top of page

ประวัติ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ฉบับเต็มโดยย่อ


ประวัติ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (Thanathorn Juangroongruangkit)' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ฉบับเต็มโดยย่อ

เรียบเรียงโดย พฤทธิกร สาระกุล (Pruetthigon Saragun)

สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และแอดมินเพจทีมอนาคตใหม่: การเมืองสร้างสรรค์แห่งอนาคต #ไทย2เท่า @FutureForwardTeam <https://www.facebook.com/FutureForwardTeam/>

[ 📌 เพิ่มเนื้อหา 9 เหตุผลที่อยากให้ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เลื่อนลงด้านล่างสุดของหน้าเพจนี้ - 13 มกราคม 2562 ]

“ประเทศไทยสำคัญกว่าไทยซัมมิท!”

นี่คือคำตอบที่ทำให้ทุกคนในที่ประชุมใหญ่ของครอบครัว 'จึงรุ่งเรืองกิจ' ในวันที่ธนาธรตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งบริหารกลุ่มบริษัทประกอบธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ระดับโลกของครอบครัว เข้าใจได้ทะลุปรุโปร่งถึงความตั้งใจจริงที่จะทำงานการเมืองอย่างมุ่งมั่นเต็มกำลังของเขา และคงไม่ต้องมีใครพยายามที่จะเปลี่ยนความตั้งใจนั้นอีกแล้ว

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักธนาธรในฐานะนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ แต่ถ้ามองย้อนกลับไป การนำพาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเป็นความฝันของเขามาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อเขาไปเรียนต่อต่างประเทศ ตอนที่เขากำลังจะเก็บกระเป๋าเดินทางจากอังกฤษไปแอลจีเรียเพื่อรับงานพัฒนาเยาวชนให้กับองค์กรที่ขึ้นอยู่กับสหประชาชาติ เป็นเวลาเดียวกับที่เขาได้รับโทรศัพท์จากแม่ - 'สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานและ CEO กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทคนปัจจุบัน ผู้รับตำแหน่งมาจากเขาได้ตัดสินใจวางมืออย่างสิ้นเชิงจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของครอบครัว - ไทยซัมมิท ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารมาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 และต่อมาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรคให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมปีเดียวกัน

[ ✎ ชีวิตวัยเด็กและครอบครัว ] ▷▷ 'เอก' เป็นชื่อที่คนในครอบครัวและเพื่อนๆ ใช้เรียกธนาธร เขาเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน มารดาชื่อ 'สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานและ CEO ของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท (Thai Summit Group) คนปัจจุบัน โดยรับสืบทอดตำแหน่งนี้จากสามี 'พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ' (ถึงแก่กรรม 2545) บิดาของธนาธร และเป็นผู้ก่อตั้งไทยซัมมิท บริษัทประกอบธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2520 ก่อนธนาธรเกิดเพียง 1 ปี ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จอีกมากมาย

พฤษภาคม 2561 บนเวทีประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ธนาธรเล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวตัวเองในอดีต ความมานะของคนรุ่นพ่อแม่ที่สร้างทุกสิ่งจากศูนย์

และแม้เขาจะเกิดมาในเวลาที่ครอบครัวมีความพร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังได้รับการหล่อหลอมเลี้ยงดูให้เชื่อในคุณค่าของการทำงาน ช่วงสมัยที่เป็นวัยรุ่น เขาเคยต้องไปรับหน้าที่พนักงานล้างจานเต็มเวลาในร้านอาหารของครอบครัวที่สหรัฐอเมริกา แต่ถ้าจะย้อนไปถึงครั้งแรกที่ธนาธรทำงานโดยได้รับค่าจ้างตอบแทน คือช่วงที่เขาปิดเทอมชั้นประถมปีที่ 3 เมื่อพ่อแม่ส่งไปนั่งนับชิ้นส่วนเหล็กในโรงงาน ในขณะที่พี่สาวคนโตก็ต้องฝึกฝนงานส่วนออฟฟิศในโรงงานเดียวกัน ครั้งนั้นเขาได้ค่าแรงวันละ 30 บาท ไม่มีใครรู้เลยว่าเด็กชายค่าแรงหลักสิบคนนั้นจะเติบโตและกลับมาทำงานทำเงินให้กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท จนรายได้พุ่งขึ้นถึงราว 80,000 ล้านบาทในอีกเกือบ 20 ปีถัดมา

[ ✎ การศึกษา ] ▷▷ ธนาธรจบการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนเซนต์ดอมินิก (Saint Dominic School) มัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนี้กำหนดว่าต้องเรียนที่ประเทศไทย 2 ปี และต้องไปต่อที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) ประเทศอังกฤษ อีก 2 ปี เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว เขาเรียนต่อปริญญาโทถึง 3 สาขา ได้แก่ สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาการเงินโลก (Global Finance) ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ประเทศสหรัฐอเมริกา และสาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Law) มหาวิทยาลัยแซงต์กาลเลิน (University of St. Gallen) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

[ ✎ การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ] ▷▷ อาจพูดได้ว่า ‘ค่ายสร้าง’ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ที่ธนาธรเริ่มต้นชีวิตนักศึกษา มีส่วนสำคัญมากกับการช่วยให้ความคิดและอุดมการณ์ในตัวเขาเติบโตขึ้น ขณะเป็นนักศึกษา เขาได้รับเลือกให้เป็นอุปนายกศูนย์รังสิต องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในปี 2542 หน้าที่นี้เปรียบได้กับการเปิดโลกของเขาเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรมากนักนอกจากกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ปีถัดมาเขาไปเป็นรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่นั่นกลายเป็นสนามภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง

ช่วงต้นทศวรรษ 2540 ธนาธรได้เข้าร่วมต่อสู้ในกรณีปกป้องสิทธิมนุษยชน เรียกร้องความเป็นธรรม และยืนหยัดเพื่อความถูกต้องกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม หลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจน กรรมกรไทยเกรียง ไปจนถึงกรณีการประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อมของโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' ผู้เป็นอาแท้ๆ ของเขาเองที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรในเวลานั้น

สิงหาคม พ.ศ. 2561 เกือบ 20 ปี หลังความกระทบกระทั่งระหว่างกันครั้งนั้นของอา-หลาน และสุริยะได้ประกาศเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นอาจเรียกได้เลยว่าอยู่ในขั้วตรงข้ามกับพรรคอนาคตใหม่ที่หลานชายเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา

เมื่อให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยของสปริงนิวส์ เขาพูดถึงหลานชายคนนี้ว่า “ถ้าคุณพ่อเขาไม่เสีย ทุกวันนี้เขาคงไปเดินสายเอ็นจีโอ สมัยที่เขายังเรียนอยู่ บางที CNN ออกข่าวเรื่องการต่อต้านอะไร คุณจะได้เห็นธนาธรโผล่ไปหมดแหละครับ ต่างประเทศก็ด้วย เพราะจริงๆ เขาอยากจะเห็นโลกที่สมบูรณ์แบบ”

[ ✎ การทำงาน ] ▷▷ หลังเรียนจบ ธนาธรเกือบจะเดินทางไปรับมอบงานด้านพัฒนาเยาวชนขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศแอลจีเรีย (Algeria, North Africa) อยู่แล้ว ตอนที่แม่ของเขาโทรศัพท์ข้ามทวีปมาแจ้งอาการป่วยหนักของพ่อซึ่งกำลังจะเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ในโรงพยาบาลที่สหรัฐอเมริกา

จากอังกฤษ แทนแผนเดิมที่จะไปตามฝันตัวเองในดินแดนไกลบ้าน เขาจึงต้องบินตรงสู่ซานฟรานซิสโก (San Francisco, California) แผนชีวิตที่วางไว้ทั้งหมดพลิกกลับไปอีกขั้วหลังการจากไปของ 'พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ' ในปี 2545 จากที่ไม่เคยคิดและไม่เคยสนใจจะเป็นนักธุรกิจมาก่อนเลยในชีวิต เขากลับต้องเข้ารับตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิททันทีด้วยอายุเพียง 23 ปีในขณะนั้น

ภายใต้การบริหารของธนาธร รายได้ของไทยซัมมิทเติบโตขึ้นจากราว 16,000 ล้านบาทในปี 2544 เป็น 80,000 ล้านบาทในปี 2560 เขาปรับธุรกิจของครอบครัวให้กลายเป็นกลุ่มบริษัทระดับโลกที่มีโรงงานผลิตใน 7 ประเทศ รวมจำนวนพนักงานมากถึงราว 16,000 คน

ความตกลงทางธุรกิจครั้งสำคัญๆ ก็อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2548 เมื่อธนาธรได้รับคำสั่งผลิตตัวถังรถยนต์สำหรับเทสลา (Tesla) บริษัทสัญชาติอเมริกันผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า เป็นจำนวนถึง 500,000 คันต่อปี ความตกลงนี้ได้สร้างสถิติใหม่ให้กับยอดขายต่อรายของไทยซัมมิท ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึง 7,900 ล้านบาท คิดเป็นผลกำไรอย่างเดียว 5,980 ล้านบาท และด้วยข้อตกลงซื้อขายนี้เองที่ได้ทำให้กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทขยายฐานการผลิตกว้างไกลออกไปอีก ด้วยการเปิดโรงงานในสหรัฐอเมริกา และพอถึงปี 2552 ไทยซัมมิทโดยการนำของธนาธรก็ได้ตัดสินใจซื้อ 'โอกิฮาระ (Ogihara)' บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นผู้ผลิตแบบพิมพ์ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกำลังประสบภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างหนักในขณะนั้น แต่ด้วยการเข้าไปบริหารจัดการเต็มรูปแบบของไทยซัมมิท โอกิฮาระก็ผ่านพ้นวิกฤต และกลับมามีผลประกอบการที่มั่นคง เลี้ยงตัวเองได้และมีกำไรในที่สุด

นอกจากธุรกิจที่ดำเนินไปด้วยดี ธนาธรยังได้รับตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ในคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries: FTI, or formerly known as the Association of Thai Industries: ATI) ติดต่อกัน 2 วาระ ตั้งแต่ปี 2551-2555 และเขายังเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (Thai Auto Parts Manufacturers Association: TAPMA) ระหว่างปี 2550 - 2553 ธนาธรยังมีรายชื่ออยู่ในบอร์ดพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency: NSTDA) อีกด้วย

พฤษภาคม 2561 หลังจากอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทมาเป็นเวลา 16 ปีเต็ม ธนาธรประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ

[ ✎ นักการเมือง ] ▷▷ 15 มีนาคม 2561 ธนาธร และรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้ชื่อพรรคอนาคตใหม่ (ภาษาอังกฤษ 'Future Fprward Party') ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และต่อมาธนาธรก็ได้รับเลือกด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เขาประกาศเจตนารมณ์ของพรรคที่จะนำประเทศไทยออกจากความขัดแย้ง ยุติระบอบรัฐประหาร กลับคืนสู่ระบอบรัฐสภา สร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงในสังคมไทย จัดการกระจายอำนาจออกจากรัฐราชการรวมศูนย์สู่ท้องถิ่นในทุกมิติ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และทำให้การเมืองเป็นไปในรูปแบบที่สร้างสรรค์

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งยังมีตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ซึ่งธนาธรยืนยันเสมอว่า เขาทำธุกิจโดยไม่พึ่งพาระบบอุปถัมภ์ เมื่อมาทำพรรคการเมือง เขาประกาศยึดมั่นหลักการเดิม พรรคต้องเป็นอิสระและโปร่งใส ไม่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง การใช้จ่ายทั้งหมดของพรรคจะมาจากเงินที่ได้รับจากการรับสมัครสมาชิก และการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ที่กฎหมายอนุญาตให้กระทำได้ และจะแจ้งรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ผ่านเว็บไซต์ของพรรค นอกจากนี้อนาคตใหม่ยังประกาศจุดยืนของการมีประชาธิปไตยตั้งแต่ในพรรคในทุกกระบวนการการทำงานอีกด้วย

ธนาธรให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาตั้งใจจะทำงานการเมืองเต็มตัวจากนี้ไป และแม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2562 เขาก็จะไม่หวนกลับไปเป็นนักธุรกิจอีก

เขาพูดในเวที World Economic Forum ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม (Hanoi, Capital of Vietnam) เมื่อเดือนกันยายน 2561 ว่า “ก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นประทีปแห่งความหวังของอาเซียน เป็นต้นแบบประชาธิปไตยของเพื่อนบ้าน ผมในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะทุ่มเททั้งชีวิต นำประเทศไทยกลับสู่หนทางประชาธิปไตยอีกครั้งให้ได้”

สื่อต่างประเทศหลายสำนักมักจะเปรียบเทียบธนาธรกับนายกรัฐมนตรีแคนาดา 'จัสติน ทรูโด (Justin Pierre James Trudeau)' ด้วยความที่ทั้งคู่มีพื้นฐานของการเป็นนักธุรกิจ เป็นคนรุ่นใหม่ และมีมุมมองทางการเมืองใกล้เคียงกัน

[ ✎ ชีวิตส่วนตัว ] ▷▷ ธนาธรแต่งงานกับ 'รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ' มีบุตรด้วยกัน 4 คน (คนสุดท้องเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 เพศชาย) ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในสายงานธุรกิจตั้งแต่ปี 2546 แม้จะไม่มีเวลาใกล้ชิดกับลูกๆ มากนักตั้งแต่ยังเป็นนักธุรกิจจนถึงเมื่อตัดสินใจลงสู่สนามการเมือง แต่ทุกครั้งที่มีโอกาส ธนาธรจะชอบให้ลูกๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติรอบๆ ตัว เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองให้มากที่สุด เขาชอบชวนเด็กๆ เล่นดินโคลน เล่นทราย ปีนต้นไม้ ถือไฟฉายออกไปส่องกบตอนกลางคืน หรือแม้แต่ออกไปเล่นกลางสายฝน ความคิดของเขาคือ อยากให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักและรักสิ่งแวดล้อม เกิดความสงสัยและตั้งคำถาม หาคำตอบ เขาจำกัดการซื้อของเล่นของลูก แต่จะไม่จำกัดเรื่องซื้อหนังสือ

ในหนังสือ 'ปักธงอนาคต The Future is Ours' สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2561 เขาพูดถึงอนาคตลูกๆ ของตัวเองว่า “สิ่งที่ผมอยากให้เขาเป็นคือมีเพื่อนทุกชนชั้นตั้งแต่คนรวย คนชนชั้นกลาง คนที่มีรายได้ต่ำปากกัดตีนถีบ ผมอยากให้เขามีเพื่อนทุกชาติพันธุ์ มีตั้งแต่เพื่อนผิวขาว ดำ แดง คนที่นับถือศาสนาต่างกัน อยากให้เขาเจอความหลากหลายในชีวิต”

[ ✎ ชีวิตแนวผจญภัย ] ▷▷ ธนาธรมีอีกภาคของชีวิตเป็นนักกีฬาเอ็กซ์ตรีม (Extreme Sport) ทั้งวิ่งมาราธอน จักรยานทางไกล ปีนผา ไตรกีฬา เคยแข่งรายการโหดๆ อย่างวิ่ง 250 กิโลเมตรในทะเลทรายซาฮาร่า (Sahara Desert in Africa) เขาเคยทำแม้กระทั่งการใช้กูเกิลเสิร์ชหาการแข่งขันที่โหดที่สุดของโลก แล้วเข้าร่วมรายการ 6633 Arctic Ultra มาราธอน 560 กิโลเมตร ในปี 2558 เส้นชัยคือเส้นอาร์กติก เป็นการแข่งขันที่ผู้แข่งไม่มีตัวช่วยอะไรเลย ต้องแบกอุปกรณ์ยังชีพทุกอย่างไปกับตัวเองตลอดทางที่มีแต่ทุ่งหิมะในอุณหภูมิต่ำสุดที่ -70 องศาเซลเซียส ในปีนั้นเขาเป็น 1 ในเพียง 8 คนเท่านั้นที่สามารถจบการแข่งขันลงได้อย่างสมบูรณ์ และกลายเป็นคนเอเชียคนแรกที่พิชิตรายการนี้

ธนาธรบอกว่า “DNF (Do-not-finish) is not an option. - ไม่สำเร็จ ไม่ใช่ตัวเลือก” กลายเป็นสิ่งที่เขาคำนึงถึงเสมอหลังการแข่งขันคราวนั้น

📌 9 เหตุผลที่อยากให้ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ● 1. ธนาธรเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการนำพาองค์กรธุรกิจสู่ระดับแสนล้านบาท โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งมีความรู้และความสามารถในการบริหารจัดการ พร้อมสายสัมพันธ์ทางธุรกิจระดับนานาชาติ

● 2. ธนาธรเป็นนักประชาธิปไตยและนักเคลื่อนไหวทางความคิดและทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในรั้วธรรมศาสตร์

● 3. ประเทศไทยจะเกิดการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยยุติระบบราชการรวมศูนย์ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดอำนาจการกำกับดูแลท้องถิ่นจากส่วนกลาง และเพิ่มงบประมาณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

● 4. ประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการทั่วหน้าโดยไม่เสียวินัยทางการคลัง

● 5. ระบบการศึกษาของประเทศจะถูกปฏิวัติผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์ 1 แสนล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มงบประมาณต่อหัวเด็ก กระจายอำนาจสู่โรงเรียน ปรับหลักสูตร-เพิ่มทักษะที่จำเป็น ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร และพัฒนาระบบครูต้นแบบ

● 6. ทลายเศรษฐกิจผูกขาด เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้ลืมตาอ้าปากผ่านการแก้ไขโครงสร้างและกฎระเบียบต่างๆ และเปิดให้มีธนาคารท้องถิ่น

● 7. ประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่เปิดเผย (Open Government) ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งบประมาณ รายรับ-รายจ่าย สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และสามารถตรวจสอบได้จากประชาชนโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

● 8. ปฏิรูปทหาร ลดอำนาจกองทัพ เลิกเกณฑ์ทหาร ทำจัดซื้ออาวุธให้โปร่งใส และขจัดการรัฐประหารให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย

● 9. ธนาธรจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่สังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ให้คนไทยเท่าเทียมกัน และประเทศไทยเท่าทันโลก

เครดิตคุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ (26 ธันวาคม 2561)

#อนาคตใหม่ต้องการคุณ #ได้เวลาอนาคตใหม่แก้ไขประเทศ #พรรคอนาคตใหม#คนเท่าเทียมกัน #ไทยเท่าทันโลก

 

bottom of page