top of page

ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลก (E = mc2: A Biography of the World's Most Famous Equation)


หนังสือชุด World Science Series

ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลก

แปลจาก E = mc2: A Biography of the World's Most Famous Equation (2000)

เขียนโดย David Bonanis แปลโดย ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2555 จำนวน 456 หน้า ปกอ่อน ISBN: 9789740209164

เรียนรู้วิวัฒนาการและเข้าใจสมการที่ยิ่งใหญ่ผ่านหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

คำนำสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์หนังสือวิทยาศาสตร์คุณภาพจากต่างประเทศมาแล้วหลายเล่ม ผู้ติดตามอ่านคงทราบดีว่าหนังสือแทบทุกเล่มกล่าวอ้างอิงถึงสมการ E = mc2 นั่นเพราะ E = mc2 ได้เปลี่ยนโฉมหน้าองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์และมีส่วนสำคัญยิ่งในการผลักดันให้โลกหมุนไปข้างหน้าเร็วขึ้น สำนักพิมพ์จึงเล็งเห็นความสำคัญของการตีพิมพ์หนังสือที่อธิบายถึงสมการทรงอิทธิพลนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้อันจะเป็นรากฐานซึ่งจะช่วยต่อยอดการศึกษาหรือการแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับโลกและจักรวาลที่เราอาศัยอยู่

เดวิด โบดานิส (David Bonanis) อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ทางความคิดประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ผู้เขียน E = mc2 ชีวประวัติสมการปฏิวัติโลกที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ E = mc2 ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายด้วยการผูกความหมายของสมการนี้เข้ากับบริบททางประวัติศาสตร์ จึงเกิดเป็นชีวประวัติของสมการ E = mc2 ซึ่งจะนำท่านสำรวจภูมิหลังของสมการนี้ รวมถึงบทบาทของสมการต่อการกำเนิดของความรู้ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ บุคคลสำคัญในหนังสือไม่ได้เน้นเฉพาะอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein: 1879-1955) ผู้ค้นพบ E = mc2 แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หลายคนผู้มีส่วนช่วยให้เกิดการคิดค้น ไม่ว่าจะเป็นอองตวน ลาวัวซิเยร์ (Antoine-Laurent de Lavoisier: 1743-1794) แมรี่ คูรี่ (Marie Skłodowska Curie: 1867-1934) อ๊อตโต้ ฮาห์น (Otto Hahn: 1879-1968) ฯลฯ

ด้วยสำนวนเขียนที่เรียบง่าย ประกอบกับเกร็ดประวัติศาสตร์ซึ่งถ่ายทอดออกมาในรูปแบบบทสนทนาและจดหมาย ทำให้ E = mc2 เล่มนี้เป็นเรื่องสนุกสนาน และไม่ใช่เรื่องเข้าใจไม่ได้อีกต่อไป

คำนำผู้แปล

เกือบสิบเอ็ดปีที่แล้วในร้านหนังสือแห่งหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ผมไม่ลังเลเลยที่จะซื้อหนังสือที่มีชื่อบนหน้าปกว่า E = mc2 พร้อมกับใบหน้าของไอน์สไตน์ และชื่อรองที่บอกว่าเป็นชีวประวัติของสมการที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก (A Biography of the World's Most Famous Equation) ตอนนั้นในใจก็คิดว่าคราวนี้ละจะได้อ่านให้รู้กันไปเสียทีว่าสมการนี้มันหมายถึงอะไรกันแน่? และคิดว่าหลายๆ คนก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันกับผม หนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับสมการนี้มีอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ผมต้องการคือการอธิบายในลักษณะที่เดวิด โบดานิสได้ทำต่างหาก ซึ่งไม่ค่อยจะมีให้อ่านมากนัก ดังนั้นผมจึงอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรกและเข้าใจว่าเหตุใดสมการ E = mc2 ถึงมีความสำคัญนักหนาต่อชีวิตของเรา มันเป็นเหมือนบทสรุปของธรรมชาติที่บอกกับเราว่าสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้นมันเป็นได้ทั้งสิ่งที่มีคุณอนันต์และโทษมหันต์ไปพร้อมๆ กัน

เป็นเวลากว่าแปดปีที่ผมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกฎทรงมวลและกฎทรงพลังงานให้กับนักศึกษาในชั้นเรียน แต่ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะได้อธิบายให้นักศึกษาฟังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมวลและพลังงานในสมการของไอน์สไตน์ ประโยคที่ผมบอกกับนักศึกษาก็คือ ในชีวิตประจำวันของเรา เราไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจกับสมการนี้หรอก เพราะเราอยู่ในโลกของสิ่งของขนาดใหญ่ มวลก็จะยังคงถูกอนุรักษ์ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญหายไปไหน และไม่เกิดขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับพลังงานซึ่งก็มีกฎการอนุรักษ์ของมันเอง แค่กฎสองข้อนี้ก็เพียงพอแล้วที่นักศึกษาจะนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายในสายอาชีพของพวกเขา แต่หลังจากผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ผมรู้สึกว่าสมการที่เป็นดังสะพานเชื่อมกฎสองข้อนั้น หรือที่ในหนังสืออธิบายว่าเป็นดังการเชื่อมอาณาจักรสองอาณาจักรเข้าด้วยกัน เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กฎสองข้อนั้นเลยทีเดียว และด้วยเหตุผลดังกล่าวผมจึงเสนอทางสำนักพิมพ์มติชนเพื่อขอแปลหนังสือเล่มนี้

ในปัจจุบันคำว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่คำที่แปลกสำหรับพวกเราอีกต่อไป ประเทศไทยอาจจะมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต แล้วเมื่อนั้นมันก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราไปด้วย สิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นภายในอะตอมก็จะกลายเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้เอาไว้ หากไม่นับเอาการระเบิดอย่างต่อเนื่องในดวงอาทิตย์ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วการอธิบายปฏิกิริยานิวเคลียร์เหล่านั้นจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงสมการ E = mc2 ได้อย่างไร หลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็ตัดสินใจแล้วว่าหากต้องสอนนักศึกษาเกี่ยวกับกฎทรงมวลและกฎทรงพลังงานครั้งต่อไป ผมจะพูดถึงสมการที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกสมการนี้ด้วย นอกจากนี้ผมยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกพจน์ของสมการเพื่อเล่าให้นักศึกษาฟังอีกด้วย

เดวิด โบดานิสเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาในลักษณะเป็นลูกผสมของหนังสือวิชาการ หนังสือนวนิยาย และหนังสือปรัชญา ผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ของมวลและพลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิสิกส์ของการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์และประโยชน์ของมัน ได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์มากหน้าหลายตา นอกจากนี้ผู้อ่านยังจะได้รับรู้เรื่องราวโรแมนติกของวอลแตร์ (Voltaire หรือ François-Marie Arouet: 1694-1778) และลาวัวซิเยร์ ความขมขื่นของฟาราเดย์ (Michael Faraday: 1791-1867) ความเจ็บปวดของไมต์เนอร์ (Lise Meitner: 1878-1968) และความอดทนของเพน (Cecilia Helena Payne-Gaposchkin: 1900-1979) รวมถึงเรื่องการวางแผนทำลายฝ่ายศัตรูของประเทศฝ่ายต่างๆ ในช่วงสงคราม นอกจากปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนได้อธิบายอย่างชัดเจนในหนังสือเล่มนี้แล้ว เขายังได้แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ทางเชื้อชาติที่เยอรมนีมีต่อชาวยิวในช่วงสงครามโลก ความไม่ยุติธรรมเช่นนี้เองที่ทำให้ไอน์สไตน์ได้รับผลกระทบ แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเขา เขาได้ใช้ความรักในความยุติธรรมของตนเองตรวจสอบเรื่องมวลและพลังงาน และพบว่าทั้งสองต่างเท่าเทียมกัน มิได้มีอะไรสำคัญไปกว่าอะไร เพราะทั้งสองต่างเปลี่ยนรูปแบบไปมาระหว่างกันได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการถือกำเนิดของเอกภพและกำเนิดของโลกที่ผู้อ่านจะได้รับทราบในตอนบั้นปลายของชีวประวัติของสมการนี้

สมการ E = mc2 ไม่ใช่เป็นแค่เพียงสมการคณิตศาสตร์สมการหนึ่ง หากแต่เป็นสมการที่อธิบายความเป็นจริงบางประการในธรรมชาติ และแน่นอนเป็นสมการที่เปลี่ยนกรอบความคิดของนักวิทยาศาสตร์จากโลกของสิ่งของขนาดใหญ่ไปสู่โลกของอนุภาคขนาดเล็กกว่าอะตอม ดังที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า "จงมองให้ลึก ลึกลงไปในธรรมชาติ แล้วเราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น" นับเป็นโชคดีของผมที่วันนั้นในร้านหนังสือผมเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้เข้า จึงได้อ่านงานเขียนดีๆ ที่ถ่ายทอดความรู้ยากๆ ออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และโชคดีอีกเช่นเดียวกันที่ผมได้มีโอกาสแปลงานเขียนดีๆ เช่นนี้

คำนำโดยไซมอน ซิงห์ (Simon Lehna Singh)

ปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์

ใช่ว่านักฟิสิกส์ทุกคนจะมีปีมหัศจรรย์ (annus mirabilis) ของตนเอง แท้จริงแล้วที่ผ่านมามีปีมหัศจรรย์เพียงสองครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ และไอน์สไตน์ก็เป็นหนึ่งในสองคนที่ได้มีประสบการณ์เช่นนั้นในปี 1905 แต่อะไรที่เป็นตัวกำหนดว่ามันเป็นมหัศจรรย์? ไอน์สไตน์ได้ทำอะไรกันแน่ที่บ่งบอกถึงความมหัศจรรย์? และเพราะเหตุใดสมการ E = mc2 จึงได้เป็นมรดกตกทอดอันมีชื่อเสียงที่สุดของไอน์สไตน์ในปี 1905?

คำว่าปีมหัศจรรย์นั้นแรกเริ่มเดิมทีเป็นชื่อของบทกวีที่ประพันธ์ขึ้นโดยจอห์น ดรายเด็น (John Dryden: 1631-1700) เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นซึ่งเกิดขึ้นในปี 1666 อันได้แก่ ความยากลำบากของลอนดอนในการผ่านวิกฤตเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ การฟื้นตัวของอังกฤษภายหลังจากโรคระบาดครั้งใหญ่ และชัยชนะของกองทัพอังกฤษเหนือดัตช์ (Dutch, Nederlands) อย่างไรก็ตามในไม่ช้านักวิทยาศาสตร์ก็นำเอาคำนี้มาใช้อธิบายปีด้วยเหตุผลที่แตกต่างออกไป นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นกันว่าการค้นพบของไอแซค นิวตัน (Isaac Newton: 1643-1727) เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างแท้จริงในปี 1666 ปีมหัศจรรย์ของเขา รวมเอาความก้าวหน้าที่สำคัญยิ่งในวิชาแคลคูลัส (calculus) ธรรมชาติของแสง และที่โด่งดังที่สุดก็คือแรงโน้มถ่วง สิ่งเหล่านี้เป็นการค้นพบที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของวิทยาศาสตร์ ทำให้นักฟิสิกส์สามารถสำรวจเอกภพด้วยความเชื่อมั่นครั้งใหม่ นิวตันรวมคณิตศาสตร์ ทฤษฎี และการทดลองเข้าด้วยกันเพื่อทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจในกฎแห่งธรรมชาติลึกซึ้งยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าไม่มีอะไรจะมาเทียบกับปีมหัศจรรย์ของนิวตันได้อีกแล้ว แต่ในปี 1905 เกิดประจักษ์พยานสำหรับบทความวิชาการอันยอดเยี่ยมหลายฉบับที่เขียนขึ้นโดยไอน์สไตน์ซึ่งเปลี่ยนฟิสิกส์ในยุคคลาสสิกของนิวตันให้เข้าสู่ยุคของฟิสิกส์สมัยใหม่ งานวิจัยของไอน์ไสต์เขย่ารากฐานของสาขาฟิสิกส์เสียแล้ว

ในบทความหนึ่ง ไอน์สไตน์วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการเคลื่อนที่แบบบราวเนียน (Brownian motion) และแสดงข้อโต้แย้งอันชาญฉลาดเพื่อสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าสสารประกอบไปด้วยอะตอมและโมเลกุล นักฟิสิกส์รู้สึกสงสัยอยู่แล้วในใจว่าอะตอมเป็นหัวใจของสสาร แต่ไอน์สไตน์นั่นเองที่เป็นผู้พิสูจน์ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในบทความอีกชิ้นหนึ่งเขาแสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่เรียกว่าผลของโฟโตอิเล็กทริก (photoelectric effect) สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์โดยใช้ทฤษฎีที่เพิ่งจะพัฒนาขึ้นมาใหม่ของควอนตัมฟิสิกส์ ไม่น่าประหลาดใจที่บทความนี้ทำให้ไอน์สไตน์ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize)

บทความชิ้นที่สามยิ่งแสดงความชาญฉลาดมากขึ้นไปอีก มันสรุปแนวคิดของไอน์ไสตน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเกี่ยวกับความเร็วของแสงและความสำคัญของมันในเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของอวกาศและเวลา ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษสร้างกรอบสำหรับฟิสิกส์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ผลกระทบของมันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก แม้แต่ตัวไอน์สไตน์เองก็ยังรู้สึกสั่นสะท้านในขณะที่เขาดำเนินการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบพิเศษนี้ เขาเป็นเพียงแค่ชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีอายุยังไม่ถึง 26 ปีดี และประสบกับช่วงเวลาที่มีความสับสนในตนเองในขณะที่เขาพัฒนาทฤษฎีนี้ "ผมต้องสารภาพว่าตอนเริ่มแรกเลยนั้น เมื่อทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษเริ่มก่อตัวขึ้นในความคิดของผม ผมพบข้อขัดแย้งที่น่าหงุดหงิดทั้งหลาย เมื่อตอนยังเด็ก ผมเคยหนีหายไปเป็นสัปดาห์เพราะความสับสน เหมือนกับตอนที่ใครสักคนยังไม่สามารถเอาชนะความงุนงงเมื่อแรกพบกับสมการแบบนั้น"

ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์เป็นเรื่องประหลาดเพราะอ้างถึงความเร็วของแสง ความยืดหยุ่นของอวกาศ และความยืดหยุ่นของเวลาไว้อย่างเหลือเชื่อ อย่างไรก็ตาม มุมมองด้านหนึ่งของทฤษฎีนี้ก็เป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ซึ่งเรียกกันว่าสมการ E = mc2 ทำไมสมการเฉพาะนี้จึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้?

ส่วนที่เหลือของหนังสือเล่มนี้จะอธิบายถึงหลักการทางฟิสิกส์ของสมการดังกล่าว ดังนั้นผมจะพยายามอธิบายถึงความมีชื่อเสียงโดยมุ่งไปที่ความสวยงามของมัน กล่าวโดยสรุป ผมจะกล่าวว่า E = mc2 เป็นที่รู้จักก็เพราะว่ามันมีความสวยงามเหลือเกิน ซึ่งใครๆ ที่รู้ถึงความหมายและความสำคัญสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ความสวยงามเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์มักจะพูดถึงเสมอโดยมองถึงความสัมพันธ์กับงานของตนเอง และพวกเขาทุกคนจะยอมรับในความสวยงามเมื่อได้พบเห็นมัน แต่มันเป็นสิ่งซึ่งนิยามได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม เมื่อผมพยายามจะค้นหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามของสมการ E = mc2 ผมก็ได้พบกับความน่าสนใจของเรื่อง

เรื่องแรก สมการนี้ดูน่าตกใจมากอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อตอนที่เราอยู่โรงเรียน เราถูกบอกว่ามวลสารไม่สามารถถูกสร้างหรือทำลายหายไปได้ และหลักการเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับพลังงานนด้วยเช่นกัน เรายังสามารถเห็นได้ด้วยตนเองว่ามวลกับพลังงานเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่สมการ E = mc2 บอกเราว่าพลังงาน (E) และมวล (m) มีความเท่าเทียมกัน และสามารถแปลงกลับไปกลับมาได้ในลักษณะที่พลังงานสามารถถูกทำลายและมวลสารสามารถถูกสร้างขึ้นมาใหม่ หรือในทางตรงกันข้าม

สิ่งที่มาพร้อมกับความน่าตื่นตะลึงของสมการก็คือความง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อของมัน สมการ E = mc2 ไม่ได้เป็นสมการที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายอินทิกรัล เศษส่วน สัญลักษณ์ภาษากรีกเป็นโหลๆ และแถวของจำนวนที่มีหลายตำแหน่ง แท้จริงแล้วมันเขียนขึ้นมาโดยมีแค่เพียงพลังงานในด้านหนึ่งและมวลในอีกด้านหนึ่ง พร้อมด้วยตัวแปลงค่า (c2) ที่โยนใส่เข้าไปเพื่ออธิบายอัตราของการเปลี่ยนพลังงานและมวลไปมาระหว่างกัน สมการ E = mc2 มีความสวยงามเพราะว่ามันเรียบง่ายอย่างน่าตกใจ

ความเห็นคล้ายๆ กันเกี่ยวกับความสวยงามนี้มาจากเกรแฮม ฟาร์มีโล (Graham Farmelo) บรรณาธิการหนังสือชื่อว่า It Must Be Beautiful ที่สืบเสาะหาความหมายของคำว่าสวยงามในสมการทางวิทยาศาสตร์ ในบทนำ เขาแสดงความคิดซึ่งมีส่วนสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสวยงามของสมการ E = mc2 สมการที่ยอดเยี่ยมเฉกเช่นเดียวกับบทกวีที่สวยงามต่างก็มีพลังเหนือธรรมดา บทกวีเป็นรูปแบบของภาษาที่สั้นที่สุดที่สร้างแรงกระตุ้นอย่างมากได้ เช่นเดียวกับสมการทางวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมเป็นรูปแบบของความเข้าใจในความจริงทางกายภาพที่สมการนั้นอธิบายได้อย่างสั้นที่สุด แน่นอนว่าไม่มีตัวอย่างสมการอื่นใดที่มีเพียงห้าตัวอักษรที่อธิบายความเข้าใจอันน่าทึ่งและลึกซึ้งของธรรมชาติของเอกภพอีกแล้ว สมการ E = mc2 มีพลังดังบทกวีและมีความสวยงามจริงๆ และหากนักฟิสิกส์ พอล ดิแรก (Paul Adrien Maurice Dirac: 1902-1984) กล่าวไว้ถูกต้องแล้ว สมการ E = mc2 ก็จะดียิ่งกว่าบทกวีที่ดีที่สุดเสียอีก เพราะในวิทยาศาสตร์ บางคนพยายามจะบอกกับคนอื่นเพื่อที่จะให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันในบางสิ่งที่ไม่เคยมีคนรู้มาก่อน แต่ในบทกวีนั้นมันกลับตรงกันข้าม

[con·tin·ue]

บทนำ (Preface)

ส่วนที่ 1: จุดกำเนิด (Birth)

บทที่ 1: สำนักงานจดสิทธิบัตร กรุงเบิร์น ปี 1905 (Bern Patent Office, 1905)

ส่วนที่ 2: บรรพบุรุษของ E = mc2 (Ancestors of E = mc2)

บทที่ 2: E คือพลังงาน (E is for Energy)

บทที่ 3: เครื่องหมาย = (=)

บทที่ 4: m คือมวล (m is for Mass)

บทที่ 5: c คือความเร็วแสง (c is for Celeritas)

บทที่ 6: ยกกำลัง 2 (^2)

ส่วนที่ 3: สมัยเยาว์วัย (The Early Years)

บทที่ 7: ไอน์สไตน์และสมการ (Einstein and the Equation)

บทที่ 8: ลึกเข้าไปในอะตอม (Into the Atom)

บทที่ 9: ความสงบท่ามกลางหิมะตอนกลางวัน (Quiet in the Midday Snow)

ส่วนที่ 4: สมการในวัยผู้ใหญ่ (Adulthood)

บทที่ 10: เป็นทีของเยอรมนี (Germany's Turn)

บทที่ 11: นอร์เวย์ (Norway)

บทที่ 12: ถึงทีของอเมริกาบ้างละ (America's Turn)

บทที่ 13: แปดโมงเช้าสิบหกนาทีเหนือประเทศญี่ปุ่น (8:16 A.M. - Over Japan)

ส่วนที่ 5: จวบจนกัลปาวสาน (Till the End of Time)

บทที่ 14: เปลวเพลิงแห่งดวงอาทิตย์ (The Fires of the Sun)

บทที่ 15: กำเนิดโลก (Creating the Earth)

บทที่ 16: พราหมณ์ผู้ลืมตามองไปยังท้องฟ้า (A Brahmin Lifts His Eyes Unto the Sky)

บทส่งท้าย: ไอน์สไตน์ทำอะไรอีกบ้าง (Epiloque: What Else Einstein Did)

ภาคผนวก: ตามติดคนสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Appendix: Follow-Up of Other Key Participants)

ข้อสังเกต (Notes)

คำแนะนำสำหรับอ่านเพิ่มเติม (Guide to Further Reading)

 

"Reading make a full man, conference a ready man, and writing an exact man. การอ่านทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ การเสวนาทำให้เป็นคนที่พร้อม และการเขียนทำให้เป็นคนที่เที่ยงตรง" - Francis Bacon (1561-1626)

Reading & Working: ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้! ยิ่งทำงานก็ยิ่งเก่ง! หนังสือแปลคัดสรรบนชั้นหนังสือส่วนตัว Beautiful Quietness: เงียบแต่ไม่เหงา! ดินแดนแห่งการอ่านและพื้นที่ทางความคิด โลกของนักอ่านและพรมแดนแห่งความรู้ การอ่านสะท้อนความคิด ความคิดสะท้อนตัวตน ตัวตนสะท้อนจิตวิญญาณ Changing Lives, One Book at a Time ห้องสมุดมีชีวิต ...ชีวิตดีๆ ทีละเล่ม อ่านเถิดชาวไทย! การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ [อากาศ อาหาร การอ่าน] If you don't like to read, you haven't found the right book. Readers of the World. pruetsara.wixsite.com

 

Comments


bottom of page