐานคติเบื้องต้นทางปรัชญาของเสรีนิยมก็เพราะมันช่วยสถาปนาขีดจำกัดสถาปนาขีดจำกัดแห่งอำนาจบนพื้นฐานของแนวคิดอันเป็นสมมุติฐานทั่วไปว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งไม่จำต้องมีข้อพิสูจน์ว่าถูกต้องเป็นจริงในเชิงประจักษ์หรือประวัติศาสตร์ใดๆ ในงานของเขาเรื่อง "อรรถกถาว่าด้วยการปกครอง เล่มที่สอง (Two Treatises of Civil Government)" จอห์น ล็อค (John Locke) ผู้เป็นบิดาคนหนึ่งของเสรีนิยมสมัยใหม่ ได้ถือเอาภาวะธรรมชาติเป็นจุดเริ่มต้นของตนซึ่งเขาบรรยายว่ามันเป็นภาวะที่มีเสรีภาพและเสมอภาคสมบูรณ์แบบ ปกครองด้วยกฎธรรมชาติซึ่ง "สอนมนุษยชาติทั้งปวงผู้ขอเพียงปรึกษามันก็จะทราบได้เลยว่าในฐานที่ทุกคนล้วนเสมอภาคและเป็นอิสระ ไม่ควรที่ใครจะทำร้ายชีวิต สุขภาพ เสรีภาพ หรือสมบัติที่คนอื่นถือครอง"

คำบรรยายข้างต้นนี้เป็นผลจากการรังสรรค์ขึ้นใหม่ในจินตนาการซึ่งสิ่งที่สันนิษฐานว่าเป็นภาวะแรกเริ่มเดิมทีของมนุษย์ และวัตถุประสงค์เดียวของมันคือเปิดช่องให้ล็อคมีเหตุผลที่ดีมาให้ความชอบธรรมแก่การจำกัดอำนาจของรัฐ อันที่จริงลัทธิสิทธิโดยธรรมชาติเป็นฐานรองรับคำประกาศแห่งอิสรภาพของอเมริกาเหนือเมื่อปี 1776 และคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 ในเอกสารทั้งสองฉบับ เราจะพบการยืนยันหลักการมูลฐานของรัฐเสรีนิยมในฐานะที่เป็นรัฐอันมีอำนาจจำกัด กล่าวคือจุดมุ่งหมายแห่งสมาคมทางการเมืองทุกแห่งคือการธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์อันไม่มีผู้ใดมาประสิทธิ์ประสาทให้ได้ (มาตรา 2 ของคำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง 1789)

ในฐานะทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นโดยบรรดานักปรัชญา นักเทววิทยา และนักนิติศาสตร์มากหน้าหลายตา อาจถือได้ว่าลัทธิสิทธิของมนุษย์เป็นการให้เหตุผลรองรับตามหลังแก่สภาพการณ์อันเป็นผลมาจากการต่อสู้ยาวนานหลายศตวรรษก่อนหน้านั้นระหว่างกษัตริย์กับพลังสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะในอังกฤษ ในมหากฎบัตร (Magna Carta) ซึ่งกษัตริย์จอห์น (King John Lackland of England) ทรงยินยอม...

[con·tin·ue]

บทที่ 3 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ (The Limits of State Power)

บทที่ 4 เสรีภาพ vs. อำนาจ (Liberty versus Power)

บทที่ 5 ดอกผลของความขัดแย้ง (The Fruitfulness of Conflict)

บทที่ 6 ความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบโบราณกับสมัยใหม่ (Ancient and Modern Ideas of Democracy)

บทที่ 7 ประชาธิปไตยกับความเสมอภาค (Democracy and Equality)

บทที่ 8 เสรีนิยมเผชิญหน้าประชาธิปไตย (Liberalism's Encounter with Democracy)

บทที่ 9 ปัจเจกนิยมกับอินทรียนิยม (Individualism and Organicism)

บทที่ 10 นักเสรีนิยมกับนักประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19 (Liberals and Democrats in the Nineteenth Century)

บทที่ 11 ทรราชย์ของเสียงข้างมาก (The Tyranny of the Majority)

บทที่ 12 เสรีนิยมกับประโยชน์นิยม (Liberalism and Utilitarianism)

บทที่ 13 ประชาธิปไตยแบบแทนตน (Representative Democracy)

บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)

บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)

บทที่ 16 เสรีนิยมแบบใหม่ (The New Liberalism)

บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)

ท้ายอรรถ (Notes)

เบนจามิน กองสตองซ์ (Henri-Benjamin Constant de Rebecque: 1767-1830) นักการเมืองและนักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบเผด็จการอำนาจอาญาสิทธิ์และบุกเบิกปรัชญาการเมืองเสรีนิยมฝรั่งเศสแห่งต้นศตวรรษที่ 19 ที่สำคัญเขาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเสรีภาพแบบกรีกโบราณของรูสโซที่เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองซึ่งเปิดช่องให้เกิดคณาธิปไตยภายใต้ข้ออ้างเจตจำนงร่วม และนำเสนอแนวคิดเสรีภาพสมัยใหม่ที่เน้นสิทธิ อิสรภาพ และเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการดำเนินชีวิตและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว

ฌอง-ฌากส์ รูสโซ (Jean-Jacques Rousseau: 1712-1778) นักเขียนและนักปรัชญาสำคัญที่สุดคนหนึ่งแห่งยุครู้แจ้งของฝรั่งเศส เกิดที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ (Geneva, Switzerland) ไม่กี่วันหลังคลอดก็กำพร้าแม่ ส่วนพ่อเป็นช่างทำนาฬิกาและเสรีชนผู้มีสิทธิ์ออกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของเมืองเจนีวา แต่ทิ้งเขาไปเมื่อเขาอายุเพียง 10 ขวบ รูสโซปลาบปลื้มชื่นชมสถาบันการเมืองแบบเสรีนิยมของเจนีวาอย่างไม่สั่นคลอนสืบมา เขาได้รับสืบทอดห้องสมุดขนาดใหญ่เป็นมรดกบวกความเป็นหนอนหนังสือตัวยงทำให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลักนอกระบบการศึกษาแบบแผน เมื่ออายุได้ 15 ปี เขาได้รับอุปถัมภ์จากหญิงตระกุลขุนนางนามฟรองซัวส์-หลุยส์ เดอ วารองส์ (François-Louis de Varone) ซึ่งนำไปสู่การเข้ารีดเป็นคาทอลิก ถูกเนรเทศจากเมืองเจนีวาและตัดขาดจากพ่อ ก่อนจะถูกเธอทิ้งในกาลต่อมา รูสโซเริ่มศึกษาอย่างจริงจังในวัยยี่สิบกว่าและได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเวนิส (Venice, Italy) ในปี 1743 หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ออกเดินทางไปอยู่กรุงปารีสและสร้างชื่อเสียงในฐานะนักเขียนความเรียงที่ยั่วให้แย้ง เมื่อหนังสือของเขาถูกต้องห้ามในฝรั่งเศสกับเจนีวา เขาก็หนีไปอยู่ลอนดอน (London, England) ช่วงสั้นๆ แต่มิช้าก็กลับมาอยู่ฝรั่งเศสจนสิ้นชีวิต ระหว่างเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่บ้านตระกูลเดอ มาบลี (de Mably) ในวัย 37 ปี รูสโซทนทุกข์ทรมานจากความโดดเดี่ยวเอกาและขาดคนเข้าใจ จากประสบการณ์นี้ เขาดึงหลักแกนแห่งปรัชญาของเขาออกมา นั่นคือปรัชญาว่าด้วยองค์ประธานเสรี (มโนสำนึก หัวใจ) จากจุดนั้นด้วยการสืบค้นแสวงหาจากภายในตัวเขาเอง เขาพยายามค้นหาความลับแห่งความสุขของคนอื่น รวมทั้งความเข้าใจซึ่งกันและกันของคนเหล่านั้น เขาเสนอว่าความชั่วร้ายที่มนุษย์ประสบนั้นเป็นเรื่องของภาษาและการเมือง การค้นคว้าหาความผสานกลมเกลียวในหมู่มนุษย์ดังกล่าวนี้แสดงออกในบทวิพากษ์ว่าด้วยรากฐานประดามีของสังคมที่ทุจริตฉ้อฉล ซึ่งเผยให้เห็นหลักจริยธรรมทั้งของชีวิตส่วนตัวและสาธารณะในงานชิ้นต่างๆ ของเขา ทั้งทางปรัชญา นวนิยาย และอัตชีวประวัติ

จอห์น ล็อค (John Locke: 1632-1704) นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งงานเขียนของเขาเป็นรากฐานปรัชญา ประสบการณ์นิยม และการเมืองเสรีนิยมสมัยใหม่ เขาเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังยุครู้แจ้งในยุโรป รวมทั้งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาด้วย ความคิดทางการเมืองของเขายึดหยั่งอยู่ในแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมในหมู่พลเมืองและความสำคัญของความอดทนอดกลั้นโดยเฉพาะในเรื่องศาสนา สิ่งที่เขาส่งเสริมเรียกร้องมากมายหลายประการในทางการเมืองกลายเป็นที่ยอมรับนำไปปฏิบัติจัดตั้งกันในอังกฤษหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เมื่อปี 1688-1689 และในสหรัฐอเมริกาหลังประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1776 งานเรื่อง Two Treatises of Civil Government (1690) โดยเฉพาะ The Second Treatise ถือเป็นข้อเขียนสำคัญที่สุดเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองเสรีนิยมของเขา

มหากฎบัตร (Magna Carta) คือกฎบัตรแห่งเสรีภาพของอังกฤษซึ่งกษัตริย์จอห์น (King John Lackland of England) ประทานให้ในปี 1215 ภายใต้การคุกคามว่ามิฉะนั้นจะเกิดสงครามกลางเมือง มันถูกตราออกมาใหม่โดยดัดแปลงแก้ไขไปบ้างในปี 1216, 1217 และ 1225

กษัตริย์จอห์น (King John Lackland of England: 1166-1216) กษัตริย์อังกฤษผู้ครองราชย์ระหว่างปี 1199-1216 ในสงครามกับกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส (Philip II of France: 1165-1223) พระองค์เสียนอร์มังดี (Normandy) และเขตปกครองเกือบทั้งหมดของตนในฝรั่งเศสไป ในอังกฤษเองภายหลังการกบฏของพวกขุนนาง พระองค์ถูกบังคับให้ตรามหากฎบัตรออกมาในปี 1215

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page