top of page

อนาคตใหม่ เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต


อนาคตใหม่ เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต

ประเทศไทยอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างร้าวลึกมากว่าทศวรรษ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล การเมืองแบบแบ่งขั้วเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาปรึกษาหารือกัน ในขณะที่การเมืองแบบเผด็จการทหารก็ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและกดทับปัญหาทั้งหมดไว้ ไม่สามารถทำให้ความขัดแย้งยุติลงและไม่อาจแสวงหาฉันทามติร่วมกันของคนในชาติได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สนับสนุนฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งหลายต่างก็ต้องการระบอบการเมืองที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสิ้น เราผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้จึงเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีพลังใหม่เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาอีกครั้ง

พรรคอนาคตใหม่ เกิดจากการรวมตัวกันของคนหลากหลายวงการ เพื่อลงมือสร้างการเมืองแบบใหม่ ไม่ให้ประเทศไทยต้องจมปลักอยู่กับทศวรรษที่สูญหายอีกต่อไป

พรรคอนาคตใหม่ ออกแบบนโยบายที่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม พัฒนาคุณภาพชีวิต เข้าถึงทุนและทรัพยากร ทำลายระบบผูกขาดที่ทำให้ประชาชนไร้อำนาจต่อรอง พัฒนาสวัสดิการที่รองรับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้แก่ทุกคนอย่างถ้วนหน้า

พรรคอนาคตใหม่ ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ สร้างกฏหมายที่เอื้อให้เกิดธุรกิจใหม่ ไม่ใช่เป็นอุปสรรค

พรรคอนาคตใหม่ จะทำประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เวทีการเมืองไม่ถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีระบบที่ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยประชาชน

พรรคอนาคตใหม่ มุ่งหมายทำงานการเมืองระยะยาวเพื่อผลักดันความคิดและนโยบายให้เกิดผล โดยประชาชนเป็นเจ้าของพรรคร่วมกัน ผ่านการระดมสมองและระดมทุน เป็นเวทีที่เปิดกว้างกับทุกเสียง

ประเทศไทยสูญเสียเวลาและโอกาสมามากพอแล้ว คนไทยต้องมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เรามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หากมีการเมืองแบบประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์และเข้มแข็ง นี่คือห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่เราจะร่วมกันสร้างประเทศไทยที่มีความหวัง มีเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ประชาชนคนไทยมีศักดิ์ศรี มีอำนาจที่จะกำหนดอนาคตของประเทศด้วยตนเอง

ประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ประเทศไทยที่มีอนาคต

 

รายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง

กฤตนัน ดิษฐบรรจง อายุ 20 ปี

นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เริ่มต้นจากการได้รับผลกระทบจากเอชไอวีตอนอายุ 15 ปี จึงต้องการต่อสู้เพื่อการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่ทั่วถึง การจะพัฒนาประเทศนี้ได้ต้องเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ดีก่อน ต้องสร้างโครงสร้างระบบให้เหมาะสมกับคนไทยให้เกิดความเท่าเทียมกัน สร้างความรู้ความเข้าใจและให้ประชาชนรู้จักสิทธิของตนเองมากขึ้น มองคนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีในแง่บวกมากขึ้น

"สุขภาพ = ประชาชน"

 

กันต์พงศ์ ทวีสุข อายุ 26 ปี

ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศก้อปันกัน บริการแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องการร่วมสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทย อนาคตที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ประชาชนได้รับประโยชน์จากภาษีที่เราร่วมกันจ่ายโดยแท้จริง

"ในโลกการทำงาน ผมไม่ได้แข่งขันในตลาดการค้าเพียงเท่านั้น แต่ผมต้องต่อสู้กับโครงสร้างที่ไม่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาสิ่งใหม่ โครงสร้างที่ไม่ส่งเสริมความซื่อสัตย์ในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม"

 

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ อายุ 34 ปี

'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ อยากเห็นนักเรียนไทยที่ได้เรียนอย่างมีความสุข และการเรียนรู้ที่ติดตัวนักเรียนไปตลอด รู้จักฝันของตัวเอง รู้ว่าตัวเองจะไปตามหาฝันได้อย่างไร โดยที่ยังสนใจสังคมและคนอื่นๆ อยู่

"การศึกษาต้องพัฒนาศักยภาพมนุษย์อย่างยั่งยืน ครูทุกคนมีโอกาสสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ภาคภูมิใจกับงานที่ตัวเองทำ และทำให้สังคมเชื่อว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน"

 

ไกลก้อง ไวทยการ อายุ 43 ปี

ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม จากสถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Social Technology Institute) ในยุคแห่งข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว Open Data โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ จะช่วยให้การขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคม การเปิดข้อมูลที่สามารถไปประมวลผลต่อได้ เพื่อให้เหล่า Startup นักวิชาการชุมชน สามารถสร้างบริการใหม่ๆ บนข้อมูลที่เปิด เช่น เรื่องการขนส่งในเมือง การวางแผนการเกษตร การพัฒนาการศึกษา ที่อยู่อาศัย ช่วยหางาน และพัฒนาตนเอง การที่รัฐเปิดข้อมูลยังสร้างความโปร่งใสและเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับภาครัฐได้ในทุกระดับ

"รัฐยุคใหม่ต้องเป็น Open Government"

 

คริส โปตระนันทน์ อายุ 29 ปี

นักธุรกิจและนักกฎหมาย ต้องการรัฐที่ให้สิทธิและโอกาสแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่ประชาชนจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ชีวิตที่มีความสุขคือการที่คนทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินนี้สามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะใช้ หากพวกเขาทำงานหนัก พวกเขาต้องสามารถเลื่อนไต่บันไดทางสังคมได้ในช่วงชีวิตเดียว ขณะเดียวกันต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คนต้องไม่ตายฟรีๆ อีกต่อไป ชีวิตของคนทุกชีวิตมีคุณค่า เราต้องไม่ชินกับการที่คนตายเพราะมีการละเมิดกฎหมายไม่ว่าจะในกรณีใดๆ

"ถ้าคุณอยู่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติใด ภาษาใด ฐานะใด คุณจะมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน อยู่ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ คืออยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ได้รับการปฏิบัติจากรัฐที่เหมือนกัน"

 

เคท ครั้งพิบูลย์ อายุ 32 ปี

นักปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องการเห็นสังคมไทยที่เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกเพศสภาพ ไม่ปฏิเสธการจ้างงานจากอคติทางเพศ และไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศอีกต่อไป

"สร้างพื้นที่ที่ให้ทุกคนสามารถแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้อย่างไม่หวาดกลัวสังคมที่ปราศจากซึ่งอคติและการเลือกปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ"

 

ชำนาญ จันทร์เรือง อายุ 60 ปี

อาจารย์พิเศษด้านการเมืองและกฎหมาย เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ปัจจุบันเป็นคณะทำงานความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และผู้เชี่ยวชาญการเมืองประจำประเทศไทยของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ที่เป็นต้นแบบของจังหวัดจัดการตนเองจนแพร่หลายไปกว่า 50 จังหวัด เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น ไม่มีใครรู้ท้องที่กว่าคนในพื้นที่ การกระจายอำนาจจะเป็นคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์ ทุกสีทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกัน เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการจัดการเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง (Self Determination Rights) ที่ทั่วโลกยอมรับ

"การกระจายอำนาจคืออนาคตของประเทศไทย"

 

โชติรส นาคสุทธิ์ อายุ 26 ปี

นักเขียนเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจของมนุษย์ เรื่องเพศและสิทธิเหนือร่างกาย เป็นมนุษย์ที่เชื่อว่าสังคมควรพูดถึงเรื่องเพศได้อย่างเป็นปกติ เพราะสังคมที่กีดกันปิดกั้นการพูดถึงเรื่องเพศหรือยัดเยียดตีตราว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องเลวร้าย ย่อมปราศจากการทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างรอบด้าน ปัญหาหลายอย่างมีต้นเหตุมาจากการไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างเปิดเผย ทั้งปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาการตั้งครรภ์โดยที่ไม่พร้อม ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ อยากเห็นประเทศที่ทุกคนสามารถขับเคลื่อนประเด็นของตัวเองได้อย่างเสรี อยากเห็นประเทศที่เสียงของทุกคนถูกรับฟังเท่าๆ กัน อยากเห็นประเทศที่ทุกคนตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมี

"สังคมจะไม่สามารถพูดถึงอะไรที่ใหญ่ไปกว่านี้ได้เลย ถ้าไม่เริ่มต้นจากการเปิดกว้างรับฟัง ขับเคลื่อน ประเด็นเรื่องเพศ เพื่อให้เด็กและประชาชนทุกคนเข้าใจถึงสิทธิที่ตัวเองมี และสิทธิของผู้อื่นที่เราไม่ควรละเมิด"

 

ไชยวัฒน์ วรรณโคตร อายุ 20 ปี

นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อยากให้สังคมไทยเปลี่ยนจากช่วยเหลือมาเป็นรับผิดชอบ เปลี่ยนการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยความสงสารเวทนาเป็นการรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม เพราะมนุษย์ทุกคนในสังคมมีสิทธิที่จะต้องเข้าถึงทรัพยากร รับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วยการการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขผ่านระบบสวัสดิการเชิงสถาบัน จึงจะแก้ปัญหาสังคมในระยะยาวและเป็นระบบได้

"สังคมที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข รับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ คือสังคมที่ผมเพรียกหา"

 

ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ อายุ 24 ปี

นักเขียนและนักแปลอิสระ ชีวิตเปลี่ยนเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (League of Liberal Thammasat for Democracy: LLTD) ได้ร่วมทำกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เช่น แคมเปญตั้งคำถามถึงการละเมิดสิทธิในกิจกรรมรับน้อง นิทรรศการการเมือง กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เมื่อเกิดรัฐประหารเห็นคนถูกละเมิดสิทธิ เพื่อนถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเรียกร้องสิทธิและเสียงของเรากลับมา คนกลุ่มเล็กเกาะอำนาจไว้และพยายามจะแช่แข็งประเทศให้เป็นอย่างที่ต้องการ ในเฮือกลมหายใจสุดท้ายของชีวิตทั้งหมดทำให้รู้สึกว่าที่นี่ไม่ยอมให้เราฝันถึงอนาคตที่ดี แต่ตราบใดที่เรายังคงอาศัยอยู่ที่นี่ หลบยังไงการเมืองก็จะมีผลกับชีวิตเราอยู่ดี จึงอยากลุกขึ้นเปลี่ยนมัน

"ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีหรือเข้าถึงต้นทุนให้สามารถทำตาม Passion ของตัวเอง เราฝันถึงสังคมที่มีพื้นที่ให้คนกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ สังคมที่เอื้อให้คนกล้าที่จะแตกต่าง และเราอยากมีส่วนช่วยสนับสนุนสังคมแบบนั้น"

 

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร อายุ 29 ปี

นักปรุงเบียร์ นักธุรกิจ และมัคคุเทศก์อิสระ หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบเรื่องข้อบังคับต่างๆ ของกฎหมายเบียร์ที่ไม่เอื้อเเละเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมากมายที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจและที่ไม่อัพเดทตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ให้ท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มเเข็ง มีรายได้พึ่งพาตัวเอง เเละยังทำให้เก็บภาษีเพื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

"ปัญหาระบบเศรษฐกิจของเรา คือการพึ่งบริษัทใหญ่ที่รัฐบาลคอยช่วยเหลือเพื่อแค่ที่จะต้องการตัวเลขใน GDP ที่สวยหรูเป็นผลงาน เเต่มันกลับส่งผลเสียทำให้อำนาจทางการต่อรองทางเศรษฐกิจของประชาชนธรรมดาลดน้อยลง"

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 39 ปี

รองประธานกรรมการบริษัทไทยซัมมิท (Thai Summit Group) จบการศึกษาด้านวิศกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ University of Nottingham ประเทศอังกฤษ จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านการเงินจาก Stern Business School, New York University ประเทศสหรัฐอเมริกา และด้านกฏหมายธุรกิจระหว่างประเทศจาก University of St.Gallen ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ชีวิตส่วนตัวชอบอ่านหนังสือ แข่งขันกีฬาทรหดและท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ตัดสินใจมาทำงานการเมืองเพราะต้องการสร้างการเมืองที่เปิดกว้างต่อทุกคนและสร้างสังคมที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นต่อไป

"อนาคตใหม่ที่สวยงามเป็นไปได้ คนทุกคนมีพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์อยู่กับตัวเอง"

 

ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์ อายุ 32 ปี

Content Creator หลายรูปแบบทั้งงานเขียนบท เขียนบทความ ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายวีดิโอ และอินโฟกราฟฟิก อยากเห็นการศึกษาที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดได้แสดงออกมากกว่านี้ อยากเห็นสื่อมวลชนที่สามารถนำเสนอข่าวที่น่าสนใจได้อย่างไม่ต้องกลัวเซนเซอร์ตัวเอง และอยากเห็นระบบข้าราชการ 4.0 ที่ไม่ส่งเรื่องข้ามหน่วยงานกันไปมาจนล่าช้า และเจ้าพนักงานทำงานโปร่งใสไม่รับอามิสสินจ้าง

"เราเห็นปัญหาต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขมัน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ประสบการณ์การทำสื่อของเราเกี่ยวพันอยู่ด้วยบ่อยๆ"

 

ธารารัตน์ ปัญญา อายุ 22 ปี

นักปกป้องสิทธิผู้หญิงผู้เรียกร้องสิทธิของผู้ถูกทำร้ายและคุกคามทางเพศ ต้องการทลายกรอบของสังคมที่มีข้อจำกัดให้ผู้หญิงไม่สามารถทำอะไรได้เท่ากับผู้ชาย ทลายความคิดว่าผู้หญิงไม่มีอำนาจตัดสินใจ ทลายโครงสร้างทางอำนาจเอื้อให้กับผู้ชายเท่านั้นที่มีภาวะความเป็นผู้นำได้ และอยากเห็นสังคมที่เสียงของทุกคนถูกให้คุณค่าเท่ากัน ตระหนักถึงสิทธิของมนุษย์ทุกๆ คน

"ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร เพศหญิง เพศชาย หรือเพศทางเลือก คุณมีศักยภาพ และสามารถเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพนั้นได้ไม่ต่างกับเพศอื่นๆ"

 

นลัทพร ไกรฤกษ์ อายุ 25 ปี

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ ThisAble.me พื่อนำเสนอข่าวคนพิการในหลายมิติ เช่น เพศ การเมือง ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงการทำรายการท่องเที่ยวทั่วทุกภาคของประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มคนพิการเพื่อเรียกร้องสิทธิ เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า ผลักดันการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ให้เกิดขึ้นจริง คนพิการหลายคนถูกเลือกปฏิบัติเพราะความพิการ เด็กพิการไม่ได้เข้าเรียนเพราะสถานศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวลที่เอื้อให้คนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ร่วมกันตั้งแต่ต้น พร้อมกับสิ่งสนับสนุนที่จำเป็นต่อคนแต่ละกลุ่มจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจและอยากเข้ามาผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

"จากข้อจำกัดเมื่อต้องนั่งวีลแชร์ จึงทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการให้คนทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่า ๆ ทั้งในเรื่องการเมือง การศึกษา ระบบหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ นั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง"

 

ปรัชญา เพชรวิสิทธิ์ อายุ 24 ปี

คนทำหนังและนักศึกษา เกิดและโตที่จังหวัดนครราชสีมา ตอนอายุ 17 ปี จัดงานเทศกาล 'หนังสั้นโคราช' และเป็นผู้จัดงาน 'เด็กสร้างเมือง' จากประสบการณ์การทำงานกับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยวัยรุ่นที่มีศักยภาพแต่ขาดโอกาสและพื้นที่ในการแสดงออก เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดต้องเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิอำนาจเท่ากับคนในเมืองใหญ่ และวัยรุ่นในพื้นที่ควรจะมีสิทธิเข้าถึงงบประมาณและอำนาจในการออกแบบเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่

"สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือการให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่"

 

ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อายุ 38 ปี

นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สู่การสร้างการเมืองแบบใหม่ที่ต้องการพาประเทศไทยออกจากความขัดแย้งยาวนานนับทศวรรษ การเมืองและนักการเมืองที่เป็นเรื่องของความคิด การผลักดันความคิด การลงมือ การสร้างสรรค์ การเมืองแบบใหม่ที่จะไม่ทำให้คนไทยหันหลังให้กับประชาธิปไตย หรือกลับไปยอมรับรัฐเผด็จการในนามของการรักษาความสงบอีกครั้ง

"การเมืองแบบใหม่ พรรคการเมืองในรูปแบบใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมจำนนกับสภาพที่เป็นอยู่ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤติกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย เพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่และสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดีขึ้น ยุติทศวรรษที่สูญหาย มุ่งหน้าสู่ทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคต"

 

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ อายุ 23 ปี

ผู้อำนวยการองค์กร Newground องค์กรศึกษาวิจัยและสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยาการของคนรุ่นใหม่และคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต นักผลิตสื่อประเด็นสังคม ผู้ก่อตั้ง Young Filmmakers of Thailand (องค์กรสาธารณประโยชน์) มีประสบการณ์ด้านงานสื่อสารสังคมและงานเยาวชนกว่า 9 ปี เคลื่อนไหวในประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก การคิดเชิงวิพากษ์ ความเท่าเทียม กระบวนการมีส่วนร่วม และความคิดสร้างสรรค์

"คนรุ่นใหม่ไม่ได้ไร้ความหวัง แต่ถูกทำให้ไร้อำนาจในทางการเมือง ดังนั้นรีบทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง เช่น ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนที่เขาจะต้องใช้อายุที่มากขึ้นไปกับความสนใจการเมืองที่น้อยลง ด้วยเหตุผลว่าเสียงของเขาไม่ถูกตอบสนองในชีวิต และแทนที่มันด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หาเงิน หรือมีครอบครัว"

 

ฟารีด ดามาเร๊าะ อายุ 21 ปี

ประธานสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม และสมาชิกกล่มุเสรีเกษตรจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำกิจกรรมด้านการเมืองและปกป้องสิทธินักศึกษา ด้วยความเชื่อว่าในอนาคตต้องเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้ได้ แต่สภาวะสังคมในปัจจุบันแบบเผด็จการไม่เอื้อให้ความฝันนั้นเกิดขึ้น จึงรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงและอยากทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเกิด 3 จังหวัดชายแดนใต้

"ถึงเวลาที่คุณจะต้องออกมาแสดงความคิดความฝันที่คุณวาดไว้ ถ้าเกิดการเลือกตั้งจริงๆ นี่คือเวทีของคนรุ่นใหม่"

 

ภูวกร ศรีเนียน อายุ 44 ปี

นักจัดรายการทีวีและนักรณรงค์การเมือง มีส่วนร่วมในสายธารอุดมการณ์ ประชาธิปไตยตั้งแต่พฤษภาคม 2535 ต้องการความยุติธรรมที่มีอยู่จริง ทั้งความยุติธรรมจากผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและความยุติธรรมจากคนในสังคมที่จะมีให้กันและกัน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทยอย่างยั่งยืน

"ความแตกต่างทางสังคม ฐานะ การศึกษา อาชีพ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถลดช่องว่าง ลดความได้เปรียบทางชนชั้นให้แคบลง"

 

วรกร ฤทัยวาณิชกุล อายุ 28 ปี

ผู้กำกับและผู้บริหารบริษัทสื่อบันเทิง Hello Filmmaker ที่ต้องการส่งเสริมความหลากหลายและชุดความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้โลกของเราดีขึ้น ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เข้าถึงคนหมู่มาก เข้าถึงคนที่มีอำนาจ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

"แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน"

 

วิภาพรรณ วงษ์สว่าง อายุ 25 ปี

นักออกแบบสื่อเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง Thaiconsent.org ขับเคลื่อนเรื่องวิธีคิดที่เคารพผู้อื่นในฐานะมนุษย์ อยากให้การเมืองในสภาเป็นที่ที่แข่งกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นที่ที่ต้อนรับคนมีความสามารถและรักในประชาธิปไตย อยากเห็นวันที่พรรคการเมืองคิดนโยบายบนฐานที่ว่า "สิ่งนี้จะกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างไร?"

"ความเท่าเทียมทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ สมการทางการเมืองจะเปลี่ยนไปได้ก็ต่อเมื่อมีผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น และต้องมีบทบาทอย่างแท้จริงด้วย"

 

ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อายุ 33 ปี

อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักกิจกรรมทางการเมืองที่ผลักดันประเด็นรัฐ สวัสดิการและสังคมนิยมประชาธิปไตย ได้ทำงานวิจัยและแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องโดยอธิบายถึงการขยายตัวของแรงงานเสี่ยง แรงงานที่แบกรับความเสี่ยงทุกอย่าง ไร้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะต้องซื้อทุกอย่างตั้งแต่การศึกษา การรักษาพยาบาล ความมั่นคง ยามแก่ชรา

"หากเราอยู่ในสังคมที่มีความมั่นคงในชีวิตพื้นฐาน มนุษย์จะปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีศักดิ์ศรี และเสรีภาพของเราจะถูกเติมเต็ม เราจะไม่ถูกขังในความโชคร้ายของชาติกำเนิดที่ยากจนและไร้โอกาส"

 

สุรินทร์ คำสุข อายุ 50 ปี

ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันทำงานที่บริษัทแอมคอร์ (Amcor Flexibles) จังหวัดชลบรี และเป็นประธานสหภาพแรงงาน มีพนักงานในสังกัดประมาณ 1,100 คน อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ออกจากความหลงยึดตัวบุคคลเหนือกฎระเบียบกติกา เหนือกฎหมาย อยากเห็นสังคมไทยที่หันมาเรียนรู้และยึดมั่นในกติกา ยึดมั่นที่จะเคารพสิทธิของคนอื่น เป็นสังคมที่มีเหตุผล ไม่ทำลายล้างกันด้วยอคติ หรือเอาเปรียบเอาชนะด้วยโอกาสและชนชั้นทางสังคมที่เหนือกว่า

"ทุกคนต้องอยู่ใต้กรอบกติกาเดียวกัน ความยุติธรรมต้องเท่าเทียม"

 

อนุกูล ทรายเพชร อายุ 29 ปี

เกษตรกรยุคดิจิทัลและนักธุรกิจเพื่อสังคม จบปริญญาตรีจากคณะสห วิทยาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนรู้รอบด้านเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในประเทศลุ่มน้ำโขง พื้นเพเป็นคนอีสาน ครอบครัวทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก ระหว่างเรียน นอกจากจะเริ่มต้นแผนงานธุรกิจเพื่อสังคม ยังทำงานเป็นอาสาสมัครเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชนบท หลังเรียนจบออกตัวแรงกับธุรกิจเพื่อสังคมในชื่อ 'folkrice' แอพพลิเคชั่นที่เปิดโอกาสให้ชาวเกษตรอินทรีย์ได้เสนอขายสินค้าคุณภาพของตัวเองกับผู้บริโภคยุคใหม่

"ฝันจะทำให้ที่บ้านเป็นเกษตรกรที่ไม่จมอยู่กับกองหนี้สิน เชื่อว่าดิจิทัลจะเป็นทางด่วนให้เกษตรน้ำดีได้ไปต่อแบบมั่นๆ อยากเห็นสังคมที่มีแพชชั่น...โดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง"

 

อลิสา บินดุส๊ะ อายุ 23 ปี

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เหมืองลิกไนต์บ้านแหงลำปาง ฯลฯ เติบโตมากับการที่ถูกจำกัดความคิดและปิดปากด้วยความคิดที่ว่า 'ทรัพยากรทั้งหลายเป็นของรัฐ มีปัญหาอะไรรอให้รัฐแก้ปัญหา ..การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก..' เวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการต่างๆ ของรัฐไม่เคยเจอเยาวชนมาร่วมแสดงความเห็น มีแต่ทำหน้าที่รับลงทะเบียน แจกเอกสาร ฯลฯ ทั้งที่หากโครงการเหล่านี้ผ่าน นั่นคืออนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องประสบทั้งสิ้น จึงทำงานเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่และคนทุกคนได้ออกมาร่วมกันกำหนดอนาคตของทุกคนเอง

"ฝันถึงประเทศที่ประชาชนดำรงอยู่ในฐานะเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ทุกเสียงของประชาชนถูกรับฟังอย่างแท้จริง คนรุ่นใหม่และรุ่นหลังจากนี้ได้มีโอกาสที่จะร่วมเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ประเทศนี้ได้มากกว่าการร้องเพลงเด็กดี"

 


bottom of page