top of page

อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย: บันทึกความทรงจำของเลขานุการฮิตเลอร์ (Until the Final Hour: Hitler&#


อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย: บันทึกความทรงจำของเลขานุการฮิตเลอร์

แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมัน Bis zur letzten Stunde: Hitlers Sekretärin erzählt ihr Leben (2002) เขียนโดยเทราเดล ยุงเงอ (Traudl Junge) บรรณาธิการและบทอธิบายโดยเมลิสสา มึลเลอร์ (Melissa Müller) มีฉบับแปลภาษาอังกฤษในชื่อ Until the Final Hour: Hitler's Last Secretary โดย Anthea Bell แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทยโดยศาสตราจารย์ ดร.อำภา โอตระกูล โครงการจัดพิมพ์คบไฟ พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2550 จำนวน 312 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789749435028

คำนำผู้แปล

ในระยะ 50 ปี ที่ผ่านมา หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับฮิตเลอร์และอาณาจักรไรซ์ที่สาม (The Third Reich) ของเยอรมันพิมพ์ออกสู่ตลาดมากมายทั้งหนังสือวิชาการและมิใช่วิชาการ โดยทั่วไปก็จะเป็นงานที่ประณามความเลวร้ายของฮิตเลอร์และพรรคนาซี (Nazi Party: The National Socialist German Workers' Party) พร้อมทั้งโจมตีคนเยอรมันสมัยนั้นที่ยอมปล่อยให้รัฐบาลเผด็จการของฮิตเลอร์นำประเทศไปสู่สงครามและความหายนะ กล่าวได้ว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับฮิตเลอร์ได้รับการศึกษาถกเถียงทุกแง่ทุกมุมจนเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว ปิดฉากไปแล้ว ถึงกระนั้นเมื่อหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่อง "อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย (Bis zur letzten Stunde: Hitlers Sekretärin erzählt ihr Leben)" ของเทราเดล ยุงเงอ (Traudl Junge) ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอในระหว่างทำงานเป็นเลขานุการของฮิตเลอร์ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ.2002 ก็ปรากฏมีผู้อ่านให้ความสนใจกันอย่างคับคั่งกลายเป็นหนังสือขายดี มีการถกเถียงโต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง ฝ่ายหนี่งเห็นว่าเป็นหนังสือมีประโยชน์น่าอ่าน ทำให้เราได้รู้จักฮิตเลอร์ในมุมมองใหม่ในฐานมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่อีกฝ่ายตำหนิว่าเป็นหนังสือที่ให้ภาพฮิตเลอร์ดีเกินไป เพราะผู้เขียนเล่าเรื่องอย่างไร้เดียงสา โดยมิแยกตัวออกห่างจากบุคคลที่ตนรู้จัก สะท้อนให้เห็นความหลงใหลภาพลักษณ์ผิวเผินของฮิตเลอร์ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่แยกแยะไม่เป็น เพราะอาจนำไปสู่ความรู้สึกนิยมชมชอบฮิตเลอร์อย่างผิดๆ ได้ อย่างไรก็ตามเมลิสสา มึลเลอร์ ผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ได้ให้ความเห็นอธิบายรายละเอียดให้แล้วในบทเสริมต่อท้ายซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถใช้วิจารณญาณตัดสินอะดอร์ฟ ฮิตเลอร์ และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นได้อย่างถูกต้องพอสมควร

หนังสือบันทึกความทรงจำของเทราเดล ยุงเงอ (Traudl Junge) เกี่ยวกับชีวิตของเธอในช่วงทำงานเป็นเลขานุการของฮิตเลอร์ "อยู่กับฮิตเลอร์จนชั่วโมงสุดท้าย" เล่มนี้ได้รับการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ อำนวยการสร้างโดย Bernd Eichinger มี Bruno Ganz เป็นผู้แสดงเป็นฮิตเลอร์ ภาพยนตร์ออกฉายเมื่อปี 2004 มีชื่อในภาษาเยอรมันว่า "Der Untergang" (ภาษาอังกฤษชื่อ The Downfall) ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จ ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง พร้อมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อมวลชนของทั้งฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบอย่างเอิกเกริก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลจากสื่อมวลชนเยอรมัน 'Bambi' ประจำปี 2004 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Oscars Academy Awards) ประจำปี 2004 ที่ฮอลลีวูด (Hollywood, Los Angeles, California) ด้วย แต่ไม่ได้รับเลือก

เทราเดล ยุงเงอ (Traudl Junge) เป็นชาวเมืองมิวนิค (Munich, Germany) เกิดปี 1920 ทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์อยู่ 2 ปีกว่า ระหว่างปลายปี 1942 ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 1945 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่ฮิตเลอร์จะจบชีวิตตนเองและประเทศเยอรมนีประกาศแพ้สงคราม หลังสงครามเธอถูกจับเป็นเชลยอยู่ในความควบคุมของกองทหารรัสเซียหลายเดือน ในที่สุดสามารถหลบหนีออกมาได้ เธอกลับไปอยู่กับมารดาและน้องสาวที่บาวาเรีย (Bavaria) บ้านเกิด ทำงานทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ จนในที่สุดได้เข้าทำงานในกองบรรณาธิการของวารสาร Quick ซึ่งทำให้เธอสามารถดำเนินชีวิตเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระได้ในที่สุด

เทราเดล ยุงเงอ เริ่มจดบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตของเธอในตำแหน่งเลขานุการของฮิตเลอร์ตั้งแต่ปี 1947 แต่มิได้นำออกเผยแพร่ เขียนแล้วเธอก็เอาเก็บไว้ จนกระทั่ง 20 ปีหลังจากนั้น ในปี 1967 เมลิสสา มึลเลอร์ (Melissa Müller) นักหนังสือพิมพ์สตรีที่มีชื่อเสียงในวงการวารสารเยอรมันสายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้มาติดต่ออ้อนวอนขออนุญาตนำสิ่งที่เธอจดบันทึกไว้ออกมาตีพิมพ์เผยแพร่ เพราะเห็นว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้เมลิสสา มึลเลอร์ รับหน้าที่บรรณาธิการตรวจเกลาและดูแลเรื่องการพิมพ์ พร้อมทั้งได้เขียนบทนำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตของเทราเดล ยุงเงอ ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ รวมทั้งบทส่งท้ายบรรยายให้ผู้อ่านเห็นภาพชะตาชีวิตของเทราเดล ยุงเงอ ในสมัยหลังสงคราม การต่อสู้กับชีวิตประจำวันเพื่อการอยู่รอดและการต่อสู้กับความรู้สึกสำนึกผิดภายในจิตใจของตัวเองในฐานะที่ได้ไปมีส่วนร่วมอยู่กับคณะผู้ทำงานให้ฮิตเลอร์ ปรากฏว่าหนังสือได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มออกสู่ตลาดเรียบร้อยในปี 2002 ประสบผลสำเร็จ กลายเป็นหนังสือขายดี มีคนสนใจอ่านและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้การศึกษาวิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับฮิตเลอร์กลับมาคึกคักอีกครั้งดังที่กล่าวมาแล้ว เทราเดล ยุงเงอ เสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 หลังจากหนังสือออกจำหน่ายได้ไม่นาน

เมลิสสา มึลเลอร์ เกิดที่กรุงเวียนนา (Vienna, Austria) เมื่อปี 1967 แต่มาเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เธอทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ มีชื่อเสียงขึ้นมาจากหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของเด็กหญิงแอนเนอ ฟรังค์ (Das Mädchen Anne Frank, 1998) ซึ่งมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และได้รับรางวัล Emmy-Award เมื่อปี 2001

ในการแปลหนังสือเล่มนี้ ผู้แปลได้แปลบทบันทึกของเทราเดล ยุงเงอ ตรงตามต้นฉบับทุกประการ แต่ในบทเสริมของเมลิสสา มึลเลอร์ นั้นมีการตัดต่อใหม่ในหลายจุดเพื่อช่วยให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจเรื่อง เพราะเมลิสสา มึลเลอร์ ใช้วิธีเล่ากลับไปกลับมา และเล่าลงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลต่างๆ เช่น ศิลปินและนักแสดงในสมัยนั้นมากเกินไปซึ่งไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับคนไทย จึงจำเป็นต้องมีการตัดต่อเรียบเรียงใหม่บ้างเท่าที่เห็นสมควร ผู้แปลหวังว่าการนำหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยคงจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษาและผู้ที่สนใจเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของประเทศเยอรมนีบ้างไม่มากก็น้อย

คำนำของเทราเดล ยุงเงอ

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การแก้ตัวที่ล่าช้าหรือการโจมตีตัวเอง และฉันก็ไม่ได้ต้องการให้เป็นคำสารภาพเกี่ยวกับชีวิตของฉันด้วย ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงความพยายามที่จะคืนดีกับตัวเองเท่านั้นเอง ไม่ใช่คืนดีกับโลกรอบตัว หนังสือเล่มนี้ไม่ต้องการขอความเข้าใจ แต่มันจะช่วยให้เข้าใจ ฉันทำงานเป็นเลขานุการของฮิตเลอร์สองปีครึ่ง หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว ชีวิตของฉันจนถึงทุกวันนี้ดำเนินมาเงียบๆ ไม่ได้ตกเป็นเป้าของสื่อมวลชนหวือหวาอะไร ในช่วงปี 1947-1948 นั้น ฉันได้ลงมือจดบันทึกเรื่องราวความทรงจำที่ยังสดใหม่อยู่ในหัวเกี่ยวกับชีวิตของฉันที่ได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับฮิตเลอร์ลงกระดาษ ถ้าจะว่าไปแล้วช่วงปีที่ว่านี้คือสมัยที่พวกเราทั้งหมดต่างมองไปข้างหน้า แล้วก็พยายามผลักดันประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ออกไปจากจิตสำนึก หรือไม่ก็ทำว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร น่าแปลกใจที่ทำกันได้สำเร็จดีเสียด้วย ตอนนั้นฉันลงมือเขียนอย่างสบายใจ ต้องการเพียงจะบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวที่สำคัญที่สุดของสมัยที่ว่าไว้ ก่อนที่รายละเอียดซึ่งอาจจะเป็นที่น่าสนใจในภายหลังจะพร่ามัวหรือลืมหมดไป

แต่อีกหลายสิบปีต่อมา เมื่อฉันกลับมาอ่านสิ่งที่เขียนไว้อีกครั้งหลังจากห่างไกลออกไปแล้ว ฉันก็ต้องตกใจและรู้สึกอับอายมากที่การเขียนของฉันไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้ถอยตัวออกมาให้ห่างจากสิ่งที่เล่าเลย ช่างไร้เดียงสา ไร้ความคิดอะไรอย่างนั้น และนั่นคือเหตุผลใหญ่ประการเดียวที่ทำให้ฉันรู้สึกไม่กล้าที่จะให้มีการเผยแพร่สิ่งที่เขียนไว้ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองเรื่อยมา เหตุผลอีกประการหนึ่งก็เพราะรู้สึกว่าชะตาชีวิตของฉันและสิ่งที่ได้พบเห็นนั้นไม่มีความสำคัญเพียงพอถ้าจะเทียบกับหนังสือและวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับฮิตเลอร์และอาณาจักรพันปีของเขาที่หลั่งไหลออกมาสู่ตลาดมากมาย นอกจากนี้ฉันยังเป็นห่วงด้วยว่ามันอาจจะกลายเป็นการปลุกกระแสให้คนตื่นเต้น แล้วปรบมือให้จากมุมมองที่ผิดๆ ก็ได้

ฉันเองไม่เคยปิดบังอดีตของตัวเองเลย แต่โลกรอบๆ ตัวในสมัยหลังสงครามก็ทำให้ฉันหลุดพ้นจากอดีตได้อย่างง่ายดาย ไม่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิด ผู้คนให้อภัย บอกว่าเพราะฉันยังเด็กมาก อายุยังน้อย ไม่มีประสบการณ์พอที่จะมองเจ้านายของตัวเองออกว่าภายใต้หน้าตาที่แสดงความเมตตาปราณีนั้นซ่อนความเป็นผู้ร้ายและความบ้าอำนาจเอาไว้ขนาดไหน แม้แต่คณะกรรมการกวาดล้างพวกนาซีของฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะก็ตัดสินให้ฉันพ้นผิดว่าเป็นเพียงผู้วิ่งตามรุ่นเยาว์เท่านั้น แม้แต่ผู้ที่ทางการตามล่าจับก็เช่นกัน ฉันรับคำตัดสินให้ปล่อยที่ว่าด้วยความยินดียิ่ง เพราะที่จริงฉันก็เพิ่งฉลองวันเกิดปีที่ 25 เท่านั้น เมื่อประเทศเยอรมนีภายใต้การปกครองของนาซีล่มสลายลง และข้อสำคัญ สิ่งเดียวที่ฉันต้องการคือการมีชีวิตอยู่

จนกระทั่งมาถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 นั่นแหละ ฉันจึงเริ่มค่อยๆ ครุ่นคิดถึงอดีตที่ผ่านมาอย่างจริงจัง แล้วก็เริ่มสำนึกในความผิดมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ความรู้สึกผิดที่เกิดจากความพยายามที่จะเข้าใจตัวเองและสิ่งจูงใจต่างๆ ในสมัยนั้น กลายเป็นกรรมวิบากที่ทรมานจิตใจของฉันมาโดยตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา ฉันได้เรียนรู้ที่จะยอมรับว่าเมื่อปี 1942 นั้น ฉันอายุ 22 ปี อยากผจญภัย มีความเลื่อมใสในตัวอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขาเป็นนายที่น่ารัก เป็นทั้งพ่อและเพื่อนสำหรับฉัน ที่จริงก็มีเสียงเตือนในตัวฉันเหมือนกัน แต่ฉันตั้งใจไม่ฟังเสียงนั้น ฉันมีความสุขเพลิดเพลินตลอดเวลาที่อยู่ทำงานให้เขาและอยู่กับเขาจนวาระสุดท้าย หลังจากได้มีการเปิดโปงถึงอาชญากรรมความเลวร้ายของบุคคลผู้นี้เช่นนี้แล้ว ฉันก็จะใช้ชีวิตอยู่กับความรู้สึกที่ว่าตัวเองก็มีส่วนผิดด้วยตลอดไปจวบจนชั่วโมงสุดท้ายแห่งชีวิต

เมื่อ 2 ปีก่อน ฉันมีโอกาสรู้จักกับนักเรียนสตรีชื่อ เมลิสสา มึลเลอร์ เธอมาหาฉันเพื่อถามฉันในฐานะผู้อยู่ร่วมสถานการณ์ ผู้เป็นพยานแห่งสมัยเกี่ยวกับตัวอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และความชอบทางศิลปะของเขา จากการพบปะพูดคุยเพียงครั้งเดียว กลายเป็นหลายครั้ง โดยได้มีการพูดถึงงชีวิตของฉันและความประทับใจของฉันจากการได้พบรู้จักกับฮิตเลอร์ที่ตรึงใจอยู่นาน เมลิสสา มึลเลอร์ เป็นคนรุ่นหลังสงครามรุ่นที่ 2 โลกทัศน์ของเธอจึงถูกหล่อหลอมจากความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมของไรชที่ 3 แต่เธอไม่ใช่คนประเภทที่จะแสดงว่าตัวรู้ดีหมดทุกอย่างหลังจากเวลาผ่านไปแล้ว เธอไม่ได้สรุปเอาง่ายๆ เธอฟังอย่างพิจารณาถึงสิ่งที่เรา พวกพยานแห่งสมัยซึ่งเคยตกอยู่ในมนต์เสน่ห์ของท่านผู้นำเล่าให้ฟัง แล้วเธอก็พยายามที่จะศึกษาหารากแท้แห่งเหตุการณ์และพฤติกรรมนั้นๆ อย่างจริงใจ

"เราไม่สามารถจะแก้ไขประวัติของตัวเองทีหลังได้ เราต้องอยู่กับมันตอนนั้น แต่เราสามารถแก้ไขตัวเองได้" นี่คือคำพูดของไรเนอร์ คุนเซอ (Reiner Kunze: 1933-) ในหนังสือ 'Diary of a Tear (ไดอารี่ในเวลาหนึ่งปี)' ซึ่งฉันยึดถือเป็นคติพจน์นำทางชีวิตของฉัน หนังสือเล่มนั้นกล่าวต่อไปว่า "ผู้คนมิได้หวังให้เราคุกเข่าลงขอโทษ ณ ที่สาธารณะเสมอไป แต่มันก็มีความรู้สึกผิดละอายใจเงียบๆ ที่ไม่มีเสียงอยู่ ที่แสดงออกให้ประจักษ์ได้ดีกว่าคำพูดใดๆ ทั้งยังบริสุทธิ์จริงใจอีกด้วย" ในที่สุด เมลิสสา มึลเลอร์ ก็สามารถโน้มน้าวให้ฉันยอมปล่อยสิ่งที่บันทึกไว้ออกพิมพ์เผยแพร่ได้สำเร็จ ฉันคิดว่าในเมื่อฉันทำให้เธอเข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะลุ่มหลงเสน่ห์ของฮิตเลอร์ และมันเป็นเรื่องยากมากเพียงไรที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความสำนึกที่ว่าเคยทำงานรับใช้ผู้ที่เป็นฆาตกรคนเป็นแสนเป็นล้านเช่นนี้แล้ว ผู้อ่านคนอื่นๆ ก็คงสามารถเข้าใจได้เช่นเดียวกัน อย่างน้อยๆ นี่ก็เป็นความหวังของฉัน

เมื่อปีกลาย เมลิสสา มึลเลอร์ ได้แนะนำฉันให้รู้จักกับอังเดร เฮลเลอร์ (Franz André Heller: 1947-) ผู้ซึ่งนอกเหนือจากเป็นศิลปินที่น่าสนใจมากแล้ว ยังเป็นคนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมจรรยาบรรณทางการเมืองอย่างซื่อตรงจริงจังด้วย การได้คุยกับอังเดร เฮลเลอร์ อย่างละเอียดลึกซึ้งทำให้เกิดกำลังใจอย่างใหญ่หลวงและเป็นแรงกระตุ้นที่มีค่า เกิดความต้องการที่จะเอาเรื่องกับตัวเองเมื่อตอนนั้น ตอนที่เป็นนางสาวเทราเดล ฮุมป์ส์ (Traudl Humps) ซึ่งตัวเองเวลานี้มีปัญหาที่ยังตีไม่แตกรับไม่ได้

[con·tin·ue]

บทที่ 1 เวลาที่ฉันทำงานอยู่กับฮิตเลอร์ (My Time with Adolf Hitler)

บทที่ 2 ที่โวล์ฟชันเซอ (Wolfsschanze)

บทที่ 3 ความประทับใจเริ่มแรก ณ วิลล่าแบร์กโฮฟ (Berghof)

บทที่ 4 - บทที่ 7

หลังสงครามและประวัติของเทราเดล ยุงเงอ (A Childhood and Youth in Germany)

ลำดับเหตุการณ์ของเรื่องที่ถ่ายทอดจากความรู้สึกสำนึกผิด (Confronting Guilt - A Chronological Study)

เกี่ยวกับผู้แปล

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล ไม่เพียงเป็นครูแห่งครูภาษาเยอรมันที่มีลูกศิษย์ลูกหาอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง หากในฐานะผู้ถ่ายทอดภาษาจากเยอรมันเป็นไทยและจากไทยไปเป็นเยอรมัน ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นทูตวรรณกรรมเยอรมันอีกด้วย ดร.อำภา โอตระกูล ได้รับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยมาร์บูร์ก (University of Marburg, Philipps-Universität Marburg) ประเทศเยอรมนี ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวรรณคดีและวัฒนธรรมเยอรมันในปี 1968 กลับมาประจำที่ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ เปิดหลักสูตรภาษาเยอรมันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรก ผลิตบัณฑิตจบออกไปเป็นครูสอนภาษาเยอรมันตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ดร.อำภา โอตระกูล เป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาเยอรมันที่คณะอักษรศาสตร์ มาตั้งแต่ต้นจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 1995 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์พิเศษประจำภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งยังเป็นนายกสมาคมครูสอนภาษาเยอรมันในประเทศไทยและกรรมการมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมันอีกด้วย ทางด้านวิชาการนอกจากทำพจนานุกรมไทย-เยอรมันและผลิตตำราเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีเยอรมันสำหรับนักศึกษาแล้ว ยังแปลงานจากภาษาเยอรมันมาเป็นภาษาไทยหลากหลายเล่ม ทั้งบทกวี เรื่องสั้น และบทละคร เช่นบทละครเรื่อง "เฟาสท์ (Faust)" ของโวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe: 1749-1832) รวมทั้งแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาเยอรมันเผยแพร่อีกด้วย ดร.อำภา โอตระกูล ได้รับเหรียญเกียรติคุณของประเทศเยอรมนี Verdienstkreuz am Bande (Cross of Merit on Ribbon) เมื่อปี 1985 และ Verdienstkreuz 1. Klasse (Cross of Merit, First Class) ชั้นหนึ่งเมื่อปี 1996

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 
bottom of page