top of page

Future Forward - อนาคตใหม่ของคนรุ่นใหม่


[ อนาคตใหม่ของคนรุ่นใหม่ ]

ประเทศไทยในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา เกิดการชักเย่อทางความคิดกันอย่างรุนแรง ระหว่างความคิดแบบเก่ากับความคิดแบบใหม่ ระหว่างฝ่ายจารีตประเพณีนิยมกับฝ่ายก้าวหน้า การปะทะกันของความคิดสองขั้ว ทับซ้อนอยู่บนความแตกต่างทางชนชั้น สุดท้ายจึงแปรเปลี่ยนเป็นสงครามเสื้อสี และการปะทะกันในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่คนรุ่นใหม่ต้องลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยเอาชนะกลุ่มจารีตประเพณีนิยมที่เกาะกุมทรัพยากรของคนทั้งประเทศไว้ในหมู่พวกพ้องของตน ริดรอนสิทธิเสรีภาพอันควรเป็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ไปจากพวกเขา อนาคตเป็นของเรา หากเราไม่ต่อสู้ ไม่ทวงคืน ก็คงไม่มีใครมาทำหน้าที่นั้นแทนเรา

[ อนาคตใหม่ - นิยามของคนรุ่นใหม่ ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า นิยามของคำว่าคนรุ่นใหม่ในความคิดของเขาไม่ใช่เรื่องอายุเพียงอย่างเดียว เพราะอายุบ่งบอกถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น คนรุ่นใหม่ในความคิดของเขาได้แก่ คนที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน คนที่เชื่อว่าอนาคตที่ดีกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และไม่ยอมชินชาต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม หากคุณคิดเช่นนี้ คุณคือคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าอายุที่แท้จริงจะเป็นเท่าไรก็ตาม

[ อนาคตใหม่ - อย่ากลัวอนาคต ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า หลายคนหันหลังให้โลกาภิวัตน์เพราะแข่งขันกับมันไม่ได้ บางคนก็หันหลังโดยหันกลับไปพึ่งรัฐ ให้รัฐปกป้องตัวเอง บางคนก็หันกลับไปหาไทยนิยม แต่งตัวแบบไทยโบราณ กลายเป็นความโหยหาอดีต แต่เขายืนยันว่าเราไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวโลกาภิวัตน์ แม้จะคงไว้ซึ่งความเป็นไทย ก็สามารถเป็นไทยที่มีความเป็นสากล ถ้าบริษัทไทยซัมมิทของเขาซึ่งขับเคลื่อนด้วยคนไทยทั้งหมดยังกลายเป็นบริษัทระดับโลกได้ เขาไม่เห็นเลยว่าทำไมเราจะต้องกลัว อย่าหวาดกลัว อย่ายอมแพ้ต่ออนาคต แล้วหันหลังกลับไปสู่อดีต เพราะการหันกลับไปหาอดีต หันกลับไปพึ่งวัฒนธรรมไทยที่เราเชื่อว่าดีงาม ไม่ช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าได้ จงเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายในสังคม แล้วเดินหน้าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เดินหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยี ใช้มันอย่างคล่องแคล่ว เอาชนะมันให้ได้ เขาบอกว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีเป็นเสมือนคลื่นยักษ์ลูกหนึ่ง ประเทศของเรามีอยู่สองทางเลือก หนึ่งคือกล้าที่จะโต้ไปกับคลื่นลูกนี้ หรือสองคือยอมแพ้และปล่อยให้ตัวเองจมน้ำลงไป จะเลือกทางไหน? ขึ้นอยู่กับเรา

[ อนาคตใหม่ - คนรุ่นใหม่กับเทคโนโลยี ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า เทคโนโลยีทำให้คนธรรมดามีอำนาจ แม้แต่การตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ปัจเจกบุคคลก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งฝ่ายค้านหรือพึ่งสื่อมวลชนเหมือนสมัยก่อน เช่น เราสามารถเข้าไปเช็กดาต้าเบสในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แล้วตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ได้ พูดอีกอย่างก็คือ ทุกวันนี้เราสามารถเป็นฝ่ายค้านเองได้ เป็นสื่อเองได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยียังเปิดโอกาสให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงตั้งแต่ระดับพรรคจนถึงระดับชาติ เช่น แต่เดิมประเทศไทยทำประชามติกันแต่ละครั้งใช้เงินเป็นพันๆ ล้านบาท ถ้าเราใช้เทคโนโลยีที่สามารถระบุตัวตนของบุคคล โดยสามารถป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อคเชนทำเช่นนั้นได้แล้ว เราจะทำประชามติกันทุกวันก็ยังได้ ภาครัฐเขียนระบบขึ้นมาครั้งเดียว ใช้งบประมาณ 100-200 ล้านบาท ก็จะทำประชามติกันได้ทุกเรื่องโดยไม่มีต้นทุนเพิ่มเติมอีก ขอเพียงระบุตัวตนของคนได้เท่านั้น อาทิ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกพรรคต้องทำไพรมารี่โหวต เทคโนโลยีก็จะช่วยให้โหวตกันออนไลน์ได้ โดยไม่ต้องเดินไปลงคะแนนที่คูหา แม้แต่เรื่องของนโยบายระดับท้องถิ่น เช่น ได้เงินมาก้อนหนึ่ง จะเอาไปสร้างฝายกั้นน้ำ หรือตัดถนนเส้นไหนดี ก็ให้ชาวบ้านโหวตกัน จะเห็นได้ว่า ยิ่งใช้เทคโนโลยี ก็จะยิ่งสามารถกระจายอำนาจ ยิ่งสร้างประชาธิปไตยทางตรงได้ดีขึ้นเท่านั้น

[ อนาคตใหม่ - อย่าสบประมาทคนต่างจังหวัด ]

▷▷ เวลาที่ธนาธร เสนอไอเดียเรื่องการให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีในเรื่องต่างๆ ก็มักมีคำถามเชิงสบประมาทตามมาเสมอว่า คนไทยจำนวนมากใช้เทคโนโลยีเป็นหรือ? คนไทยอีกมากมายเข้าถึงเทคโนโลยีแล้วจริงหรือ? ชีวิตของชาวบ้านในชนบท ไม่ได้มีแต่ปลูกผัก เลี้ยงควาย ไถนา ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ ดังภาพจำในหัวของคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก พวกเขาเข้าถึงและสามารถใช้เทคโนโลยีได้ดีไม่แพ้คนเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคมต่างหากที่ทำให้การรับรู้ของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนจนคนรากหญ้าผิดเพี้ยนไป ประเด็นนี้ มองว่ามันบอกอะไรเราบางอย่าง กล่าวคือ อะไรที่ไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีจริง เป็นแต่เพียงความคับแคบของโลกทัศน์เท่านั้นที่ทำให้เรามองเพื่อนร่วมชาติโดยขาดความเข้าใจและด้วยหัวใจที่ไม่กว้างพอ ไม่แน่ว่าเขาอาจเก่งและฉลาดกว่าที่เราคิด และอาจแซงหน้าเราไปไกลแล้วในหลายๆ เรื่อง ดังนั้นอย่าคิดว่าพวกเขาจะไม่พร้อมสำหรับการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับประชาธิปไตย อย่าสบประมาทคนต่างจังหวัดเป็นอันขาด

[ อนาคตใหม่ - เลิกคิดแบบถุงยังชีพ ]

▷▷ รัฐในสมัยเก่ามักมองประชาชนว่าไม่มีความรู้ โง่เขลา และช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้าพูดให้เห็นภาพคือ รัฐโบราณมักมองประชาชนเป็นกลุ่มคนที่ต้องการถุงยังชีพ นี่คือการที่รัฐไม่เข้าใจประชาชน อนาคตใหม่ที่ธนาธร ต้องการคือ อนาคตที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการออกแบบประเทศ และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นด้วยตัวของพวกเขาเอง นี่คือรูปแบบใหม่แห่งความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน เทคโนโลยีทำให้ความสัมพันธ์ในรูปแบบเก่าๆ พังทลายลงไป คนทุกคนมีอำนาจทางตรงมากขึ้น เป็นโลกใบใหม่ที่ทำให้สถานะของประชาชนไม่เหมือนเดิมอีก คำถามก็คือ ตัวเราพร้อมหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง ความคิดของเรายังติดกับดักแห่งอดีตอยู่หรือไม่? ธนาธรบอกว่า... "ต้องเอาชนะความหวาดกลัว ต้องเอาชนะแนวคิดอนุรักษ์นิยม แนวคิดจารีตประเพณีนิยมที่กดหัวประชาชนรุ่นใหม่ๆ ให้ได้ ต้องทำลายกำแพงทางความคิดเหล่านี้ให้ได้ แล้วคิดว่ามนุษย์เราทุกคนมีค่า มนุษย์เราทุกคนมีศักดิ์และศรี มนุษย์เราทุกคนมีความสามารถที่จะผลักดัน และที่จะใฝ่หาอนาคตของตัวเอง" จงลุกขึ้นมายืนตรงด้วยความสง่างาม อย่าหมอบราบคาบแก้วต่ออำนาจที่กดหัวเราอยู่ จงตระหนักรู้เสมอว่าเราคือประชาชนเจ้าของประเทศและอำนาจสูงสุดเป็นของเรา จงใช้ประโยชน์จากโลกที่กำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้ จงก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับเวลาที่จะอยู่ข้างเราเสมอ

[ อนาคตใหม่ - โลกาภิวัตน์ ]

▷▷ หัวข้อหนึ่งซึ่งธนาธร ไม่ว่าจะได้รับเชิญไปบรรยายที่ไหน คือเรื่องของพลังและการดำรงอยู่แห่งโลกาภิวัตน์ โลกาภิวัตน์หรือ Globalization หมายถึงการที่โลกทั้งโลกเชื่อมเข้าหากันโดยปราศจากพรมแดน ในยุคโลกาภิวัตน์ไม่มีประเทศไหนดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ด้วยความเข้มแข็ง ทุกประเทศต้องเปิดประตูออกค้าขาย คบค้าสมาคมกับชาวโลก การเปิดเสรีจึงเป็นแนวโน้มแห่งอนาคต ในยุคแห่งการเปิดเสรี พลังอำนาจของรัฐย้ายไปตั้งอยู่บนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มิใช่กำลังทหารเหมือนในอดีต ผู้นำรุ่นใหม่อย่างธนาธร จึงเน้นย้ำและกระตุ้นเตือนในประเด็นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และได้เล่าถึงมันไว้ในแง่มุมต่างๆ

[ อนาคตใหม่ - สามเส้าของโลกาภิวัตน์ ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า โลกาภิวัตน์ตั้งอยู่บนเสาหลักสามต้น คือ เสาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตัวอย่างใกล้ตัวคืออาเซียน การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนอันเป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ก็ถูกค้ำยันอยู่ด้วยเสาทั้งสามต้นนี้ หากคุณจะเข้าใจโลกาภิวัตน์ คุณต้องทำความเข้าใจเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รู้แค่เทคโนโลยียังไม่พอ แน่นอนว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้นำประเทศตามไม่ทันเทคโนโลยี ในอนาคตประชาชนจะตกงานอีกมากมาย ประเทศจะก้าวไม่ทันโลก เป็นได้เพียงผู้ตาม แต่ถ้าคุณรู้เทคโนโลยีโดยไม่เข้าใจเสาทั้งสามต้น คุณก็จะรู้ไม่เท่าทันโลกาภิวัตน์ หลักสำคัญอันเป็นแก่นของโลกาภิวัตน์ก็คือ Four Freedom of Movement หรือเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายสี่ประการ เป็นหัวใจของการเปิดเสรีทุกอย่างในโลก เสรีภาพทั้งสี่ประกอบด้วย หนึ่ง-เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของทุน สอง-เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของสินค้า สาม-เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของคน และ สี่-เสรีภาพในการเคลื่อนไหวของการบริการ คำถามคือ เวลาเราบอกว่าอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว เราหมายถึงความเป็นหนึ่งเดียวในด้านไหน? คำตอบคือด้านเศรษฐกิจ ไม่มีใครสนใจว่าคนพม่าจะฆ่ากันตายเท่าไหร่ ประเทศไหนจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ประเทศไหนจะเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่ สนใจอยู่อย่างว่าจะทำอย่างไรให้ทุน สินค้า และบริการ สามารถเคลื่อนไหวในภูมิภาคได้อย่างเสรี กฎบัตรอาเซียนระบุไว้ชัดว่า สิ่งที่เป็นสมอยึดโยงอาเซียนไว้ด้วยกันก็คือเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น เราเป็นคนกรุงเทพฯ สมมติว่าเวลาจะเดินทางเข้าเขตจังหวัดปทุมธานี เราต้องผ่านด่านตรวจ ต้องเขียนใบขออนุญาตขอผ่านแดน หรือในทางตรงข้าม ถ้าเราจะเอาลำไยจากปทุมธานีมาขายในกรุงเทพฯ แล้วเราต้องสำแดงสินค้า ต้องขออนุญาตทุกครั้ง อะไรจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเศรษฐกิจย่อมจะไม่มีประสิทธิภาพ หลักการเดียวกัน ถ้าเราเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นประเทศไทย เปลี่ยนปทุมธานีเป็นมาเลเซีย ทุกวันนี้เราจะเข้ามาเลเซีย เราต้องโดนตรวจเอกสารที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จะเอาของเข้าไปขายก็ต้องสำแดง ต้องเสียภาษี นี่คือการเคลื่อนไหวที่ยังไม่เสรี เวลาเราพูดถึงโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าที่ไหนในโลก หัวใจของมันคือการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของสินค้า บริการ ทุน และผู้คน ทั้งสี่อย่างนี้

[ อนาคตใหม่ - ใช้วัฒนธรรมแสวงหากำไร ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า ละครเกาหลีที่คนไทยติดกันงอมแงม หรือแม้แต่ BNK48 ที่เป็นกระแสในวงกว้าง จุดหมายที่แท้จริงไม่ใช่การเผยแพร่วัฒนธรรม การที่เกาหลีอยากเอาละครมาออนแอร์ในประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องของการแสวงหากำไร เขาอธิบายต่อไปว่า ของอย่างนี้มีเพียงต้นทุนในการผลิตซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ เมื่อผลิตเสร็จแล้ว ยิ่งขยายฐานผู้ชมออกไปได้มากก็ยิ่งได้กำไรมากโดยไม่ต้องใส่เงินลงไปเพิ่ม ถ้าเรามองอาเซียนโดยภาพรวม การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน แท้จริงแล้วมิใช่สาเหตุอื่นใด หากเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ค่านิยมร่วมกันของอาเซียนที่บัญญัติไว้ เอาเข้าจริงแล้วแทบไม่มีใครจำได้ เมื่อเทียบกับ EU ซึ่งยังพอมีสิ่งยึดโยงกันอยู่บ้าง สำหรับอาเซียนมีเพียงเสาเศรษฐกิจต้นเดียวเท่านั้นที่ทำหน้าที่ของมันอย่างแข็งขันหนักแน่น เทียบกับกลุ่มประเทศ EU ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเทศไหน คุณสามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นๆ ใน EU ได้เสมือนไร้เขตแดน คนสเปนไปทำงานในฝรั่งเศสได้โดยไม่ต้องขอเวิร์กเพอร์มิต คนโปรตุเกสไปทำงานในเยอรมนีได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ หรือแม้แต่คนไทยจะไปเทียวยุโรป ทำแค่เชงเก้นวีซ่าก็สามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นๆ ใน EU ได้ทั้งหมด นี่คือเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของคนโดยสมบูรณ์ เป็นจุดที่อาเซียนเราต้องไปให้ถึง ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการให้ประเทศอื่นๆ เปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม แต่ตัวเองกลับไม่ยอมเปิดเสรีสินค้าเกษตรกรรม ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นตั้งกำแพงภาษีข้าวสูงมากเพื่อปกป้องเกษตรกรของตน หากไทยจะส่งข้าวไปขายในญี่ปุ่น ต้องจ่ายภาษีบานเบอะ แต่ญี่ปุ่นเองกลับต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม ครั้น WTO เจรจาโต๊ะใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเปิดเสรีสินค้าเกษตรกรรมบ้าง จึงเกิดการเจรจาโต๊ะเล็กขึ้นในรูปแบบทวิภาคีหรือ Bilateral คุยกันเพียงสองฝ่าย สมประโยชน์กันไปเป็นคู่ๆ ประเทศอย่างไทยเราอาจจะเล็กและพลังน้อยเกินไปที่จะไปเจรจากับใครคนเดียวโดดๆ จึงต้องรวมกลุ่มกันไปกับชาติอาเซียน เช่น อาจจะเป็นการเจรจาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย หรืออาเซียนกับอินเดีย เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และหลักพื้นฐานในการเจรจาเหล่านี้ก็คือเสรีภาพแห่งการเคลื่อนย้ายสี่ประการนั่นเอง #พรรคอนาคตใหม#ไทย2เท่า #อนาคตใหม่ต้องการคุณ

[ อนาคตใหม่ - โมเดลห่านบิน ]

▷▷ โมเดลห่านบินหรือ Flying Geese Model คือการที่สินค้ากลุ่มหนึ่งถูกผลิตในประเทศหนึ่งๆ จนเกิดความอิ่มตัว จึงถูกส่งต่อไปผลิตยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยประเทศที่พัฒนามากกว่าก็จะหันไปผลิตสินค้าที่ไฮเทคกว่านั้น จนถึงจุดอิ่มตัวแล้วจึงค่อยส่งต่อให้ประเทศที่พัฒนารองๆ ลงไปเป็นผู้ผลิต เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเคยผลิตเหล็ก ก่อนจะขยับไปผลิตสิ่งทอ ปล่อยให้ประเทศอย่างไทยเป็นผู้ผลิตเหล็ก และต่อมาไทยก็ผลิตสิ่งทอบ้างธนาธรเล่าว่าสมัยที่เขาเติบโต อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็ว่าได้ แต่เมื่อค่าแรงในไทยสูงขึ้น มันจึงถูกย้ายไปผลิตในเวียดนาม ปากีสถาน ศรีลังกา และอินโดนีเซีย ทุกวันนี้เสื้อผ้าที่เราคนไทยใส่กันล้วนทำในประเทศเหล่านั้น อุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยจึงใกล้จะตาย อยู่ในช่วงตะวันตกดิน อุตสาหกรรมส่งออกอันดับสองของไทยในปัจจุบัน คือการผลิตฮาร์ดแวร์ซึ่งญี่ปุ่นเคยผลิตมาก่อน ก่อนที่แดนซามูไรจะหันไปผลิตสินค้าดิจิทัล และยกระดับไปผลิตหุ่นยนต์เป็นหลักอยู่ทุกวันนี้

วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ ฮาร์ดแวร์หรือคอมพิวเตอร์ สินค้าดิจิทัลสำหรับผู้บริโภค และหุ่นยนต์ คือลำดับขั้นของสินค้าตามโมเดลห่านบิน และเมื่อต่างคนต่างผลิต ต่างฝ่ายต่างก็แลกเปลี่ยนสินค้ากันตามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ เป็นสถานการณ์ที่มีแต่ได้กันทุกฝ่าย ทำอย่างไรให้สินค้าเหล่านี้ส่งออกนำเข้ากันได้โดยปราศจากกำแพงภาษี นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เราต้องตอบให้ได้

[ อนาคตใหม่ - การปะทะกันทางความคิดอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ]

▷▷ กำแพงเบอร์ลินพังทลาย สหภาพโซเวียตล่มสลาย เติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศออกค้าขายกับชาวโลก ทั้งสามเหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ในโลกทุกวันนี้เกือบทุกประเทศได้นำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจของตนเองจากการผลักดันขององค์กรโลกต่างๆ อย่างเช่น WTO, World Bank หรือ IMF องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ล้วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสรีด้วยหลักเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทั้งสี่อันเป็นแนวคิดเบื้องหลังโลกาภิวัตน์ที่ถูกใช้พัฒนาโลกในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ปัญหาคือไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดอย่างนั้น ในหลายๆ ประเทศมีการรวมตัวของประชาชนเพื่อต่อต้านองค์กรกลางตามกระบวนการโลกาภิวัตน์ เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่ม Campesinos ในเม็กซิโกเพื่อต่อต้าน NAFTA หรือข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ อันส่งผลกระทบต่อเกษตรรายย่อยในท้องถิ่น ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมหาศาล หรือการเคลื่อนไหวต่อต้าน WTO เพราะไม่เห็นด้วยกับการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างเสรี โดยมองว่าประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากทุนขนาดใหญ่ เหล่านี้คือการปะทะกันทางความคิดอันเกิดขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์ทั้งสิ้น

[ อนาคตใหม่ - โลกาภิวัตน์กับอุตสาหกรรมยา ]

▷▷ กรณีของสิทธิบัตรยา คุณธนาธรบอกว่า โดยปกติแล้วในการทำ R&D เพื่อคิดค้นตัวอย่างใหม่ๆ ขึ้นมา บริษัทยาต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ใช้กระแสเงินสดเยอะมาก ต้องทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก ครั้นคิดค้นสำเร็จแล้ว บริษัทยาจึงนำตัวยาใหม่ออกขาย โดยคิดอัตรากำไรค่อนข้างสูง แม้ต้นทุนการผลิตจะต่ำมาก เพราะบริษัทต้องการกำไรเพื่อนำไปชดเชยเงินลงทุนจากการวิจัยและพัฒนาตัวยานั้นๆ เมื่อถูกเรียกร้องให้ลดราคา บริษัทยายักษ์ใหญ่ก็จะอ้างว่า ถ้าให้พวกเขาขายยาถูกๆ คิดกำไรน้อยๆ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุนคิดค้นยาตัวต่อไปเล่า

แต่แล้วก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า Compulsory Licensing หรือ CL ภาษาไทยคือ 'การบังคับสิทธิตามสิทธิบัตร' ขึ้นมา เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ผลิตหรือจำหน่ายยาที่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรได้หากมีความจำเป็น แต่ต้องไม่ใช่เพื่อการค้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจสักนิดหนึ่ง CL เป็นไปตามปฏิญญาโดฮา ตามข้อตกลง TRIPS (The Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ภายใต้ WTO ที่ให้อำนาจแก่ประเทศสมาชิกของ WTO ในการผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร หากเกิดความจำเป็นเร่งด่วนหรือเกิดวิกฤตสาธารณสุขขึ้นในประเทศ โดยทำไปเพื่อสาธารณะและไม่ใช่เพื่อการค้า ดังได้กล่าวไปแล้ว

ในประเทศไทยมีการประกาศใช้ CL ครั้งแรกเมื่อปี 2549 กับยา 3 ตัว และประกาศใช้อีกครั้งเมื่อปี 2551 กับกลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง 4 ตัว จนทำให้บริษัทยาต่างประเทศบริษัทหนึ่งไม่พอใจ และตอบโต้ด้วยการถอนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ 10 ชนิด ส่งผลให้ตัวยาเหล่านั้นหาไม่ได้ในไทย นี่คืออีกตัวอย่างที่ธนาธรบอกว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างความคิดที่ขัดแย้งอันเป็นผลสืบเนื่องจากโลกาภิวัตน์ เป็นการปะทะกันระหว่างโลกาภิวัตน์กับฝ่ายต้านโลกาภิวัตน์

[ อนาคตใหม่ - Occupy Wall Street ]

▷▷ ในปี 2009 ที่สหรัฐอเมริกา ณ ใจกลางมหานครนิวยอร์กได้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบเศรษฐกิจเสรีที่เรียกว่า Occupy Wall Street ด้วยแนวคิดหลักคือ เศรษฐกิจทุนนิยมดังที่เป็นอยู่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ และเอาเปรียบคนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ในประเทศ นี่คือทางสองแพร่งแห่งโลกาภิวัตน์อันเกิดขึ้นแล้วทั่วโลก กลับมาที่ประเทศไทย หากย้อนไปดูเหตุการณ์ 14 ตุลา จะเห็นได้ว่ามีผู้คนในประเทศนี้มากมายที่พยายามต่อสู้และผลักดันเพื่อให้หลักสิทธิมนุษยชนสากลหยั่งรากลึกในสังคม แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หลังประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1776 ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นร้อยปีกว่าจะเลิกทาสได้ และใช้เวลาอีกร้อยปีหลังเลิกทาสเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเก่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้และฝ่าฟันเพื่อให้ได้มา

[ อนาคตใหม่ - ขาสองข้าง ]

▷▷ โลกสมัยใหม่นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีขาสองข้างค้ำยันไว้ ขาทั้งสองข้าง ได้แก่ การตลาดแบบแข่งขันและการรับรองสิทธิมนุษยชนสากล อันเป็นหลักสองประการของนานาอารยประเทศหลังยุคสงคราม โดยทั้งสองขาได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่ทุกวันนี้ขาทั้งสองข้างกำลังถูกบ่อนทำลายจากคนรุ่นใหม่ในหลากหลายประเทศที่กำลังต่อต้านลัทธิพหุนิยม อันเป็นหลักการที่เชื่อว่าคนทั้งโลกล้วนเท่าเทียมกัน โดยดึงเอาลัทธิที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันให้กลับคืนมาใหม่ อย่างลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธิเช่นนี้คือการมองคนเชื้อชาติอื่น สีผิวอื่น เป็นศัตรู สร้างความเกลียดชัง

ผู้นำประเทศจำนวนหนึ่งใช้วาทกรรมแบบชาตินิยมปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อครอบงำคนในชาติและโน้มน้าวให้คนในชาติเห็นว่าคนต่างชาติพันธุ์ ต่างสีผิว คือศัตรูของประเทศ หากย้อนไปศึกษาอดีต ความคิดแบบนี้แหละที่ก่อให้เกิดสงคราม สงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดขึ้นด้วยความคิดเช่นนี้ จากการปลุกปั่นให้คนที่มีเชื้อสายอารยันเกลียดคนยิว ลงเอยด้วยการที่คนเชื้อสายยิวถูกสังหารไปหลายล้านชีวิต ในเมืองไทยเองก็มีความคิดเช่นนี้ โดยมองว่ามนุษย์ไม่ได้เท่ากัน มีบางชาติพันธุ์ที่สูงส่งกว่าชาติพันธุ์อื่น จึงสมควรแล้วที่จะทำลายชาติพันธุ์อื่น หรือเห็นแก่ประโยชน์ของชาติพันธุ์ตัวเองมากกว่าชาติพันธุ์อื่น หลายครั้งหลายหนที่วาทกรรมเช่นนี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อปกป้องสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มตน หรือเพื่อปกป้องฐานอำนาจของพวกตน

[ อนาคตใหม่ - มองอนาคต ]

▷▷ แง่มุมหนึ่งซึ่งธนาธรโดดเด่นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ คือ วิสัยทัศน์ ความคิดความอ่านอันก้าวหน้า ทันกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของโลก และสายตาที่มุ่งตรงไปยังอนาคตของเขา เพราะการจะก้าวให้ทันโลกไม่อาจทำได้ด้วยการโหยหาอดีต แต่งชุดไทย พูดจากันด้วยสรรพนามออเจ้า หรืออ่านหนังสือจินดามณี แต่คือการเอาเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ไม่แน่ว่าประเทศไทยซึ่งเคยถูกขับเคลื่อนด้วยคนยุคเก่าอาจกำลังโหยหาสิ่งนี้

[ มองอนาคต - การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า ภายในยี่สิบปีสิ่งของที่อยู่บนโลกนี้จะถูกควบคุมด้วยอัลกอริทึมทั้งหมด และทุกๆ สองปี ความเข้มข้นของการประมวลผลจะเร็วขึ้นสองเท่า ดังนั้นอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะสูงกว่านี้อีก เขาเล่าว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย รุ่นของเขาเป็นรุ่นแรกๆ ที่มีแลปท็อป ใครถือแลปท็อปไปมหาวิทยาลัยถือว่าเท่มาก สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีอินเทอร์เน็ตใช้เลยด้วยซ้ำ ถ้าจะใช้ก็ต้องต่อสายแลน ไม่ใช่ไฮสปีดเหมือนทุกวันนี้ ทว่าผ่านมายี่สิบปี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยทำในแลปท็อปหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ กลับทำในโทรศัพท์มือถือได้ทั้งหมด เขาสรุปบทเรียนจากเรื่องนี้เอาไว้ว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ปรับตัวเตรียมรับเทคโนโลยีที่จะถาโถมเข้ามา ตัวเราจะถูกแซงโดยสังคมที่พร้อมรับการเข้ามาของเทคโนโลยี และเปิดรับโ,กาภิวัตน์มากกว่า นี่จึงเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศไทยในขณะนี้ที่หลายคนอาจยังประเมินมันต่ำเกินไป

[ มองอนาคต - สั่งคอมพิวเตอร์ให้ทำงาน ]

▷▷ ธนาธรบอกว่า เด็กไทยในอีก 10-20 ปีข้างหน้า หากจะหางาน จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งการแข่งขัน รู้แค่สองภาษาคือภาษาไทยกับภาษาอังกฤษยังไม่พอ ต้องรู้ภาษาที่สาม คือภาษาเขียนโค้ดด้วย เพราะในอนาคต ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกสั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเงิน ค้าปลีก การคมนาคม ตลอดจนอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนต้องใช้คอมพิวเตอร์สั่งการทั้งสิ้น ดังนั้นตัวเราจึงต้องเป็นนายของคอมพิวเตอร์ คือเป็นผู้เขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ใช้สั่งการอีกทีหนึ่ง

[ มองอนาคต - กับดักรายได้ปานกลาง ]

▷▷ กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เป็นกับดักขนาดใหญ่ที่ประเทศจำนวนมากติดอยู่ และเป็นเรื่องยากมากที่ประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries) จะหลุดออกจากกับดักนี้ โดยก้าวข้ามการมีรายได้ในระดับปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศที่สามารถทำได้ก็อย่างเช่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ที่ระดับ upper-middle income คือรายได้ปานกลาง-สูง คำถามคือ ทำอย่างไรประเทศเราจึงจะหลุดออกจากกับดักนี้ และกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชาชนมีรายได้สูงได้ คำตอบของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คือ "ต้องเขียนโค้ดให้เป็น"

[ มองอนาคต - เขียนโค้ดให้เป็น ]

▷▷ ธนาธรย้ำว่า ทุกอย่างในอนาคตจะขึ้นอยู่กับอัลกอรอทึม โดยอาชีพที่เป็นตัวกลางทั้งหมดจะถูกทำลายและถูกทดแทนด้วยกลุ่มคนที่สามารถบังคับเทคโนโลยีได้ ซึ่งการจะบังคับเทคโนโลยีได้ คุณต้องเขียนโค้ดเป็น พ่อแม่ธนาธรสอนว่า การจะเอาตัวรอดในยุคของเขาต้องเป็นอย่างน้อยสามภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ คำว่าภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ก็คือการเขียนโค้ด เด็กไทยต้องเขียนโค้ดเป็นจึงจะนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง หากเขียนโค้ดไม่เป็น คุณจะเป็นเพียง User ซึ่งไม่สามารถช่วยให้ไทยกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทุกวันนี้ในประเทศอังกฤษมีการสอน Coding ในหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กตั้งแต่อายุ 5 ขวบ นี่คือเรื่องจริง ธนาธรย้อนถึงสมัยที่รัฐบาลในอดีตมีนโยบายแจกแทบเล็ตแก่เด็กทุกคน แต่ในปัจจุบันประเทศอังกฤษมีการแจกเซอร์กิตที่มีโปรแกรมเบื้องต้นให้เด็กเอาไปฝึกเขียนโค้ด และไม่ใช่ภาษาเดียว เด็กอายุ 11-14 ปี ต้องเขียนได้ 2 ภาษา เช่น ภาษาซี และก้าวล้ำไปถึงภาษาปาสคาล การเขียนโค้ดจึงเป็นความรู้เพื่ออนาคตอย่างแท้จริง และการจะดึงให้ประเทศหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลางก็ต้องส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เขียนโค้ดเป็น นี่คือสิ่งที่ต้องเริ่มจัดการตั้งแต่วันนี้!

[ มองอนาคต - เรียนวรรณกรรมจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ]

▷▷ เมื่อครั้งที่ธนาธรไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษายกมือขึ้นถามว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปขนาดนี้ คนที่เรียนสายประวัติศาสตร์ ปรัชญาวรรรกรรม จะเอาตัวรอดในสังคมยุคนี้ได้อย่างไร ธนาธรได้ยินดังนั้น ก็สอนรุ่นน้องว่า การมีเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้ผลิตคอนเทนต์ของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อดั้งเดิม สมัยนี้ทุกคนสามารถเผยแพร่คอนเทนต์ได้ง่ายๆ ด้วยการเขียนลงเฟซบุ๊ก โดยไม่ต้องพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ซึ่งทำให้คอนเทนต์ไปได้ไกล และ Far-Reaching คือเข้าถึงคนได้มากยิ่งกว่าเดิม หากคุณผลิตคอนเทนต์เก่ง คุณจะมีช่องทางในการทำมาหากินได้อีกเยอะ และสามารถใช้ช่องทางใหม่ๆ เหล่านี้เสนอวาระแก่สังคมได้อีกด้วย

 


bottom of page